วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

ไผ่ (7) ปลูกไผ่ตงลืมแล้ง

วิธีการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง             
ข้อมูลทั่วไปของไผ่ตงลืมแล้ง



ไผ่ตงลืมแล้งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  DENDROCALAMUS ASPER  BACKER   อยู่ในวงศ์ GRAMINEA  ลำต้นสูงได้กว่า 15 เมตร. ลำต้นเป็นข้อหรือปล้อง ระหว่างข้อหรือปล้องยาวประมาณ 30-50ซม. ลักษณะของข้อนูนเห็นได้ชัดเจน สีของลำไผ่ตงลืมแล้งเขียวเข้มเป็นมันไม่มีขน เนื้อในลำต้นจะตันหรือเกือบตัน อาจมีรูเล็กๆไม่กลวงเหมือนลำไผ่ทั่วไป น้ำหนักเฉลี่ยของหน่ออยู่ประมาณ 1.5-3.0 กิโลกรัม/หน่อ เนื้อของหน่อที่รับประทานได้มีประมาณ 75% ของ หน่อ สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ทนต่อสภาวะต่างๆได้ดี ไม่เปลืองสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้ปลอดจากสารเคมี และ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยดีที่สุดสำหรับการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง ใช้เวลาสั้นในการเก็บเกี่ยวผลผลิต(ประมาณ1ปี)ปลูกง่าย โตไว รายได้ดี  (คืนทุนเร็ว ความเสี่ยงน้อย)



การปลูกไผ่ตงลืมแล้ง

ฤดูที่เหมาะสม ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือราวเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม


การเตรียมพื้นที่ปลูก

พื้นที่ จะปลูกควรตัดโค่นไม้ใหญ่ออก เพราะจะไปแย่งอาหารจากไผ่ ถ้าได้พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำจะดีมาก เพราะไผ่เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ไผ่ทั่วไปไม่ชอบน้ำขังแต่สำหรับไผ่ตงลืมแล้งน้ำท่วมขังก็ไม่ตาย ได้ทดลองโดยจมอยู่ในน้ำนานถึง 4เดือนก็ไม่เป็นอะไร(แต่ต้องปลูกเกิน6เดือนแล้ว)  เริ่มการเตรียมพื้นที่ปลูกโดยการไถหยาบด้วย ผาน 3 ตากแดดให้ดินแห้งเพื่อกำจัดเชื้อราและวัชพืชบางชนิด ทิ้งไว้ สัก 5-7 วัน ไถละเอียดด้วยผาน 7 อีกครั้ง เป็นอันใช้ได้ หรือหากใครไม่รีบร้อน ไถผาน 3 แล้ว หว่านปอเทือง พอต้นโตออกดอกแล้ว ไถกลบด้วย ผาน 7 เพื่อปรับสภาพดินก่อน จะดีมากเลยครับ 


จำนวนกิ่งพันธุ์ที่ที่ใช้ ต่อ 1ไร่

 ระยะห่างระหว่างต้น    3 เมตร

 ระยะห่างระหว่างแถว  4 เมตร ใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ  120   กิ่ง


หลักการคำนวณ

 400 ตารางวา  =   1 ไร่      หรือ       1,600 ตาราเมตร    = 1 ไร่

เพราะฉะนั้นพื้นที่  1,600 ตรม.  จะมีพื้นที่ขนาด กว้าง*ยาว   40เมตร*40 ม.


