มะละกอยังใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ส้มตำ แกงส้ม มะละกอสุก
ใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่อร่อยมีวิตามินเอสูง
และยังช่วยระบายท้องไม่ทำให้ท้องผูก
นอกจากนั้นมะละกอยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารและขนมได้หลายชนิด เช่น
ตั้งฉ่ายมะละกอ ซีเช็กฉ่ายมะละกอ แยมมะละกอ มะละกอแก้ว มะละกอแห้งสามรส
เป็นต้น
มะละกอเป็นพืชที่ปลูกง่าย
เจริญงอกงามได้ในดินเกือบทุกชนิดและไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี
แต่การจะให้มะละกอออกผลดกและมีคุณภาพ
จำเป็นต้องมีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และน้ำหมักชีวภาพ
มะละกอมีโรคและแมลงรบกวนบ้าง
ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยใช้สมุนไพรทดแทนได้
พันธุ์มะละกอ
มะละกอมีหลายพันธุ์ด้วยกันควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ ประโยชน์ เช่น ถ้าต้องการรับประทานมะละกอดิบควรใช้พันธุ์แขกดำ ถ้ามะละกอสุกควรใช้พันธุ์แขกนวล เป็นต้น
1. แขกดำ(ดำเนินสะดวก)เป็นมะละกอต้นเตี้ยให้ผลเร็วติด ผลดก ผลเป็นทรงกระบอก ส่วนหัวคอดเรียวเข้าหาขั้ว ปลายผลแหลมเล็กน้อยเนื้อหนาแน่น สีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม มีรสหวาน เหมาะสำหรับใช้รับประทานผลดิบ แต่จะมีปัญหาไม่ค่อยต้านทานโรคใบด่าง
2. แขกดำ(ศรีสะเกษ)เป็นมะละกอต้นเตี้ยติดผลเร็วผลทรง กระบอกยาว หัวคอดเข้าหาขั้ว ปลายผลสอบเป็นมุมบ้านเข้าหากันเนื้อหนาแน่นสีแดงเข้ม มีรสหวาน ต้านทานโรคใบด่างได้ดีกว่า
3. แขกนวล เป็นมะละกอต้นเตี้ย ให้ผลดก ผลค่อนข้างใหญ่ รูปร่างคล้ายหยดน้ำ หัวเรียวเล็กและค่อย ๆป่องขึ้นใกล้บริเวณปลายผลแล้วสอบเข้าหากัน เนื้อสีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน เหมาะสำหรับใช้รับประทาน
4. แขกหลอด เป็นมะละกอต้นเตี้ย ติดผลดก ผลทรงกระบอก ขนาดลึกยาว ส่วนหัวคอดเรียวเข้าหาขั้ว ปลายเรียวแหลม ปลายอาจจะงอเล็กน้อย เนื้อแน่นหนา เมล็ดน้อย เนื้อสีแดงเข้ม รสหวานเหมาะสำหรับใช้รับประทานผลสุก
5. พันธุ์โกโก้ก้านดำ เป็นมะละกอพันธุ์ต้นเตี้ยก้านใบยาวสีม่วงแดงมีดอกตัวผู้มาก ดอกกระเทยน้อย ผลทรงกระบอกยาว มีร่องหยักเล็กน้อยส่วนหัวขั้วป้านมน ส่วนใกล้ปลายผลป่องออก ปลายผลเรียวแหลม เนื้อหนา ไม่ค่อยหวาน เหมาะสำหรับใช้รับประทานผลดิบ
นอกจากนี้ยังมีพันธุ์อื่นๆ อีก เช่น พันธุ์ปากช่อง พันธุ์ท่าพระ เป็นต้น
การขยายพันธุ์
มะละกอสามารถขยายพันธุ์ได้ 3 วิธีคือ การเพาะเมล็ด การเสียบยอดและการเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีที่ทำได้ง่ายก็คือการเพาะเมล็ด ซึ่งมีวิธีการดังนี้ คือ
1. ผสมดิน ปุ๋ยดินหมักชีวภาพและแกลบดำ แล้วกรอกลงถุงเพาะ
2. หยอดเมล็ดมะละกอ 3-4 เมล็ดต่อถุง
3. รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอจนต้นกล้าโตประมาณ 1 คืบ จึงนำไปปลูกในแปลงปลูกได้
4. การเพาะกล้ามะละกอควรเพาะไว้กลางแจ้ง เพื่อจะได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง
การเตรียมแปลงปลูกและการปลูก
มะละกอสามารถเจริญงอกงามในดินทุกสภาพพื้นที่แต่ดินที่เหมาะสมกับการปลูก มะละกอ ควรเป็นดินที่มีอินทรีย์วัตถุมากเป็นดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี สภาพความเป็นกรดด่าง(pH)อยู่ระหว่าง 5.6-6.4
1. การเตรียมแปลงปลูก แปลงปลูกมะละกอควรยกร่องเป็นรูปหลังเต่า หรือรูปสามเหลี่ยม สูงประมาณ 30-50 ซม. กว้าง 1.50-2.00 ม. ร่องระหว่างแปลงกว้าง 1-2 ม. เพื่อช่วยในการระบายน้ำ และเป็นทางเดินเข้าไปกำจัดวัชพืช
2. ระยะปลูก ระยะห่างระหว่างหลุมปลูก ห่างกันประมาณ 2×2 ม. ถึง 3×3 ม.
3. การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมปลูกมีขนาดกว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. ลึก 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 กก. ต่อหลุม แล้วกลบด้วยดิน รดน้ำให้ชุ่ม
4. การปลูก ย้ายต้นกล้าที่เตรียมไว้ นำมาปลูกในหลุมปลูก 2-3 ต้นต่อหลุม เพื่อคัดเลือกเอาต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง กลบดินให้แน่นควรปักไม้ผูกเชือกยึดต้นกล้าไว้ไม่ให้ล้ม รดน้ำให้ชุ่ม
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ ช่วงแรกควรรดน้ำทุกวัน เมื่อต้นกล้าโตขึ้นก็ให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้ง
5.2 การให้ใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ 200 กรัม ต่อต้น เดือนละครั้ง
5.3 การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชด้วยวิธีการถอน ดายหรือถางหรือใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียน เช่น พริก กะเพรา โหระพา แตง และพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจะช่วยคลุมดิน ป้องกันวัชพืชงอกและยังช่วยให้มะละกอได้รับปุ๋ยและน้ำเพิ่มขึ้น
5.4 การเลือกต้นที่ให้ผลยาว เมื่อมะละกอออกดอก ให้สังเกตดูว่าถ้าดอกมีลักษณะก้านของกลีบดอกยาวจะให้ผลยาว ถ้าก้านของกลีบดอกไม่ยาวจะให้ผลกลม ก็ให้ใช้มีดคม ๆ ตัดต้นนั้นทิ้งให้เหลือเพียงต้นเดียวจะได้มะละกอที่มีผลยาว
5.5 การปลิดผล ปกติมะละกอจะติดผลดก เพื่อช่วยให้ได้มะละกอที่มีคุณภาพ ต้นมะละกอมีอายุยืนและป้องกันการโค่นล้ม จำเป็นต้องมีการปลิดผลที่ติดผลกันมากจนแน่น ออกใบบ้าง เช่น ผลเรียวขนาดเล็ด ผลบิดเบี้ยว การปลิดผลจะช่วยให้ได้ผลมะละกอที่เหลืออยู่บนต้นมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดี
6. การเก็บผลผลิต หลังมะละกอติดผล 3-4 เดือน อาจเก็บผลดิบทั้งหมดเลยก็ได้ หรือจะเลือกเก็บบางส่วน ส่วนที่เหลือเก็บเมื่อผลสุก สำหรับการเก็บมะละกอสุก ควรเก็บเมื่อมะละกอเริ่มสุกมีผิวสีเหลืองบนผลประมาณ 5%
วิธีการเก็บให้ใช้มีดตัดขั้วผลให้ยาวชิดลำต้น แล้วจึงนำมาตัดขั้วผลอีกทีหนึ่งให้สั้นลงหรือไว้ประมาณ 1 นิ้ว ไม่ควรใช้วิธีบิดผล เพราะอาจทำให้ขั้วช้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้
โรคและแมลงศัตรูมะละกอ
แมลงศัตรูมะละกอส่วนใหญ่เป็นแมลงประเภทปากดูด
1. เพลี้ยไฟ จะเข้าทำลายในช่วงระยะดอก จะดูดกินน้ำเลี้ยง จะทำให้ผิวของผลมีลักษณะเป็นขี้กลากสีน้ำตาล หรือทำให้ผลแคระแกรน
การป้องกันกำจัด
- ใช้เมล็ดใบสะเดา แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน กรองผสมน้ำอีก 1 เท่า นำไปฉีดพ่น
- ใช้สมุนไพร นำต้นสาบเสือและใบมาตากแดดให้แห้งหรือใช้ใบสดก็ได้นำมาบดหรือโขลกให้ละเอียด แล้วผสมน้ำในอัตราส่วนน้ำหนักผง 400 กรัม ต่อน้ำ 8 ลิตร หรือถ้าใช้สดผสมน้ำในอัตรา ส่วน 1 กก. ต่อน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันทิ้งไว้ 24 ชม. นำมากรองน้ำด้วยผ้าขาวบาง ก่อนใช้อาจผสมสารจับใบ เช่น น้ำสบู่ ในอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 8 ลิตร ถ้าใช้สดผสมครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตรฉีดพ่นทุก ๆ 7 วันในช่วงเย็น
