บันทึกไว้เป็นเกียรติ/พันธุ์มะละกอ ที่น่าปลูก ในปี 2556
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศคอลัมน์ประจำ
วันที่ 05 สิงหาคม 2556
อ่าน 12,22 ครั้ง | |
พิมพ์ | |
“มะละกอ”
ยังจัดเป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยมานานและมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคน
ไทยทุกระดับชั้น
ปัจจุบันความต้องการบริโภคมะละกอภายในประเทศมีปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ
ทั้งในรูปของการบริโภคดิบและบริโภคสุก
มะละกอดิบนับเป็นอาหารหลักของคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นิยมนำไปทำส้มตำหรืออาจจะกล่าวได้ว่า ส้มตำ
เป็นอาหารหลักของคนอีสานก็ว่าได้ แม้แต่คนไทยในภาคอื่นๆ
ส้มตำ
จัดเป็นอาหารยอดนิยม นอกจากนั้น
มะละกอสุกยังจัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง
หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่สูงมากนัก
แต่เดิมคนไทยจะคุ้นเคยกับมะละกอพันธุ์แขกดำและพันธุ์แขกนวล
โดยพันธุ์แขกดำนำมาบริโภคได้ทั้งดิบและสุก
ในขณะที่พันธุ์แขกนวลนิยมนำมาทำเป็นส้มตำ
ปัจจุบันเกษตรกรไทยเริ่มขยายพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ “ครั่ง”
กันมากขึ้น
เนื่องจากเป็นสายพันธุ์มะละกอไทยที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อบริโภคดิบ
เพื่อนำมาทำส้มตำโดยเฉพาะ เนื้อกรอบและรสชาติอร่อยมาก นอกจากนั้น
ยังมีมะละกออีกหลายๆ
สายพันธุ์ที่น่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกและบริโภค เช่น
มะละกอ “ขอนแก่น 80” และมะละกอยักษ์ “เรดแคริเบี้ยน” เป็นต้น
1. “มะละกอแขกดำศรีสะเกษ”
“มะละกอแขกดำศรีสะเกษ” สาย
พันธุ์มะละกอที่ดีพันธุ์หนึ่งของไทย
เป็นมะละกอไทยอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
กรมวิชาการเกษตร
ได้รวบรวมพันธุ์มะละกอแขกดำจากจังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครราชสีมา
โดยได้นำเมล็ดมาปลูกในระหว่างปี พ.ศ. 2527-2533 เพื่อศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์แขกดำที่ให้ผลผลิตสูงและได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า “แขกดำศรีสะเกษ” ปัจจุบันมะละกอสายพันธุ์นี้มีการขยายพื้นที่ปลูกกันทั่วประเทศ เนื่องจากสามารถนำมาบริโภคได้ทั้งดิบและสุก
ลักษณะ
ดีเด่นของมะละกอแขกดำศรีสะเกษ เป็นมะละกอที่ให้ผลผลิตดกและติดผลไว
ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดีพอประมาณจะให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น ประมาณ 50
กิโลกรัม ต่อปี และให้ผลผลิตสูงกว่ามะละกอแขกดำที่มีปลูกอยู่ทั่วไป
(มีรายงานผลผลิตจากแปลงศึกษาและรวบรวมพันธุ์มะละกอแขกดำอื่นๆ
โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ผลผลิตได้เฉลี่ยเพียง 6-12 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี เท่านั้น) นอกจากนั้น ยังพบว่ามะละกอแขกดำศรีสะเกษมีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์สูงกว่า
สำหรับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะละกอแขกดำศรีสะเกษ จะเริ่มออกดอกเฉลี่ย 130 วัน หลังจากลงหลุมปลูก เมื่อมะละกอเริ่มติดผลแรกต้นจะมีความสูงประมาณ 1.50 เมตร และเก็บเกี่ยวผลดิบเมื่อผลมีอายุ ประมาณ 3-4 เดือน หลังจากดอกบาน และเก็บเกี่ยวผลสุกเมื่อผลมีอายุได้ 5-6 เดือน น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.28 กิโลกรัม เมื่อผ่าดูลักษณะภายในผลสุกจะมีเนื้อสีแดงอมส้ม ความหนาของเนื้อ 2.5 เซนติเมตร มีความหวานเฉลี่ย 10-13 องศาบริกซ์ คุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งของมะละกอ “แขกดำศรีสะเกษ” คือสามารถนำมาบริโภคได้ทั้งดิบและสุก นอกจากนั้น ยังปลูกเพื่อส่งขายโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลไม้กระป๋อง
