วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

มะละกอ (9) เทคนิคการปลูกมะละกอ

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554


ตอนกิ่งมะละกอ ง่ายนิดเดียว

การตอนกิ่งมะละกอ
ในการปลูกมะละกอ  เกษตรกรส่วนใหญ่จะซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอที่มีคุณภาพดีจากท้องตลาดมาปลูก โดยวิธีการเพาะเมล็ด แต่หลังจากที่ได้ผลผลิตรุ่นแรกแล้ว เกษตรกรจะไม่สามารถนำเมล็ดจากมะละกอที่ปลูกได้ในรุ่นแรกมาขยายพันธุ์ต่อได้ เนื่องจากทางบริษัทที่เราไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาได้ควบคุมไม่ให้ขยายพันธุ์ได้นั่นเอง หากเกษตรกรจะทำการปลูกใหม่จำต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่มาปลูก ดังนั้น  คุณคำนึง นวลมณีย์ และโรงเรียนบ้านหว้าหลัง จึงได้คิดค้นหาวิธีการ ทำให้มะละกอขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องใช้เมล็ดโดยการตอนกิ่ง ซึ่งมะละกอที่ได้จากการตอนกิ่งจะมีลักษณะดังนี้ - มะละกอที่ได้จะมีขนาดลำต้นที่เตี้ย - มะละกอจะไม่กลายพันธุ์ - ลักษณะของเนื้อและผลของมะละกอจะมีรสชาติคงเดิม

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่งมะละกอ
1.ดินร่วน 
2.ขุยมะพร้าว 
3.ยางหรือเชือกฟาง 
4.มีด 
5.ถุงพลาสติก

วิธีการตอนกิ่งมะละกอ
เตรียมต้นพันธุ์มะละกอ (ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน)
1.ให้นำดินร่วนผสมกับขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 3:1 มาผสมให้เข้ากัน
2.นำดินที่ผสมแล้วใส่ในถุงพลาสติกขนาด 3*5 นิ้ว
3.เลือกต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์
4.ใช้มีดเฉือนกิ่งพันธุ์ จากข้างล่างขึ้นข้างบน
5.ใช้ลิ่มไม้เสียบเข้าไปในบริเวณที่เฉือนเพื่อไม่ให้เนื้อไม้ติดกัน
6.นำดินที่ใส่ในถุงกรีดกรีดถุงยาวพอสมควร รดน้ำให้ชุ่มแล้วไปวางทับกับรอยที่เฉือนกิ่งเอาไว้
7.ผูกเชือกให้แน่น
8.เฉือนท่อน้ำเลี้ยงห่างลงมาจากกิ่งตอน ประมาณ 3-5 นิ้ว เพื่อเป็นการตัดท่อลำเลียงธาตุอาหารและน้ำ เมื่อขาดธาตุอาหาร ขาดน้ำ จะทำให้รากของมะละกองอกออกมาเร็วขึ้น
9.ในระยะเวลา 30-45 วันรากของมะละกอก็จะออกรากออกมา ซึ่งเราสามารถตัดนำไปปลูกได้แล้ว
ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร *1677
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.สงขลา

เทคนิคเด็ด ทำเมล็ดพันธุ์มะละกอให้เป็นต้นกระเทย 90 %

ง่ายๆ แค่นำเมล็ดพันธุ์มะละกอแช่เย็น ก็เป็นต้นกระเทย 90%
การปลูกมะละกอเพื่อขายผลดิบ เรื่องความหนาของชั้นเนื้อ รสชาติ ขนาดและรูปทรงผลของมะละกอ จะต้องเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งความโดดเด่นของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มักจะพบอยู่ในผลผลิตของมะละกอต้นกะเทยมากกว่าต้นอื่น
ดังนั้นในการเพาะปลูกมะละกอเพื่อจำหน่ายผลสด ชาวสวนจะคิดหาเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการแปลงเพศมะละกอ ให้ได้ต้นที่สมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทยมากที่สุด โดยลดอัตราการเกิดต้นตัวผู้และต้นตัวเมียลง ซึ่งในสามารถทำได้หลายวิธีในขณะที่มะละกอยังเล็กหรือเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ของต้นทุนในการผลิต และการจัดการสวนในส่วนที่จะต้องไปคัดแยกต้นเพศผู้และต้นตัวเมียออกจากแปลงเป็นหลัก 
ที่สวนสุขแต่เช้าของคุณทรงธรรม ไทยราช อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ที่ค้นพบวิธีบังคับเพศมะละกอให้มีเปอร์เซ็นต์ต้นสมบูรณ์เพศได้สูงกว่า 90% ซึ่งคุณทรงธรรมได้ให้ข้อมูลผ่านนิตยสารไม่ลองไม่รู้ เพื่อเกษตรวันนี้ ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ.2553 ไว้ดังนี้
เทคนิคการเปลี่ยนเพศมะละกอผ่านความเย็น
** กล้าพันธุ์ที่ผมเพาะได้ส่วนใหญ่จะมีเปอร์เซ็นต์ต้นสมบูรณ์เพศสูงถึง 90 % **
โดยเริ่มจากการคัดเลือกต้นมะละกอที่ให้ผลดก รูปทรงสวย ต้นแข็งแรงไม่เป็นโรค เจริญเติบโตดี จากแปลงปลูก แล้วนำเมล็ดที่ได้จากต้นดังกล่าวมาลอยน้ำ เพื่อคัดเอาแต่เมล็ดที่จมน้ำ ซึ่งเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ดี แล้วคัดเมล็ดส่วนที่ลอยน้ำทิ้งไป
จากนั้นนำเมล็ดที่จมน้ำไปผึ่งลมให้แห้ง เมื่อเมล็ดแห้งสนิทดีแล้วจึงนำเมล็ดทั้งหมดไปเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น เมื่อต้องการใช้เมล็ดไปขยายพันธ์ต่อให้นำเมล็ดเหล่านั้นมาห่อผ้าแล้วแช่ในน้ำอุ่น นาน 3-4 ชั่วโมง ก่อนนำเมล็ดไปเพาะตามปกติ ก็จะทำให้ได้เปอร์เซ็นต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกระเทยสูง ซึ่งคุณทรงธรรมได้กำชับอีกด้วยว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลดีทุกครั้ง หากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ที่ไม่เคยนำเมล็ดไปแช่ในตู้เย็น ผลปรากฏว่า ต้นมะละกอที่เพาะได้กลายเป็นต้นตัวเมียเยอะมาก ทำให้ต้องตัดทิ้งทั้งหมด 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณทรงธรรม ไทยราช อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว

