อดีตพยาบาลปลูกมะละกอ เน้นดูแลดี สร้างภูมิต้านทาน ตลาดไปได้
วันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2551
มีผู้สนใจปลูกมะละกอไว้ตามสวนหลังบ้าน เพื่อเป็นผลไม้เสริม อาจจะสำหรับทำส้มตำ กินสุกเล็กๆน้อยๆ ส่วนผู้ที่ปลูกมะละกอเป็นอาชีพก็มีอยู่มากเช่นกัน อย่าง คุณสุรีย์พร กุลธนพานิช อดีตพยาบาลโรงพยาบาลสมิตติเวช ถือว่าเป็นคนที่เรียนรู้เรื่องมะละกออย่างจริงจัง ที่สวนของเธอสะอาด อาณาบริเวณถูกดูแลอย่างดี เธอปฏิบัติกับมะละกอเหมือนกับปฏิบัติต่อคนไข้ ผลที่ออกมาจึงดี
นอกจากดูแลมะละกอตามหลักวิชาการแล้ว เจ้าของสวนยังมีการสร้างภูมิต้านทานให้กับมะละกอ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการ
มะละกอกินสุก เนื้อไม่เละ
คุณสุรีย์พร บอกว่า ตนเองลาออกจากพยาบาลมาทำสวนมะละกอได้ 6 ปีแล้ว จริงๆ ภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ แต่สวนอยู่เลขที่ 34/2 หมู่ที่ 2 ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
คุณสุรีย์พร บอกว่า ตนเองไปรับประทานมะละกอที่มาเลเซีย เป็นพันธุ์ "เซกากิ" เห็นว่ารสชาติดี รสหวาน ไม่เละ กลิ่นยางไม่มี จึงประทับใจ เมื่อตัดสินใจปลูกมะละกอ จึงเลือกพันธุ์จากมาเลเซีย ซึ่งสายพันธุ์นี้ บ้านเรามีปลูกอยู่ไม่น้อย มีชื่ออื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 3 ชื่อ แต่ในที่นี้ ขอใช้ คำว่า "เซกากิ"ตามเจ้าของ
"ที่เลือกปลูกมะละกอ เพราะเมื่อปลูกแล้วไม่นานสามารถเก็บผลผลิตได้ ให้ผลตอบแทนเร็ว ลงทุนไม่สูงนัก เริ่มปลูกเมื่อปี 2546 เคยทานผลที่มาเลเซีย ชอบเลยปลูกสายพันธุ์นี้ เมล็ดพันธุ์สั่งจากมาเลเซีย ต่อมาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะเอง พื้นที่ปลูกมะละกอ 10 ไร่ ปลูกไม่เต็ม แต่หมุนเวียน พื้นที่ไม่คงที่" คุณสุรีย์พร บอก
พื้นที่การผลิตของคุณสุรีย์พรเป็นร่องสวน ที่บริเวณนั้นน้ำเคยท่วม เจ้าของจึงทำคันดินขนาดใหญ่กันน้ำอีกทีหนึ่ง คันดินค่อนข้างสูง เพราะแม้มะละกอต้นสูงแล้ว มองไกลๆ ยังเห็นแค่ยอด คันดินอาจจะช่วยเรื่องของการลดโรคและแมลงก็ได้ ลดโดยโรคและแมลงไปปะทะกับคันดินก่อน
เจ้าของอธิบายวิธีปลูกมะละกอว่า เริ่มต้นด้วยการเพาะเมล็ดในถุง ขนาด 2 คูณ 6 นิ้ว ใน 1 ถุงหยอด 1 เมล็ด เมื่ออายุต้นกล้า 1 เดือน จึงนำลงปลูก ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 3 คูณ 3 เมตร ไร่หนึ่งตกประมาณ 170-200 ต้น อยู่ประมาณนี้ เพราะส่วนหนึ่ง เป็นพื้นที่ร่องน้ำ
ใน 1 หลุม เจ้าของปลูกเพียง 1 ต้น ทั้งนี้ เจ้าของมั่นใจว่าเปอร์เซ็นต์รอดมีมาก หากตายก็ซ่อมใหม่ ดังนั้น ใน 1 หลุม จึงปลูก 1 ต้น เท่านั้น หลังปลูกไป 40 วัน มะละกอเริ่มให้ดอก แต่สามารถเก็บผลผลิตหลังปลูกแล้ว 7 เดือน หมายถึงเก็บผลผลิตสุก