2. “ครั่ง”
“ครั่ง” มะละกอเพื่อใช้ทำส้มตำโดยเฉพาะ ลักษณะประจำพันธุ์ของมะละกอพันธุ์ครั่งมีดังนี้ “เมื่อต้นมะละกอมีอายุ 1-3 เดือน จะมีสีแดงอมม่วงอ่อนตามก้านใบและเป็นจุดๆ ตามลำต้น เมื่อต้นมีอายุได้ 5 เดือน สีที่ก้านและจุดประตามต้นจะหายไป เมื่อผลผลิตแก่จะมีความยาวของผลเฉลี่ย 47 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผลเฉลี่ย 9 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.9 กิโลกรัม และมีจำนวนผลเฉลี่ย 38
ผล ต่อต้น
ลักษณะเด่นของมะละกอพันธุ์ครั่งเหมาะที่จะใช้เป็นมะละกอเพื่อการทำส้มตำ
เนื่องจากเนื้อมีสีขาวขุ่น กรอบและหวาน
ถ้าปล่อยให้ผลสุกเนื้อจะมีสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวาน
(เปอร์เซ็นต์ความหวานเฉลี่ย 12.7 องศาบริกซ์)
สรุป
ลักษณะโดยภาพรวมของมะละกอพันธุ์ครั่งที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร
จังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง)
ได้คัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ดังนี้
1. เนื้อของผลหนาประมาณ 2.15
เซนติเมตร มีความกรอบ เนื้อดิบสีขาวขุ่น (เนื้อไม่แข็งกระด้าง)
รสชาติหวานเล็กน้อยแต่หวานกว่าพันธุ์แขกนวลซึ่งมีรสชาติจืด
แม้จะมีการปลิดผลลงจากต้นแล้ว นานเป็นเวลา 5-7 วัน รสชาติของมะละกอยังคงสภาพความกรอบได้ดี
2. มะละกอพันธุ์ “ครั่ง” ยังคงมี 3
เพศ คือ ต้นกะเทย ต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย
เกษตรกรที่นำเมล็ดไปปลูกจะต้องมีการคัดเลือกต้นในแปลงอีกครั้งหนึ่ง
แต่สำหรับผลผลิตมะละกอที่ได้จากต้นตัวเมียยังคงมีลักษณะของผลที่เป็นทรง
ยาวอยู่ ไม่เหมือนกับมะละกอสายพันธุ์อื่นที่มีผลเป็นทรงกลม
3. จากการศึกษาในแปลงปลูก พบว่า มะละกอพันธุ์ครั่ง มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ในระดับหนึ่ง ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดี
4. มะละกอพันธุ์ครั่ง จะมีลักษณะเหมือนกับว่ามีมะละกอ 2
สายพันธุ์ อยู่ในต้นเดียวกันคือ
ในระยะต้นเล็กจะมีสีแดงอมม่วงตามก้านใบและจุดตามลำต้นคล้ายกับมะละกอพันธุ์
โกโก้ และเมื่อต้นโตขึ้นสีเหล่านั้นจะหายไป
ในขณะที่พันธุ์โกโก้สีและจุดยังคงเดิม
เมื่อผลสุกเนื้อของมะละกอพันธุ์ครั่งจะมีสีเหลืองอมส้มคล้ายกับพันธุ์สายน้ำ
ผึ้ง
5. ถึงแม้มะละกอพันธุ์ครั่งจะเหมาะสำหรับการบริโภคดิบคือ ใช้ทำส้มตำ เมื่อผลสุกจะมีรสชาติหวาน ความหวานเฉลี่ย 12.7 องศาบริกซ์ แต่จะเก็บเกี่ยวให้มีรสชาติอร่อยจะต้องเก็บที่ความแก่ 50 เปอร์เซ็นต์ คือผลมีสีเหลืองประมาณครึ่งผล หลังจากที่เก็บผลลงมาแล้ว ทิ้งไว้เพียง 1 คืน ควรจะนำมาบริโภค หากทิ้งไว้เกิน 3 วัน เนื้อจะเละ
6. มะละกอพันธุ์ครั่งที่คัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาใหม่จะเป็นมะละกอต้นเตี้ย มีผลใหญ่และยาว ลักษณะของผลมีร่องข้างผลยาวตลอดหัวท้ายผล
7. มะละกอพันธุ์ครั่งสามารถเก็บผลดิบเพื่อบริโภคเป็นมะละกอส้มตำได้หลังจากปลูกไปได้เพียง 6 เดือน
3. “มะละกอขอนแก่น 80”
“มะละกอขอนแก่น 80” ทาง
เลือกใหม่ ผลเล็ก รับประทานสุกอร่อย
มะละกอเป็นผลไม้ยอดนิยมชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก
สามารถขึ้นได้ดีในเขตร้อนและกึ่งร้อน
รวมทั้งประเทศไทยที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม
สามารถปลูกมะละกอคุณภาพดีส่งไปขายต่างประเทศได้
แต่ปริมาณการส่งออกในปัจจุบันไม่มากนัก ส่วนใหญ่ 90% ใช้บริโภคภายในประเทศ แต่ในอนาคตมะละกอน่าจะเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้
การปลูกมะละกอของไทย ที่ผ่านมาประสบปัญหาการระบาดของโรคจุดวงแหวน เช่น
เดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังขาดแคลนมะละกอพันธุ์ดี