ปลูกมะละกอให้เป็นต้นสมบูรณ์เพศ (ต้นกระเทย) 99%

เทคนิคปลูกมะละกอ ให้เป็นต้นกระเทย ผลผลิตสูง
ใน วงการมะละกอ ก็รู้กันอยู่นะครับว่า ต้นมะละกอที่ให้ผลผลิตดี และเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด ก็คือมะละกอที่ออกจากต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่า ต้นกระเทย นั่นเองครับ  แต่เราจะปลูกอย่างไรให้ต้นมะละกอที่เราปลูกเป็นต้นสมบูรณ์เพศ เกือบ 100 % มาดูวิธีกันครับ
ให้นำต้นกล้าเรียงกระจายไว้ตามหลุมต่าง ๆ หลุมละหนึ่งถุง หลังจากนั้นกรีดถุงพลาสติกออก เอาต้นกล้าวางให้ตรงตำแหน่งระยะปลูกกลางหลุม กลบดินให้แน่นโดยเฉพาะรอบ ๆ ติดกับโคนต้นเพื่อให้รากจับดินใหม่ได้เร็ว ต้นจะตรงกันทุกแถวแล้วรดน้ำให้ชุ่มการปลูกมะละกอเป็นการค้า แม้ว่าจะใช้เมล็ดจากผลมะละกอสมบูรณ์เพศ แต่เมล็ดที่ปลูกจะได้ต้นมะละกอสมบูรณ์เพศเพียง 66 เปอร์เซ็นต์ อีก 33 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นเพศเมียซึ่งผลกลมตลาดให้ราคาถูก ถ้าอยากได้มะละกอผลยาวมากขึ้น ให้ปลูกต้นมะละกอให้มากต้นต่อหลุม และตัดต้นเพศเมียออกเมื่อออกดอกแล้ว จะได้ต้นสมบูรณ์เพศมากขึ้น

แสดงจำนวนต้นต่อหลุมกับอัตราส่วนต้นเพศเมียและต้นสมบูรณ์เพศ
- จำนวน 1 ต้นต่อหลุม จะได้ต้นเพศเมีย 33.33 % ต้นสมบูรณ์เพศ 66.67 %
- จำนวน 2 ต้นต่อหลุม จะได้ต้นเพศเมีย 11.11 % ต้นสมบูรณ์เพศ 88.89 %
- จำนวน 3 ต้นต่อหลุม จะได้ต้นเพศเมีย 3.70 % ต้นสมบูรณ์เพศ 69.30 %
- จำนวน 4 ต้นต่อหลุม จะได้ต้นเพศเมีย 1.23 % ต้นสมบูรณ์เพศ 98.77 %
***ในทางปฏิบัติใช้ต้นปลูก 2 ต้นต่อหลุมก็พอ ในหนึ่งร้อยหลุมหลังจากตัดต้นตัวเมียออกจะเหลือต้นสมบูรณ์เพศเท่ากับ 88.89 x 2 = 176 ต้น ทำให้ได้ผลผลิตขายมากขึ้นด้วย

การให้น้ำในระบบชลประทาน :
ถ้าเกษตรกรปลูกมะละกอช่วงต้นฤดูฝนจะช่วงประหยัดทุนและแรงงานในการให้น้ำ โดยเฉพาะในช่วงปลูกใหม่ ๆ จะต้องให้น้ำกับต้นกล้ามะละกอจนกว่าจะตั้งตัวได้ โดยรดน้ำ 2-3 วันต่อครั้ง และที่สำคัญคือช่วงที่มะละกอออกดอกติดผลเป็นช่วงที่ต้องการน้ำมาก การขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง ผลร่วง ผลไม่สมบูรณ์ การให้น้ำกับต้นมะละอกอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้มะละกอมีผลผลิตสูง โดยเฉพาะมะละกอที่ปลูกในที่ดอนหรือในเขตจังหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(พื้นที่ดินร่วนปนทราย)