มะละกอที่อายุของต้น 2 ปี จำนวน 500 ต้น คุณสุรีย์พร เก็บผลผลิตได้ 6 ตัน ต่อเดือน หากใช้เครื่องคิดเลขหารออกมาเฉลี่ย 12 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อเดือน ราคาที่จำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 25-30 บาท เจ้าของไปส่งเอง ที่ร้านโกลเด้นเพลส อ.ต.ก. ดอยคำ และบองมาร์เช่
สร้างภูมิคุ้มกัน มะละกอแข็งแรง
ถามถึงเรื่องการดูแล...ว่าทำอย่างไรบ้าง
เจ้าของอธิบายว่า แรกสุดคือ เรื่องของปุ๋ย ปุ๋ยที่เจ้าของให้ เริ่มจากปุ๋ยคอก ที่นำมาหมักให้สลายตัวก่อน ใส่ให้ทุก 2 เดือน ต้นละ 3 กอบ ขณะที่มะละกอต้นยังเล็กอยู่ ให้ปุ๋ยปลา โดยหมักพุงปลา สาหร่ายผง น้ำตาลฟรุคโทส อีเอ็ม และน้ำมะพร้าว วิธีการคือ ใช้ปุ๋ยน้ำ 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 500 ส่วน รดให้ นอกจากปุ๋ยปลา เมื่อต้นยังเล็ก ให้ปุ๋ย สูตร 25-7-7 จำนวนต้นละ 50 กรัม เมื่อต้นโต เริ่มมีผลผลิต ใส่ สูตร 15-15-15 สลับกับ สูตร 13-13-21 ให้เดือนละสูตรสลับกัน โดยใส่ให้ราว 500 กรัม ต่อต้น บางโอกาสให้ปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 ดูตัวเลขของการใส่ปุ๋ยแล้ว จะเห็นว่าค่อนข้างมาก แต่มะละกอเขาดก เก็บผลผลิตทุกวัน อาหารที่ให้มะละกอ หมายถึง ปุ๋ยต้องมากตามด้วย
ในการปลูกมะละกอนั้น ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรพบกันคือ โรคใบด่างวงแหวน ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ที่สวนคุณสุริย์พร เขามีทางป้องกัน นั่นก็คือ สร้างภูมิคุ้มกัน โดยใช้อิมมูนพลัส สร้างภูมิต้านทานโรคพืช โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ
"ใช้อิมมูนพลัส เน้นป้องกันโรค สร้างภูมิคุ้มกัน 10-15 วัน ใช้ครั้งหนึ่ง ช่วงต้นเล็กๆ ก็ใช้ คิดว่าดี เปอร์เซ็นต์เจอโรคน้อย 1,000 ต้น จะเจอสัก 9 ต้น เมื่อเจอตัดแล้วเผาเลย การดูแลต้องให้ถึง เรื่องสารอาหาร ให้ต้นสมบูรณ์ตลอด ใช้อิมมูนฯ เพื่อให้ต้นมะละกอมีภูมิต้านทานเพิ่มเติมจากปุ๋ย คิดว่าคุ้ม ซื้อมายกลัง อ่านเจอในหนังสือ คงใช้ต่อไป" คุณสุรีย์พร บอก
คุณสุรีย์พร บอกว่า ตลาดนั้น ตนเองไปส่งตามแหล่งจำหน่ายเอง เรื่องของน้ำหนักมะละกอ ผู้ซื้อไม่เกี่ยง ขอให้ผิวสวย ผลติดมาก
มะละกอสายพันธุ์นี้ต้องแต่งผล ตั้งแต่ผลยังเล็กๆ ผลจึงจะสม่ำเสมอ
สังเกตเห็นว่า มะละกอของคุณสุรีย์พร ผลสม่ำเสมอดีมาก ทั้งนี้เป็นเพราะมีการแต่งผลนั้นเอง เจ้าของบอกว่า มะละกอที่นำออกจำหน่าย ผลใหญ่สุดไม่เกินกิโลครึ่ง
น่าสนใจ สำหรับงานปลูกมะละกอจำหน่ายผล มะละกอนั้นปลูกแล้วให้ผลเร็ว ได้เงินเร็ว ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี เสียหายเร็วเช่นกัน เนื่องจากการเกิดโรคระบาด รวมทั้งภัยธรรมชาติ คือลม ผู้ที่สนใจอาชีพนี้ มีแบบอย่างให้ศึกษามากมาย รวมทั้งคุณสุรีย์พร ก็เป็นอีกแบบอย่างหนึ่ง