2. ไรแดง จะเข้าทำลายที่ส่วนของผิวใบ ทำให้ใบซีด เป็นฝ้าด่างมักระบาดในช่วงแล้ง ตามปกติจะมีแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าลายคอยกำจัดไรแดง
การป้องกันกำจัด
- เด็ดใบที่ถูกไรแดงทำลายนำไปเผาทิ้ง
- ใช้สมุนไพร ขมิ้น ½ กก. ตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำลงไป 1 ปี๊บ ทิ้งไว้ 1-2 วัน กรองเอาแต่น้ำด้วยผ้าขาวบาง นำไปฉีดพ่นแทนยาฆ่าแมลง
3. เพลี้ยแป้ง จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ ผล และลำต้น และยอดอ่อนทำให้ผลผิดปกติ ลำต้นและยอดแคระแกรน
การป้องกันกำจัด
- ใช้ยาฉุน 1 กก.ต่อน้ำ 2 ลิตร ต้มนาน 2 ซม. (หรือแช่ไว้ 1 คืน) กรองเอาน้ำใช้เป็นหัวเชื้อ ผสมกับน้ำ 2 ปี๊บ เติมน้ำสบู่ร่วมด้วยก็ได้ นำไปฉีดพ่น
สำหรับโรคมะละกอส่วนใหญ่ที่พบมี
1. โรคใบด่าง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่มากับแมลงศัตรูมะละกอ เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยฝ้าย จะทำให้ใบมีสีเหลืองโปร่งแสง มีอาการเขียวด่าง เมื่ออาการรุนแรงใบจะหงิก ใบแคบเหลือเพียงเส้นกลางใบผลเป็นจุดรูปวงแหวน ผลบิดเบี้ยว ขนาดเล็ก แคระแกรน
การป้องกันกำจัด
- ใช้สมุนไพรเมล็ด หรือใบสะเดากำจัดแมลงพาหะ เช่น กำจัดเพลี้ยอ่อน เพลี้ยฝ้าย
- ตัดต้นที่เป็นโรคเผาทำลายทันที ถ้ามีการระบาดให้ปล่อยแปลงปลูกให้ว่างไว้ประมาณ 3 เดือน แล้วจึงปลูกใหม่
2. โรคโคนเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มักพบในช่วงฝนตกชุกหรือมีน้ำท่วมขัง การที่ลายจะพบยางไหลและเน่าระดับดินทำให้เนื้อของต้นเป็นสีน้ำตาลหรือดำและ ฉ่ำน้ำ แผลจะยุบตัว ต่อมาใบจะเหี่ยวแล้วจะยืนตายหรือล้มตาย เนื้อในลำต้นเน่าเละ
การป้องกันกำจัด
- อย่าให้มีน้ำท่วมขัง
- บริเวณรอบโคนต้นไม้ควรมีเศษใบมะละกอหรือเศษหญ้าทับถมหมักหมมจนอับชื้น ต้องให้โคนต้นมีโอกาสแห้งบ้าง
- ถ้าพบอาการยางไหล ให้ใช้ปูนแดงทา
- ถ้าพบอาการในต้นเล็ก ให้ถอนทำลายทิ้ง
3. โรคแอนแทรกโนส มีสาเหตุมาจากเชื้อรา มักจะพบอาการที่ใบแก่และผลแก่ โดยจะมีจุดสีเหลือง ตรงกลางจุดจะเป็นแผลและแห้งตาย แผลจะยุบตัว ปากแผลจะขยายกว้างเป็นวง
การป้องกันกำจัด
- การเตรียมดินก่อนปลูก พรวนดิน โดยผสมกับใบมะรุม(ใบบะค้อนก้อม) พลิกดินตากแดดจัด ๆ นาน 3-4 วัน จะฆ่าเชื้อราได้บางส่วน และยังสามารถฆ่าไข่ของแมลงและไส้เดือนฝอยในดินได้ด้วย จากนั้นผสมปุ๋ยหมัก ขี้แกลบเผา เปลือกไข่ ใบพืช กระถิน ใบถั่วมะแฮะ ใบแคฝรั่งสดลงไป คลุมด้วยใบกระถิน มะแฮะ ตะไคร้ หรือฟางสะอาด ทิ้งไว้ 3 วัน ก็นำกล้ามาปลูกได้
- ไม่ปลูกพืชนี้ในแปลงเดิม ให้ย้ายที่ปลูก ปลูกพืชหมุนเวียนที่ต่างชนิดต่างตระกูลกัน
- พบพืชแสดงอาการให้ถอนทิ้งกำจัดหญ้า
เก็บลูกที่ร่วงหล่นไปทำลายเผาหรือนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก
เพื่อกำจัดสปอร์ของเชื้อรา จากนั้นใช้น้ำปูนใสเข้มข้นฉีดพ่นในแปลงตอนเช้า
พ่นในวันแดดจัดได้ยิ่งดี
ที่มา: ไทยเกษตรศาสตร์ เว็บรวบรวมวิชาความรู้ด้านการเกษตรของไทย
http://www.thaikasetsart.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%84/
ที่มา: ไทยเกษตรศาสตร์ เว็บรวบรวมวิชาความรู้ด้านการเกษตรของไทย
http://www.thaikasetsart.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%84/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น