การให้ปุ๋ยมะละกอ 
ปุ๋ยมะละกอที่เตรียมไว้สำหรับรองก้นหลุมนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของมะละกอ จำต้องมีการใช้ปุ๋ยเสริมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มะละกอมีการเจริญเติบโตเต็มที่มีลำต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จะใส่หลังจากปลูกแล้ว 2-3 เดือนโดยแบ่งใส่ 3-4 ครั้ง ในระยะ 1 ปี ตลอดช่วงฤดูฝน แบ่งใส่ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อาจใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 21-21-21 ชนิดที่มีอาหารธาตุรองฉีดพ่นทุก 14 วันต่อครั้ง หลังย้ายปลูกเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง โดยใช้ในอัตรา 2-3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ขณะเดียวกันก็อาจใช้ปุ๋ยทางดินสูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 50 กรัม หลังจากย้ายปลูก 1 เดือน และใส่ปุ๋ยทุกเดือนจนถึงเดือนที่ 3 หลังย้ายปลูกจะใส่เพิ่มเป็นต้นละ 100 กรัมทุกเดือน เมื่อมะละกอติดผลแล้วจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 100 กรัม ผสมกับยูเรีย อัตรา 50 กรัมต่อต้น
*** วิธีการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทางดิน ให้ใช้การหว่านลงบนดินบริเวณทรงพุ่ม (รัศมีทรงพุ่มของมะละกอ) แล้วพรวนดินกลบ รดน้ำตามอย่าใส่ปุ๋ยชิดโคนต้น เพราะจะทำให้มะละกอเสียหายได้

การกำจัดวัชพืชในสวนมะละกอ
ในระยะที่ปลูกมะละกอใหม่ ๆ เกษตรกรสามารถปลูกพืชแซมร่วมกับมะละกอในช่องว่างระหว่างแถว ระหว่างต้นได้ เมื่อมีวัชพืชขึ้นควรใช้วิธีการดายหญ้า แต่การดายหญ้าด้วยจอบควรระวังคมจอบสับต้นหรือรากมะละกอจะทำให้ต้นมะละกอชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้เกิดโรครากเน่าได้ ทางที่ดีควรใช้เศษหญ้าแห้งคลุมโคนต้นและแปลงให้หนา ๆ จะทำให้ไม่มีเมล็ดหญ้างอกขึ้นบริเวณนั้น ขณะมะละกอยังต้นเล็ก ห้ามใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชใดๆ เพราะจะทำให้มะละกอเสียหายได้ ถ้ามะละกอต้นโตแล้วและมีหญ้าฤดูเดียวงอก อาจใช้พาราควอท ฉีดฆ่าหญ้าได้ แต่ระวังอย่าให้โดนใบและผล พาราควอทใช้อัตราประมาณ 60-80 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

การออกดอกติดผลของมะละกอ
ต้นมะละกอเมื่อย้ายปลูกลงแปลงได้ 8-10 สัปดาห์จะเริ่มออกดอก โดยดอกจะอยู่เหนือก้านใบ และจะเห็นชัดว่าเป็นดอกเพศใด ถ้าเป็นต้นเพศเมียก็ตัดฟันออกในระยะนี้ ถ้าเป็นดอกสมบูรณ์เพศก็เอาไว้บำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงและติดผล เกษตรกรต้องตรวจดูผลที่ติดว่าเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ติดผลเป็นพลูหรือให้ผลบิดเบี้ยวหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ปลิดออกตั้งแต่ผลยังเล็ก ๆ หรือแม้ว่าผลที่ปกติในช่อเดียวกันอาจติดผลมาก ผลที่เบียดกันจะไม่โตทำให้ไม่ได้ขนาดมาตรฐาน ควรปลิดออกเช่นกัน ผลที่ได้มาตรฐานขนาดใกล้เคียงกันจำหน่ายง่าย ในระยะติดผลต้องคอยกลบดินโคนต้นหรือพูนโคนป้องกันการโค่นล้ม เพราะน้ำหนักผลไม่สม่ำเสมอกัน หรือใช้การปลิดผลไม่ให้ต้นรับน้ำหนักมากด้านใดด้านหนึ่งก็ป้องกันต้นโค่นล้มได้

ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกมะละกอ

ฤดูปลูกมะละกอ
ใน การปลูกมะละกอเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และให้ได้ประโยชน์ทางด้านการค้ามากที่สุด ควรที่จะปลูกให้เหมาะสมตามฤดูกาล  และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะกล้ามะละกอ ก็คือในช่วงกลางหรือปลายเดือนมกราคมครับ ซึ่งจะสามารถย้ายต้นกล้าลงปลูกได้ประมาณกลางเดือนมีนาคม และจะเก็บเกี่ยวผลได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีผลไม้ประเภทอื่น ๆ ในท้องตลาดออกน้อยทำให้มะละกอมีราคาสูง ถึงแม้ว่าเกษตรกรชาวสวนที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ก็จะมีผลผลิตออกขายได้ยาวนาน แต่ถ้าเพาะเมล็ดช้าหรือย้ายปลูกช้าทำให้ช่วงที่มะละกอออกดอกติดผลตรงกับช่วง แล้งต้องใช้น้ำชลประทานมาก จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่ได้ราคาสูงจะได้น้อยกว่า

การเตรียมเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ดี ก่อนนำไปเพาะปลูก

การเตรียมเมล็ดมะละกอก่อนนำไปเพาะปลูก
เมื่อผลแก่เมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีดำและจะหลบคมมีดได้ การเอาเมล็ดที่อยู่ในผลที่แก่ไปเพาะทันทีจะมีอัตราการงอกของเมล็ดต่ำ เพราะเยื่อหุ้มเมล็ดชั้นนอกมีสารยับยั้งการงอกอยู่ การที่จะทำให้มีการงอกสูงขึ้นทำได้โดย เอามือขยี้เปลือกหุ้มเมล็ดออกให้หมด หรือเอาเมล็ดที่รวบรวมจากผลใส่ในถ้วยหรือกะละมังใส่น้ำให้ท่วมเมล็ดทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง เยื่อเมล็ดจะเน่าหลุดง่าย เอามือขยี้เยื่อหุ้มเมล็ดออกแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วนำเมล็ดคลุกยาป้องกันเชื้อราให้ทั่ว นำไปเพาะได้ทันทีหรือถ้าจะเก็บรักษาเมล็ดไว้ให้นาน ก็เอาเมล็ดคลุกยาป้องกันราให้ทั่วแล้วใส่ในถุงพลาสติกผูกปากถุงให้แน่น นำไปเก็บไว้ในที่เย็น เช่น ช่องผักของตู้เย็น เป็นต้น

การเตรียมต้นกล้ามะละกอก่อนปลูก
มะละกอไม่เหมาะที่จะหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลในชั้นแรกมากในพื้นที่ๆ กว้างขวาง เพราะต้นกล้าที่งอกใหม่ ๆ ต้องการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการเตรียมต้นกล้ามะละกอให้แข็งแรงก่อน แล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงปลูก จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง 

การเตรียมต้นกล้ามะละกอ มี 2 แบบ คือ
1. เพาะเมล็ดลงถุง 
การเพาะเมล็ดลงถุงโดยตรงนั้น เป็นวิธีที่สะดวก สามารถทำได้โดยการเตรียมดินผสมที่จะใช้เพาะเมล็ดให้ร่วนโปร่ง(อัตราส่วนดินผสม : ดิน 3 ส่วน+อินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันปุ๋ยคอก) ปุ๋ยคอกควรเป็นปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้วและไม่ร้อน ส่วนอินทรียวัตถุอาจใช้เป็นเศษหญ้าสับ แกลบหรือเปลือกถั่วก็ได้ แล้วแต่จะหาอะไรได้ในท้องถิ่น    นำดินที่ผสมแล้วใส่ถุงขนาด 2 x 6 นิ้ว ที่เจาะรูระบายน้ำเรียบร้อยแล้วประมาณ 4 รู ตั้งเรียงไว้กลางแจ้งในบริเวณที่สามารถให้น้ำได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน หลังจากนั้นฝังเมล็ดลงไปใต้ดินให้ลึกประมาณครึ่งเซนติเมตรถุงละ 3 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่มทุกวันเช้าเย็น เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 10-14 วัน หลังปลูกเมื่อต้นมะละกอมีใบจริง 2-3 ใบ ให้เลือกกล้าที่แข็งแรงเอาไว้ ถอนต้นที่อ่อนแอออก

***ในการเพาะเมล็ดนี้ ควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดราพวกแมนโคเซบ ผสมยาป้องกันแมลงประเภทคาร์บาริลและยาจับใบฉีดพ่นครั้งแรกเมื่อต้นกล้าเริ่มงอกและหลังจากนั้นฉีดพ่นทุก ๆ 10 วัน จนกว่าจะย้ายกล้าลงแปลงปลูก ซึ่งจะสามารถย้ายกล้าปลูกเมื่อเพาะเมล็ดได้ 45-60 วัน

***หลังจากถอนแยกต้นกล้าเหลือต้นเดียวหรือสองต้นแล้ว อาจสามารถเร่งให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น โดยให้ปุ๋ยสูตร 21-21-21 ที่มีธาตุอาหารรองผสมอยู่ด้วยโดยใช้ปุ๋ยอัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร และผสมยาจับใบฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน

2. เพาะเมล็ดลงแปลงเพาะแล้วย้ายลงถุง
เตรียมแปลงเพราะกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3-5 เมตร ให้ความยาวแปลงอยู่ในแนวดินเหนือใต้ย่อยดินให้ละเอียดและผสมปุ๋ยคอก ประมาณตารางเมตรละ 2 กิโลกรัม คลุกเคล้าปุ๋ยคอกกับดินแล้วย่อยให้เข้ากัน ยกเป็นรูปแปลงสูงจากระดับดินเดิม 15 เซนติเมตร แล้วใช้ไม้ขีดทำร่องแถว ตามความกว้างของแปลงลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ให้แถวห่างกัน 25 เซนติเมตร จากนั้นโรยเมล็ดมะละกอในร่องแถวให้ห่างกันพอประมาณตลอดแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ผสมด้วยยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันมดคาบเมล็ด อาจใช้เซฟวิน 85 หรือ S-85 ก็ได้และรดน้ำให้ชุ่มทุกวันเช้า-เย็น เมื่อต้นกล้ามีใบจริงได้ 2-3 ใบ หรือประมาณ 21-25 วัน หลังจากเพาะให้ย้ายกล้าลงถุงพลาสติกขนาด 2x6 นิ้ว ถุงละ 1 ต้น ตั้งเรียงไว้ในที่มีแสง 50% ฉีดพ่นยาป้องกันโรคแมลงและให้ปุ๋ยเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดลงถุงโดยตรง

การเพาะเมล็ดลงกระบะพลาสติก ก็ปฏิบัติคล้าย ๆ กัน โดยเอากระดาษหนังสือพิมพ์รองก้นตะกร้าพลาสติก แล้วใส่ดินผสมเช่นเดียวกับที่เตรียมสำหรับเพาะในถุงลงไปเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ ทำร่องแถวเพราะห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดมะละกอหยอดลงไป รดน้ำซึ่งผสมน้ำยากันมดให้ชุ่ม รดน้ำให้ชุ่มทุกวันเช้า-เย็น เมื่อกล้ามีใบจริงแล้วจึงย้ายลงถุงต่อไป และเมื่อต้นกล้าในถุงแข็งแรงดีแล้ว จึงนำไปปลูกได้ ระยะเวลานับตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะกล้ามะละกออยู่ในช่วงกลางเดือนมกราคม สามารถย้ายกล้าปลูกได้ในราวกลางเดือนมีนาคม และจะเริ่มเก็บผลได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลไม้ชนิดอื่น ๆ ในท้องตลาดออกน้อยทำให้จำหน่ายได้ราคาสูง

การเลือกพื้นที่ปลูกมะละกอ
มะละกอ เป็นไม้ผลที่ชอบดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนดินร่วนหรือดินร่วนที่มีการระบายน้ำที่ดี มีอินทรียวัตถุมาก ไม่ชอบน้ำขังและควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ช่วงระดับความเป็นกรด-ด่าง (PH) ที่เหมาะสมคือ 5.5-7 มะละกอไม่ทนดินเกลือและไม่ทนลม แหล่งปลูกจึงควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมแรง ถ้าหลีกเลี่ยงพื้นที่มีลมแรงไม่ได้ควรทำแนวไม้กันลมไว้โดยรอบ ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง
มะละกอจะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าได้รับแสงแดดเต็มที่ มะละกอมีก้านใบยาว และกลุ่มใบจะมีมากที่บริเวณยอด จึงไม่ควรปลูกมะละกอให้ชิดกันเกินไป จะทำให้ไม่สะดวกในการป้องกันกำจัดศัตรูของมะละกอ  ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4 x 3 เมตร หรือ 3 x 3 เมตร หรือ 2.5 x 3 เมตร แหล่งปลูกมะละกอควรอยู่ใกล้เมืองหรือมีทางคมนาคมสะดวก เนื่องจากผิวมะละกอบางทำให้เกิดการบอบช้ำในการขนส่งได้ง่ายกว่าผลไม้ชนิดอื่น ๆ

การเตรียมแปลงปลูกมะละกอ
1.ไถพื้นที่ปราบวัชพืช 2 ครั้ง ครั้งแรกไถด้วยผาน 3 หรือผาน 4 ครั้งที่ 2 ให้ย่อยดินให้เล็กด้วยผาน 7
2.วัดระยะแปลงปลูกตามความต้องการ ควรปักหลักเล็ก ๆ ห่างจากหลักหลุมปลูกอีก 2 หลัก โดยปักให้ห่างข้างละ 50 เซนติเมตร
3.ขุดหลุมปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมให้ขอบหลุมห่างจากหลักกลางประมาณ 25 เซนติเมตร และขุดลึก 50 เซนติเมตร เอาดินขึ้นไว้บนปากหลุมอย่าให้โดนหลักเล็กทั้ง 2 ซึ่งจะเป็นหลักบังคับระยะปลูก
4.ใส่ปุ๋ยคอกเก่า ๆ ประมาณ 1 พลั่ว หรือครึ่งบุ้งกี๋ลงบนดินที่ขุดขึ้นมาและใส่ร๊อกฟอสเฟตลงไปอีก 100 กรัม ถ้าไม่มีร๊อกฟอสเฟตให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่แทนจำนวน 20 กรัม หรือประมาณ 2 ช้อนแกงต่อหลุม คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันดี แล้วใช้จอบกลบดินลงหลุมให้เสมอปากหลุม
5. ก่อนปลูกหาไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร ทำเครื่องหมายที่ตำแหน่ง 0.00, 0.50 และ 1 เมตร เป็นเครื่องหมายต้นปลูก เพื่อให้แถวปลูกตรงกันทุกต้น