ต้องการปลูกระยะระหว่างแถว 4 เมตร (กั้นทางเดินไว้เก็บเกี่ยว)ต้องใช้ต้นไผ่


40/4=10ต้น    


ต้องการปลูกระยะระหว่างต้น  3 เมตร


ต้องใช้กิ่งพันธุ์  40/3 = 12 ต้น


พื้นที่  1   ไร่   จะใช้ต้นไผ่        ( 10*12  ต้น) = 120   ต้น


ที่กำหนดไว้   1ไร่ ควรปลูก ประมาณ  (100-120 ต้น)เพื่อความยืดหยุ่นของแต่ละบุคคลและสถานที่

ต้องเว้นพื้นที่ไว้เพื่อทำถนน และอื่นๆจำนวนที่เหมาะที่สุดอยู่ที่ไร่ละ100ต้นครับ



วิธีปลูกไผ่ตงลืมแล้ง

ขุดหลุมปลูก ขนาดมาตรฐาน 40x40x40 ซ.ม. (แนะนำว่าหากใครจ้างคนงานปลูกควรดูให้ดี ระวังจะหดเหลือ 15-20 ซ.ม. แทน แต่ขนาดของหลุมก็ขึ้นอยู่กับสภาพของดินถ้าเป็นร่วนปนทรายหลุมก็ไม่จำเป็น ต้องใหญ่ขนาดนั้นบางพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวหลุมจะอยู่ที่25x25ซ.ม.) ระยะห่างระหว่างต้น ที่สวนโพธิ์พระยา (ตงลืมแล้ง)ผมปลูกไผ่ขนาด 3x4 เมตร. โดยขุดหลุมและนำดินขึ้นมากองไว้ใส่ปุ๋ยคอกผสมกับหน้าดินที่ขุดขึ้นมาลงไปประมาณ 0.5-1.0 กิโลกรัม    ถ้าใครไม่แน่ใจว่าดินแถวนี้มีปลวกเยอะหรือเปล่าก็แนะนำให้ใส่ยาฆ่าแมลงฟูราดานลงไปด้วย 1 ช้อนชา ผสมดินกับปุ๋ยคอกให้เข้ากันรองก้นหลุมด้วยดินที่ผสมปุ๋ยคอกแล้วให้ สูงจากดินก้นหลุม ประมาณ 10-15 ซม. แล้วนำต้นกล้าไผ่ตงลืมแล้งวางลงไปในหลุมให้วางกิ่งไผ่เอียงประมาณ 50-60 องศา(เพื่อหน่อต่อไปจะได้แทงขึ้นตรงและเร็ว) ฉีกถุงพลาสติกออกก่อนวางกิ่งพันธุ์ กลบดินจนพูน ตอนนี้ให้รดน้ำและอัดดินให้แน่น(สำคัญ) เมื่อดินล่างแน่นแล้วให้กลบดินทั้งหมดลงไป พูนดินบริเวณโคนกิ่งไผ่ให้เป็นเนินสูงเล็กน้อย ใช้ไม้ปักเป็นหลักตอกยึดกิ่งไผ่ไว้ให้แน่นเพื่อกันลมโยก ถ้าลมแถวนั้นแรง ถ้าลมไม่แรงมากไม่ต้องปักหลักไม้ ใช้เชือกปอแก้วบางๆมัดให้แน่น  รด น้ำให้ชุ่มเมื่อดินยุบตัวแล้วจะเสมอกับพื้นที่ปลูกพอดี ถ้าจะทำอย่างละเอียด (มีเวลามาก) ควรใช้ทางมะพร้าวหรือวัสดุอื่นช่วยพรางแสงแดดจนกว่าต้นกล้าจะมีใบใหญ่ และตั้งตัวได้ แล้วจึงค่อยเอาออก แต่ถ้าปลูกหน้าฝนผมขอเสนอว่า ไม่ต้องครับ


การดูแลรักษาไผ่ตงลืมแล้ง                                                                                                      
ควรทำการบำรุงรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
1. การให้น้ำ
       ช่วง แรก (โดยเฉพาะ 1-3 เดือน) ต้นไผ่ต้องการน้ำมาก ควรให้น้ำวันเว้นวัน แต่ถ้าปลูกไผ่ในฤดูฝน อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำถี่ขนาดนั้นก็ได้(เพราะฉะนั้นเราควรจะปลูกไผ่กันใน ฤดูฝนเพื่อลดต้นทุนต่างๆ) นอกจากในกรณีฝนทิ้งช่วงนาน จึงให้น้ำช่วย แต่หลังจากหมดฝนแล้ว ผู้ปลูกต้องคอยรดน้ำให้เสมออย่าปล่อยให้ขาดน้ำนาน เพราะในปีแรกต้นไผ่ยังไม่ค่อยแข็งแรงนักถ้าไม่มีน้ำ อาจตายได้โดยง่าย หลังจากต้นไผ่อายุเกิน
6-8 เดือน ไปแล้ว จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น