ที่ตั้งของสวนแห่งนี้ไปไม่ยาก ใช้ถนนเส้นสุพรรณบุรี ถึงสี่แยกนพวงศ์ เลี้ยวซ้าย ถนนเส้นนี้ไปอำเภอบางเลน และกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
แยกจากถนนเส้นสุพรรณบุรีไปทางบางเลนสักพัก เจอสี่แยกไฟแดง เลยไฟแดงไปเพียงเล็กน้อย ขวามือเป็นด่านชั่งน้ำหนัก สวนคุณสุรีย์พรอยู่ติดกับด่าน แต่ลึกเข้าไปนิดหนึ่ง
เธอบอกว่า ยินดีให้คำแนะนำ คาดว่า อีกไม่นาน คงมีมะละกอจำหน่ายที่หน้าบ้านเกษตรกรรายนี้ เพราะกำลังสร้างบ้านอยู่
สอบถามเธอได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (081) 929-1358
คุยเรื่องอิมมูนพลัส กับ คุณสรรเพชญ สงวนจิตร์
คุณสรรเพชญ สงวนจิตร์ จาก บริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าถึงอิมมูนพลัส
ดังต่อไปนี้
...อิมมูนพลัส เป็นสารกลุ่มใหม่ สำหรับสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้แล้วจะกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งต่อต้านเชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะไวรัสในมะละกอ ในพริก ปัจจุบัน ไวรัสเหล่านี้ไม่มีสารเคมีรักษาได้ เพียงแต่หยุดยั้งไม่ให้มันแสดงผลออกมา ไม่ว่าจะเป็นใบหงิกในพริก ไวรัสในมะละกอ หากเราสร้างแต่เล็กประหนึ่งว่าเราฉีดวัคซีน มะละกอก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นมา หากมีเพลี้ยอ่อน เป็นตัวนำเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคใบด่างวงแหวน มันจะทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่ขยายได้
ใช้ได้ตั้งแต่ระยะกล้า เพาะเมล็ดมี 2-3 ใบ ใช้ราด ผสมอิมมูนพลัส เป็นน้ำ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้ายังไม่มีอาการ 10-15 วัน ใช้ครั้งหนึ่ง หากมีอาการใช้ รักษา 3-5 วันครั้ง
ต้นทุน...ผมว่าไม่เยอะ เพิ่มเล็กน้อย หากว่าเป็นแล้ว สิ่งที่เสียไปค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าจัดการ ค่าการดูแลรักษา และอื่นๆ ค่าเสียโอกาส เราเพิ่มไม่กี่ตังค์ ผลผลิตได้มาอีกเยอะ
ในมะละกอ ส่วนใหญ่ใช้ขนาด 500 ซีซี มะละกอซื้อขนาดใหญ่ 1 ลิตร ราคาเกือบ 500 บาท ฉีดพ่นถัง 200 ลิตร ได้ 5 ถัง เฉลี่ยไม่กี่บาท หากเสี่ยง เมื่อเกิดต้องโค่นทิ้ง
ผลิตภัณฑ์ออกมาหลายปีแล้ว เปอร์เซ็นต์ของการต้านทาน ใช้แต่เด็กคือต้นเล็ก โอกาสเป็นแทบไม่มี
ผมแนะนำให้ใช้กับตัวอื่นด้วยคือ แคลเซียมโบรอน บวกกับอะมิโนแอซิดด้วย ถ้าฉีดต้นที่เป็น ใบใหม่ออกมาจะดี
อิมมูนพลัส ไม่ใช่สารเคมี เราเน้นสร้างภูมิตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้กลไกของพืชสร้างสารขึ้นมาป้องกันตนเอง
ใช้ได้ทุกอย่างในมละกอ ในผัก พริก พืชทุกชนิดทำได้ หากเราใช้ การใช้สารเคมีชนิดอื่นก็จะน้อยลง
ที่มา: ลิขสิทธิ์ 2006 สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดอุบลราชธานี โทรศัพท์ : (045) 318-199
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น