วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลูกอะไรดี (7) "มะระ" รายได้ 27,000 บาท/เดือน/ไร่

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554


ถูกเลิกจ้าง มุ่งหน้าเป็นเกษตรกร-ตั้งใจปลูกผักขาย

เกษตรกรรม เป็นอาชีพที่เหนื่อยถ้าไม่รักจริง
ส่วนอาชีพรับจ้างหรือพนักงานบริษัททั่วไป ถ้าผลประกอบการไม่ดี ก็แย่เหมือนกัน มีสิทธิถูกเลิกจ้างอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ คุณวิศนุ-คุณเพชรรินทร์ หว่านพืช
สองสามีภรรยาที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทตกแต่งภายใน จังหวัดกาญจนบุรี

ในขณะที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งคู่อายุก็มากพอควรสำหรับการที่จะเริ่มต้นเป็นลูกจ้าง ที่สำคัญมีบุตรต้องเลี้ยงดูอีกด้วย

คุณ เพชรรินทร์ เล่าว่า ถูกเลิกจ้างทั้ง 2 คน ตอนแรกก็เคว้งเหมือนกัน แต่ด้วยความชอบด้านเกษตร
ตอนที่ทำงานบริษัท บ้านมีพื้นที่นิดหน่อยก็ปลูกผักสวนครัว พอออกมาก็มุ่งด้านเกษตร

เข้าอบรมเกษตรจึงเริ่มปลูกมะระ

"พอมีโครงการของรัฐช่วยผู้ตกงานให้ฝึกวิชาชีพ
จึงเลือกอบรมเกษตร ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี อบรมให้" คุณเพชรรินทร์บอก

หลังจากที่อบรมแล้ว ได้รับการจัดสรรที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เขตนิคมฯ วังดัง
จำนวน 5 ไร่ ตอนนี้ปลูกผักชี แต่ยังไม่ได้สิทธิครอบครอง ต้องทดลองทำงานเกษตร
อีกทั้งทางการต้องการความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับจัดสรรต้องการทำงานเกษตรอย่างแน่นอน

ในขณะที่อบรมนั้น ทำโครงการปลูกมะระ
เพื่อที่จะนำมาปลูกในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ได้รับจัดสรร
สาเหตุที่เลือกปลูกมะระเพราะปลูกง่ายเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดและทุกฤดูกาล

มะระที่ปลูก ใช้พันธุ์เขียวหยก 16 แข็งแรงทนทาน เริ่มจากการเตรียมต้นกล้า
เพาะต้นกล้าในภาชนะสำหรับเพาะต้นกล้าในทราย ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้ว
และดินละเอียดอย่างละเท่าๆ กัน เจาะหลุมหยอดเมล็ด กลบด้วยดินบางๆ รดน้ำเช้า-เย็น


วิธีการเตรียมดิน
เริ่มจากไถดินให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-10 วัน ย่อยดินให้ละเอียด
หว่านปูนขาวในอัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่
ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าในแปลง
ยกแปลงสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร
รดน้ำและคลุมด้วยพลาสติคเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช

ย้ายต้นกล้าปลูกเมื่อกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ หรืออายุ 15-20 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูก 1-2 ต้น ต่อ 1 หลุม
ระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 50-75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100-120 เซนติเมตร

สำหรับการดูแลรักษานั้น
ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะช่วงออกดอกและติดผล

หลัง ย้ายปลูก 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่
เพื่อเร่งการเจริญเติบโตใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ โดยทยอยแบ่งใส่ในช่วงออกดอกติดผล

วิธีการทำค้าง สามารถทำได้ 2 แบบ คือ

1. ปักไม้ค้างยาว 2-2.25 เมตร ทุกหลุมเอนปลายเข้าหากันและมัดไว้ด้วยกัน
ใช้ไม้ค้างหรือเชือกไนล่อนผูกขวางทุกระยะ 40-50 เซนติเมตร
หรือใช้ตาข่ายพลาสติคห่างขึงแทนด้านบนของค้าง ใช้ไม้ค้างพาดขวางมัดกันให้แน่น เพื่อป้องกันการโค่นล้ม

2. ปักไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ขึงด้วยตาข่ายพลาสติคตาห่างๆ

คุณเพชรรินทร์ บอกว่า การถอนวัชพืชที่ขึ้นอยู่ใกล้ต้นมะระต้องระมัดระวัง ถอนเบาๆ อย่าให้กระเทือนระบบราก

ศัตรูที่พบ มีโรคราน้ำค้าง
ก่อนปลูกคลุมเมล็ดด้วย เมตาแลกซิล 7 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม
หลังปลูกฉีดพ่นด้วยแมนโคเซบ อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

การเก็บเกี่ยวและตลาด
อายุเก็บเกี่ยวของมะระประมาณ 45-50 วัน ทยอยเก็บผลผลิตที่ได้ขนาดที่เหมาะสมทุกวันหรือวันเว้นวัน
สามารถเก็บได้ 17-20 ครั้ง อายุถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย 85-90 วัน ผลผลิตประมาณ 4,000-6,600 กิโลกรัม/ไร่

สำหรับต้นทุน ค่าแรงงาน 3,840 บาท ค่าวัสดุ 3,380 บาท
และผลตอบแทน ผลผลิต 4,500 กิโลกรัม/ไร่ ราคาเฉลี่ย 6 บาท/กิโลกรัม
รายได้เฉลี่ย 27,000 บาท กำไรประมาณ 19,780 บาท

คุณ เพชรรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังลงเรียนระดับ ปวส. ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี
โดยให้เหตุผลว่าเมื่อใจรักที่จะทำเกษตรก็ต้องให้รู้จริง แม้จะเป็นลูกหลานชาวไร่-ชาวนา ได้วิชาของพ่อแม่มาบ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ในสถาบันการศึกษาคือหลักวิชาการ เพื่อที่จะได้นำมาวางแผนหรือประยุกต์ใช้

"แม้อายุจะ 40 ปีแล้ว ก็ยังไม่แก่เกินเรียน เพราะที่นี่จะมีภาคประชาชนสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้จริงๆ"
คุณเพชรรินทร์บอก

สำหรับ ท่านใดต้องการคำปรึกษาด้านการเกษตรติดต่อได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนยีกาญจนบุรี 1
หมู่ที่ 5 ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000 โทร. (034) 552-106-7

รายงานโดย ชำนาญ ทองเกียรติกุล
คอลัมน์ เทคโนโลยีการเกษตร นิตยสาร เทคโนชาวบ้าน
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 495
ที่มา : http://info.matichon.co.th
ภาพจาก : http://yamrow.brinkster.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น