2. การใส่ปุ๋ย
       ใน ช่วงต้นปีแรก (1-3เดือน)ต้นไผ่สามารถใช้ปุ๋ยคอกที่คลุกเคล้าไปกับดินที่ปลูกได้พอ แต่ในระยะต่อๆ ไป จำเป็นต้องมีการพรวนดินรอบๆกอและใส่ปุ๋ยคอก 1เดือน/ครั้ง ครั้งละประมาณ2-3กกในระยะนี้อาจจะเห็นว่าหน่อที่แตกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กและ จะมีขนาดโตขึ้นทุกๆ ปี ถ้าความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ดีพอเพียง แต่ถ้าจะให้ผลรวดเร็วควรจะให้ปุ๋ยเคมี 46-0-0 เร่ง ประมาณ2-3กำมือ/กอ/เดือน จะทำให้ไผ่เกิดหน่อปริมาณมากตลอดปี เดือนที่7 จะทำการตัดแต่งกอและพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมพรวนดินอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะพรวนดินยาก
       ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ (กรณีพิเศษ)จะใส่ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ถึง พ.ค. ปุ๋ยที่นิยมคือใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ในอัตรา 2-3กิโลกรัมต่อ กอ/เดือน   หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 200กรัมต่อกอ และปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0   200กรัม/กอ (เร่งหน่อเพื่อขาย ก่อนหน่อไม้ไทยจะเริ่มออกหน่อ)

3.การไว้ลำและการตัดแต่งกอไผ่ตงลืมแล้ง
       ไผ่ตงลืมแล้ง เมื่อปลูกได้ประมาณ  3-4 เดือนจะเริ่มแตกหน่อได้ประมาณ 2-3 ลำ ในระยะแรกนี้จะไม่มีการตัดหน่อเลย ปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอไผ่ในช่วงนี้จะทำการตัดลำต้นที่เล็กออกไป ไม่ต้องเสียดาย ให้ เหลือไว้เฉพาะลำที่ใหญ่ ลำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้วตัดทิ้งให้หมด วิธีการตัด ต้องตัดให้จมดิน อย่าให้มีตาเหลืออยู่อีก(ไม่ต้องการให้ขยายพันธุ์อีก)  กิ่ง แขนงเล็กๆ บริเวณโคนต้นที่ขึ้นเกะกะของลำแม่ควรตัดแต่งให้โล่ง(แสงแดดส่องถึงพื้นได้) เพื่อสะดวกในการให้น้ำและดูแล เมื่อต้นไผ่อายุได้ประมาณ
7-8 เดือนจะมีหน่อแทงขึ้นมาอีก 5-6 หน่อ ตอนนี้ก็ยังไม่มีการตัดหน่อ ปล่อยให้ไผ่เป็นลำต่อไป แต่ถ้าพื้นที่ตรงนั้นดินอุดมสมบูรณ์ดี หน่อออกเยอะเราควรตัดขายไปบ้าง เช่นถ้าขึ้นมา 5หน่อให้ตัดขายไป 3หน่อ แต่ให้เลือกเอาหน่อที่สมบูรณ์ไว้(หน่อที่เบียดกันให้ตัดออกขายไป) การดูแลกอไผ่เพียงแค่ตัดเอาหน่อเน่า ลำคดเอียงแคระแกร็นออกและตัดแต่งกิ่งแขนงเล็กๆทิ้ง รักษาลำไผ่ให้มีอยู่ประมาณ 5-6ลำ (ลำใหญ่ๆ) จากนั้นจึงเริ่มตัด  หน่อ ขายบ้าง การตัดหน่อขายนี้ควรจะตัดจากกลางกอก่อนแล้วขยายออกมารอบนอกกอ ซึ่งหน่อนอกๆ ต้องมีการรักษาไว้บ้างเพื่อให้เป็นลำแม่ โดยเลือกหน่อที่อวบใหญ่และอยู่ในลักษณะที่จะขยายออกเป็นวงกลมเพื่อจะทำให้กอ ใหญ่ขึ้น มีหน่อมากขึ้นในปีต่อไป สะดวกที่จะเข้าไปดูแลรักษาและตัดหน่อ
 