การคัดเลือกมะละกอไปเพาะพันธุ์ เพื่อการค้า

หลักการคัดเลือกมะละกอ ไปเพาะพันธุ์เพื่อการค้า
การเลือกมะละกอไปทำพันธุ์ในการค้า เราต้องการมะละกอสมบูรณ์เพศมาก จึงต้องทำการผสมตัวเองหรือผสมข้ามต้นสมบูรณ์เพศเพื่อให้ได้ผลยาวมากในที่นี้จะได้ผลยาว 2 ส่วน ประมาณ 66% ผลกลมต้นตัวเมีย 33% การรักษาสายพันธุ์หรือทำเมล็ดพันธุ์จึงควรเลือกต้นมะละกอสมบูรณ์เพศที่มีความแข็งแรง ติดผลดกในแปลงของท่านเอง แล้วใช้ถุงกระดาษหรือถุงผ้าขาวบางคุลมดอกสมบูรณ์เพศของต้นสมบูรณ์เพศที่จะบานในวันรุ่งขึ้นไว้ แขวนป้ายชื่อพันธุ์พร้อมวันที่ การคลุมถุงจะคลุมไว้ประมาณ 7 วัน แล้วถอดเอาถุงออก ถ้าเป็นมะละกอพันธุ์ปากช่อง หนึ่งผลจะได้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 150-350 เมล็ด มะละกอพันธุ์แขกดำจะมีเมล็ด 438-1,044 เมล็ดต่อผล ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องผสมไว้หลาย ๆ ผลเพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่  การผสมตัวเองของมะละกอ แม้ว่าทำเพียง 4 ชั่วอายุ ก็จะทำเป็นสายพันธุ์คัดได้ ถ้าปลูกในหมู่เดียวกัน ห่างจากพันธุ์อื่นประมาณ 1 กิโลเมตร ก็เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ที่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ เมล็ดที่ได้เมื่อนำไปเพาะจะได้ต้นสมบูรณ์เพศ 2 ส่วน ต้นตัวเมีย 1 ส่วน การเก็บเมล็ดทำพันธุ์ต้องเลือกเก็บเมล็ดจากผลที่มีผิวสีเหลืองหรือส้มที่ผลประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ระวังอย่าให้ผลที่เก็บมาได้รับความกระทบกระเทือน หรือช้ำเสียหาย

การสังเกตมะละกอต้นใหน..? ต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย

เทคนิคการสังเกตมะละกอ ต้นใหน..? เป็นต้นตัวผู้..ต้นตัวเมีย..หรือต้นกระเทย
ต้นมะละกอแบ่งออกเป็น 3 เพศ 
คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมียและต้นสมบูรณ์เพศ หรือเรียกอีกอย่างว่ามะละกอต้นกระเทย โดยทั่วไปจะสังเกตเพศได้เมื่อต้นมะละกอ ออกดอกแล้วเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะบอกเพศมะละกอในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ หรือก่อนที่มะละกอออกดอกได้
***เพศของดอกมะละกอมีตัวถ่ายทอดพันธุกรรม คือ ยีนส์เพียงคู่เดียวเป็นตัวควบคุม มีวิธีการสังเกตดังนี้
1.มะละกอต้นตัวผู้  
มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสาย 70-120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด  ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ มะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง
2. มะละกอต้นตัวเมีย 
จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริง โดยมีช่อดอกยาวปานกลาง 5-20 เซนติเมตร ดูจากภายนอกดอกยังตูมอยู่จะมีลักษณะดอกป้อม กลีบดอกทั้ง 5 กลีบ จะแยกจากกัน ภายในมีรังไข่ อ้วนสั้น สีขาว มีส่วนปลายรังไข่เป็นแฉก 5 แฉก สีเหลืองอมเขียว แต่ละแฉกก็มีปลายเป็นฝอย ผลจากดอกตัวเมียจะมีรูปร่างกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ๆ หรือรูปไข่
3. มะละกอต้นสมบูรณ์เพศ (ต้นกะเทย)  
ช่อดอกแตกแขนงสั้น อาจจะประกอบด้วยดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศในช่อดอกเดียวกันก็ได้ แต่ดอกสมบูรณ์เพศก่อนบานจะมีลักษณะเรียวยาว กลีบดอกส่วนที่เป็นหลอดจะหุ้มส่วนของรังไข่ ส่วนกลีบดอกที่แยกกันจะเปิดออกเมื่อดอกบาน ถ้าเด็ดกลีบดอกออกจะเห็นอับเกสรตัวผู้ 10 อัน เรียงรอบใต้ส่วนของยอดเกสรตัวเมีย เมื่อละอองเกสรตัวผู้ฟุ้งกระจาย ขณะดอกบานก็จะผสมตัวเองได้หรือแมลงพาเกสรตัวผู้ไปผสมกับดอกที่บานดอกอื่น หรือดอกตัวเมียบนต้นตัวเมีย ทำให้ติดเป็นผล ผลจากมะละกอต้นสมบูรณ์เพศจะเป็นรูปทรงกระบอกยาว ถ้าดอกสมบูรณ์เพศนั้นมีรังไข่ทรงกระบอกและอับเกสรตัวผู้เกิดบริเวณโคนกลีบดอก เรียกดอกประเภทนี้ว่าอีลองกาต้า (Elongata) ดอกสมบูรณ์เพศที่มีรังไข่เป็นพลูและมีก้านชูอับเกสรตัวผู้อยู่ที่โคนรังไข่ เป็นดอกแบบแพนเดรีย (Pentandria) ทำให้ได้ผลเป็นพลูแบบผลทุเรียน ตลาดไม่ต้องการ ควรเด็ดทิ้งขณะผลเล็กๆ ดอกสมบูรณ์เพศแบบอินเทอร์มีเดียท (Intermediate)คือ ดอกสมบูรณ์เพศที่มีก้านชูอับเกสรตัวผู้อยู่บริเวณรังไข่ด้านใดด้านหนึ่ง ตรงกลางของรังไข่เมื่อผสมติดแล้วทำให้ผลมีแผลเป็น เบี้ยวด้านหนึ่ง ตลาดไม่ต้องการถ้าพบผลแบบนี้ขณะอ่อน ๆ อยู่ให้เด็ดทิ้ง
ยีนที่ควบคุมและกำหนดเพศมะละกอมีดังนี้ 
Mm คือมะละกอเพศเมีย
M1m คือมะละกอเพศผู้
M2m คือมะละกอสมบูรณ์เพศ (ต้นกระเทย)
M1M1, M2M2, M1M2 เกิดลีทอลยีน(Letthlgene) ไม่มีเมล็ด
แม่พันธุ์ x พ่อพันธุ์ อัตราส่วนของลูก
เพศเมีย :สมบูรณ์ : เพศผู้
ต้นเพศเมีย (mm) x ต้นเพศผู้ (M1m) 1 : - : 1
ต้นเพศเมีย (mm) x ต้นสมบูรณ์เพศ (M2M) 1 : 1 : -
ต้นสมบูรณ์เพศ (M2m) x เพศผู้ (M1m) 1 : 1 : 1
ต้นสมบูรณ์เพศ (M2m) x สมบูรณ์เพศ (M2m) 1 : 2 : -