ประกอบกับมะละกอมีความแปรปรวนทางสายพันธุ์สูง และพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า
เช่น แขกดำ แขกนวล ฯลฯ เป็นมะละกอผลขนาดกลางเหมาะสำหรับบริโภคดิบ (ทำส้มตำ)
และส่งโรงงานแปรรูป รสชาติอร่อย แต่มีจุดอ่อนที่อ่อนแอต่อโรคจุดวงแหวน
พันธุ์มะละกอที่เป็นฐานพันธุกรรมซึ่งนำมาปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์ขอนแก่น 80 นี้ได้มาจากมะละกอ 2 พันธุ์ คือ Florida Tolerant (Florida Tolerant เป็นมะละกอที่มีดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละต้น มีผลขนาดเล็กกลม น้ำหนัก 400-700 กรัม เมื่อสุกมีสีเหลืองส้ม ผลสุกเก็บเกี่ยวได้ภายใน 5-6 เดือน มีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนดีมาก) ลักษณะเด่นมะละกอ “ขอนแก่น 80” จากผลการศึกษาศักยภาพการปลูกมะละกอขอนแก่น 80 พบว่า มีการเจริญเติบโตทั่วไปดีและสม่ำเสมอ ดอกแรกบานเมื่ออายุ 74 วัน และติดผลแรกเมื่ออายุ 81 วัน ความสูงเมื่ออายุ 7 เดือน เฉลี่ย 132 เซนติเมตร
ผลแรกเริ่มสุก เมื่ออายุ 7 เดือน หลังย้ายปลูก มีรูปร่างผลสม่ำเสมอเป็นรูปรี ส่วนหัวเล็ก ก้นปล่อง น้ำหนักผลเฉลี่ย 800 กรัม ผลสุกเนื้อสีแดงส้ม รสชาติหวานหอม ความหวานเฉลี่ย 13-14 องศาบริกซ์ ผลผลิตเท่ากับ 6,000
กิโลกรัม ต่อไร่ และที่สำคัญมีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนได้ดี
ถึงแม้จะแสดงอาการเหลืองด่างที่ใบ แต่ไม่มีอาการที่ผล นอกจากนี้
ผลมีผิวเป็นมัน เปลือกหนา จึงทนทานต่อการขนส่งได้ดี เนื้อแน่น
และหลังการเก็บเกี่ยวสุกช้ากว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ผลมีขนาดเล็ก
รสชาติหวานจัด รับประทานอร่อยมาก มีกลิ่นหอม
เป็นมะละกอเหมาะที่จะผ่าและใช้ช้อนตักรับประทาน เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีมาก
มีศักยภาพที่จะเป็นพันธุ์แนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าทางเลือก
หนึ่งได้
จากการทดสอบ พบว่า สายพันธุ์ขอนแก่น 80
มีคุณภาพดีเด่นใกล้เคียงกับพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ
ซึ่งเป็นพันธุ์การค้าในปัจจุบัน แต่เป็นพันธุ์ผลขนาดกลาง
และปัจจุบันทั้งคนไทยและต่างประเทศนิยมรับประทานมะละกอสุกผลเล็ก เนื้อสีแดง
ดังนั้น มะละกอสายพันธุ์ขอนแก่น 80
ที่มีความดีเด่นในแง่ความหวานและขนาดของผลที่เล็กกว่า
อาจใช้เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับบริโภคสุก
สมควรใช้เป็นพันธุ์แนะนำแก่เกษตรกรปลูกเป็นการค้า ขายในประเทศ
และเพื่อการส่งออก
4. “เรดแคริเบี้ยน”
มะละกอยักษ์ “เรดแคริเบี้ยน” มะละกอสายพันธุ์ใหม่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (081) 886-7398 ได้เมล็ดพันธุ์มาจากประเทศทางแถบอเมริกากลางและนำมาคัดเลือกพันธุ์นานกว่า 10 ปี ได้ผลผลิตมะละกอที่มีคุณลักษณะดังนี้ “ขนาดผลคล้ายกับมะละกอเรดมาราดอล์ หรือมะละกอฮอลแลนด์แต่มีขนาดของผลใหญ่กว่ามาก (ขนาดผลใหญ่กว่าเท่าตัว) น้ำหนักผลเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม เนื้อหนามาก ผลสุกมีสีแดงส้มและรสชาติหวาน กลิ่นหอม จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่าต้นมะละกอยักษ์ “เรดแคริเบี้ยน” มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่าพันธุ์อื่น มีโรงงานแปรรูปติดต่อเข้ามาบอกว่ามะละกอ “เรดแคริเบี้ยน” มีเนื้อหนา สีสวย เหมาะแก่นำไปแปรรูปบรรจุกระป๋อง
โดย
ปกติแล้ว มะละกอสามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด
แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยมีการระบายน้ำที่ดี เช่น
ดินร่วนปนทราย ถ้าพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายจัด
เราควรปรับปรุงดินก่อนโดยการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดี การระบายน้ำของแปลงปลูกมะละกอจะต้องดี