พันธุ์มะละกอ ที่ปลูกเป็นการค้า

รวมพันธุ์มะละกอที่ปลูกเป็นการค้า
1. มะละกอพันธุ์พื้นเมือง 
เป็นมะละกอที่ปลูกกันมานานโดยมีการปล่อยให้มีการผสมข้ามกันเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะมีผลขนาดกลางถึงขนาดเล็ก เนื้อบาง ช่องว่างในผลกว้าง ผลสุกเนื้อสีเหลืองค่อนข้างเละ จึงนิยมบริโภคดิบมากกว่า การออกดอกติดผลช้าเป็นมะละกอที่ปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา จึงมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี จึงพบในท้องถิ่นและภาคต่าง ๆ ที่ไม่ได้มุ่งหวังทำเพื่อการค้า
2. มะละกอพันธุ์แขกดำ 
เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูกกันมากและเป็นที่ต้องการของตลาด ลักษณะเป็นมะละกอต้นเตี้ย ก้านใบสีเขียว ก้านใบสั้น ในหนากว่ามะละกอพันธุ์อื่น ๆ ขนาดผลมีส่วนหัวและท้ายของผลเกือบเท่ากัน เปลือกหนาสีเขียวเข้มผิวขรุขระเล็กน้อย ขนาดผลประมาณ 1.2-1.5 กิโลกรัม ผลสุกมีรสหวาน เมล็ดน้อยช่องว่างภายในผลแคบ เนื้อแข็งสีแดง ขนาดเหมาะที่ทำส้มตำจะเก็บในขณะที่มีน้ำหนัก 500-750 กรัม
3. มะละกอพันธุ์โกโก้ 
เป็นมะละกอพันธุ์ที่นำมาปลูกนานแล้ว ต้นเล็ก ๆ จะมีจุดประสีม่วง ก้านใบมีสีม่วง ลักษณะผล ส่วนปลายผลเล็กเรียว ส่วนหัวผลซึ่งใกล้ขั้วมีลักษณะเป็นทรงกระบอกใหญ่ ผิวสีเขียว ผลค่อนข้างเรียบ ช่องว่างระหว่างผลเป็นเหลี่ยมชัดเจน ช่องว่างภายในผลกว้าง สุกแล้วเนื้อสีแดงหรือส้มเหมาะสำหรับบริโภคสุก
4. มะละกอสายพันธุ์น้ำผึ้ง 
ลักษณะต้นเตี้ย ก้านใบสีเขียวอ่อนหรือเขียวปนขาว ก้านใบยาวกว่าแขกดำ ใบกว้างกว่าแขกดำแต่ใบบางกว่า จำนวนแฉกของใบมีน้อยกว่าแขกดำและโกโก้ ผลค่อนข้างโต ผลด้านขั้วจะเล็กแล้วขยายโตขึ้นบริเวณใกล้ปลายผล เปลือกผลสีเขียว เนื้อเมื่อสุกมีสีส้มปนเหลือง หรือสีส้ม เนื้อเละรสหวาน
5. มะละกอพันธุปากช่อง1 
เป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่สถานีวิจัยปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้ผสมพันธุ์นี้ขึ้นจากการนำเอามะละกอสายพันธุ์ซันไรส์ โซโล จากประเทศไต้หวันมาทำการปลูกและผสมพันธุ์ตัวเองอยู่ 5 ชั่วอายุ พันธุ์ปากช่อง1 มีลักษณะที่ดีเด่นคือเป็นมะละกอต้นค่อนข้างเตี้ยมาก ให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 8 เดือน หลังจากปลูกผลในระยะแรกอยู่เหนือจากระดับพื้นดินประมาณ 70-80 เซนติเมตร ติดผลค่อนข้างดกคือ ให้ผลผลิตประมาณ 30-40 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี ผลลักษณะกลมขนาดเล็กสามารถรับประทานคนเดียวหมดผล หรือถ้าผลขนาดกลางก็อาจรับประทานได้ 2 คน มีน้ำหนักประมาณ 350 กรัมต่อผล ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ  เนื้อแข็งกรอบสีส้มหนาประมาณ 1.8 เซนติเมตร รสชาติหอมหวาน มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลอยู่ค่อนข้างสูง ผลสุกจนมีผิวสีเหลืองทั้งผล สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้นาน โดยที่มีรสหวานเหมือนเดิมและเนื้อก็ไม่เละด้วย นอกจากนี้แล้วชาวสวนยังสามารถที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้เอง ทั้งยังสามารถเพิ่มขนาดของผลให้ใหญ่ขึ้นมีน้ำหนักถึง 600 กรัมต่อผล ถ้าหากตลาดต้องการโดยการเด็ดช่อดอกด้านข้างออกเหลือดอกกลางไว้ก็จะได้มะละกอผลใหญ่ตามต้องการและ คุณสมบัติที่เด่นกว่ามะละกอพันธุ์อื่น ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างมีความต้นทานต่อโรคใบด่าง ซึ่งถือเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของมะละกอ 

การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์มะละกอ

การเลือกเมล็ดมะละกอมาเพาะพันธุ์ เพิ่มผลผลิต
ในการเลือกเมล็ดมะละกอมาทำการเพาะพันธุ์ หรือขยายพันธุ์ปลูกนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมล็ดที่เรานำมาเพาะนั้น เมื่อเพาะปลูกลงดินแล้ว จะมีผลผลิตออกมาหรือไม่ หรือถ้าหากติดดอกออกผลแล้ว จะเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ วันนี้มีเทคนิคดีๆ มีประโยชน์มาฝากครับ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับมะละกอ 4 อย่างคือ
1. หากคุณนำเมล็ดมะละกอจากผล ที่เป็นต้นกะเทยมาเพาะพันธุ์ จะได้ต้นกะเทย  3 ส่วน อีก 1 ส่วนจะได้ต้นตัวเมียครับ
2. หากคุณนำเมล็ดมะละกอจากผล ที่เป็นต้นตัวเมียมาเพาะพันธุ์  จะให้ผลกลมๆ ได้ต้นตัวเมียและต้นตัวผู้ด้วย ซึ่งตลาดไม่ค่อยนิยม หรือไม่ค่อยต้องการ หรือขายไม่ค่อยได้นั่นเองครับ
3. มะละกอต้นตัวผู้เมื่อโตขึ้นแล้ว จะมีแต่เกสรอย่างเดียวไม่ติดผลครับ
4. มะละกอต้นกะเทย จะให้ผลที่ยาวรี   เป็นที่นิยมของตลาด เรียกว่ามีเท่าไรก็ขายได้นั่นเองครับ
 

มะละกอโตไว ด้วยน้ำหมักสูตรเด็ด


น้ำหมักชีวภาพเร่งผลมะละกอ


วันนี้ขอนำเสนอเทคนิคการเร่งผลมะละกอ ด้วยผลสุกของมะละกอเองนั่นแหละครับ หรือเรียกอีกอย่างว่า
 ฮอร์โมนเร่งผลผลิตมะละกอก็ว่าได้

วัตถุดิบที่ใช้มีดังนี้

1.มะละกอสุก  30  กก.

2.น้ำตาลทรายแดง  1  กก.

3.น้ำ  10  ลิตร

วิธีทำน้ำหมักชีวภาพเร่งผลมะละกอ

นำมะละกอสุกมาสับให้ละเอียด  เทลงไปถังหมัก เติมน้ำตาลทรายแดงลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นก็เติมน้ำลงไป ปิดฝาทิ้งไว้ในที่ร่ม  หมักไว้ 1 สัปดาห์ ก็สามารถนำใช้ได้ครับ

วิธีการใช้

นำไปรดโคนต้นมะละกอ โดยเว้นระยะห่างบริเวณรอบโคนต้นประมาณ 1 ฟุต  ใช้น้ำหมักอัตราส่วน  20 ซีซี ผสม น้ำ 20 ลิตร  ใช้สัปดาห์ละ 1ครั้ง จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของมะละกอได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ได้ทุกช่วง ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเลยล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น