เพราะต้นมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังแฉะโดยเฉพาะถ้าต้นมะละกอยังเล็ก
ถ้ามีน้ำขังมากๆ ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้
การเตรียมดินและปลูกมะละกอ ถ้าสภาพดินปลูกมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ในอัตรา 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วตากทิ้งไว้ 10-15 วันหลังจากนั้นไถยกร่อง สูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เมตร เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณหลุมปลูก ในการเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 2.0-2.5 เมตร ใส่แกลบดิบและแกลบเผาอย่างละครึ่งปี๊บ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 5 กิโลกรัม หินฟอสเฟตบด 1 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 150 กรัม ผสมดินในหลุมปลูกกับวัสดุปรับปรุงดิน รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี หว่านเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 50-100 กรัม ต่อหลุม เพื่อลดการสูญเสียจากโรครากเน่าโคนเน่า คลุมบริเวณหลุมปลูกด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงปลูกได้
ในการเพาะกล้าและย้ายกล้าปลูก คลุกเมล็ดพันธุ์มะละกอด้วยสารกำจัดเชื้อราเมตาแลกซิล เพาะเมล็ดในถุงพลาสติก ขนาด 4x6 นิ้ว จำนวน 3 เมล็ด ต่อถุง เมื่อต้นกล้าอายุ 45
วัน จึงย้ายลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ไม่ควรปลูกลึกจะทำให้รากเน่า
การคัดเพศ เมื่อมะละกอแสดงเพศแล้วจึงถอนแยกให้เหลือต้นกะเทยผลยาวไว้หลุมละ 1 ต้น ในการใส่ปุ๋ยระยะก่อนติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม ต่อหลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 เดือนละครั้ง ครั้งละ 100-150 กรัม ต่อหลุม หลังติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม ต่อหลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 อัตรา 150 กรัม ต่อหลุม เดือนละครั้ง
หลังจากปลูกต้นกล้ามะละกอไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ต้นมะละกอจะเริ่มออกดอก ให้เกษตรกรสังเกตดูการออกดอกของต้นมะละกอภายในหลุมทั้ง 3
ต้น ว่าต้นใดเป็นต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทย
ให้คัดต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกะเทยไว้เพียงต้นเดียว สำหรับต้นตัวเมีย
(ผลป้อม) ถ้าไม่ต้องการก็ตัดทิ้ง เพราะผลผลิตที่ออกมาจะเป็นลูกป้อม
และถ้าเป็นตัวผู้ให้ตัดทิ้งเลย
โดยปกติแล้วต้นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกะเทยนั้น ตลาดจะต้องการมากที่สุด
การ
บำรุงรักษามะละกอ ในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอด อย่าให้ดินแห้ง
ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องให้น้ำ
แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น
โดยเสริมร่องปลูกให้สูงอยู่เสมอ ในช่วง 1-2
เดือนแรกหลังปลูก
มักพบโรครากเน่าและโคนเน่าจึงควรราดโคนต้นมะละกอด้วยสารเทอร์ราคลอร์
ซุปเปอร์-เอ็กซ์ ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกันจะมีโรครากเน่าโคนเน่าระบาดมาก
แม้มะละกอจะออกดอกหรือติดผลแล้ว จึงต้องราดโคนด้วยสาร ทุกๆ 15 วัน เป็นที่สังเกตว่าการหว่านเชื้อไตรโคเดอร์ม่าก่อนปลูกและหว่านซ้ำทุกๆ 4
เดือน จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่ง ไม่ควรใช้จอบถางบริเวณโคนต้น
เพราะรากจะถูกตัดขาดโรคเข้าทำลายได้
แต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีวัชพืชขึ้น
นอกทรงพุ่มต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้น
ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอจะช่วยลดวัชพืชและรักษาความ
ชื้นในดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น