      การตัดแต่งกอนั้น ควรทำติดต่อกันทุกๆ ปี  สำหรับไผ่ตงลืมแล้งนี้ควรแต่งกอไผ่ประมาณต้นเดือน  ก.ค.เพราะ ตอนนี้ ไผ่ชนิดอื่นกำลังออกหน่อ ช่วงนี้หน่อไม้ออกเยอะราคาไม่ค่อยดี ควรปล่อยหน่อให้เจริญเป็นลำแม่ได้เต็มที่ พอต้นเดือนตุลาคม จึงค่อยอัดปุ๋ยคอกและน้ำเพื่อเร่งการออกหน่อในช่วงหน้าหนาว และหน้าแล้ง ช่วงนี้ราคาของหน่อไผ่จะดีมาก (พ.ย.-พ.ค.)ของทุกปี

 4. การบังคับให้เกิดหน่อมากขึ้น
 
        ใน การบังคับให้ไผ่ตงลืมแล้งแทงหน่อมากขึ้นตามฤดูกาลนั้น นอกจากการใส่ปุ๋ยและปฏิบัติดูแลตามปกติแล้ว ยังมีวิธีกระตุ้นให้ไผ่ตงแทงหน่อมากขึ้น โดยการสุมไฟในฤดูแล้งช่วงที่ลมสงบ(ปลายเดือน ม.ค-ก.พ.) โดยการรวบรวมใบไผ่และ กิ่งแขนง ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งแล้วนำมากองให้ห่างจากกอประมาณ 1 เมตร จุดไฟเผา แต่ต้องระวังไม่ให้ไฟกรรโชกมาก โดยการพรมน้ำช่วยหรืออาจเอาใบไผ่และกิ่งแขนงสุมในกอเลย แต่ต้องระวังไม่ให้ไฟลามไปติดส่วนบนๆ ของกอ ในการสุมไฟนั้น เข้าใจว่าเป็นการเร่งให้ไผ่ตงมีการพักตัวเร็วขึ้น (hardening) เมื่อก่อนเข้าสู่ฤดูฝนจะได้แทงหน่อมากขึ้น หลังจากที่ได้พักตัวอย่างเต็มที่และการสุมไฟยังช่วยในการกำจัดโรคและแมลงไปพร้อมกันด้วย
 
       นอก จากนี้ ยังมีวิธีการบังคับการออกหน่อวิธีอื่นอีก เช่น การพรวนดินแปลงไผ่ตงลืมแล้ ทั้งในระหว่างแถวและระหว่างต้น โดยทำการพรวนดินในช่วงก่อนฤดูแล้ง ประมาณเดือนก.ค.-ก.ย. เป็นการทำลายรากแก่เพื่อให้แตกรากใหม่ ดังนั้นในการพรวนดิน การให้น้ำ ให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ไผ่ตงลืมแล้งออกหน่อ
เร็ว และดกตลอดปี ส่วนการบังคับให้ไผ่ตงแทงหน่อนอกฤดูปกติก็ทำได้เช่นกัน โดยการบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มรวมกับปุ๋ยคอกและการให้น้ำอย่างถูก ต้อง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงสามารถเร่งหน่อได้ และจะทำได้เฉพาะแปลงปลูกที่มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น(จำเป็น)
 

5. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูของไผ่
         ปกติ ไม่มีการระบาดรุนแรงของโรคและแมลงในสวนไผ่มากนัก มีเพียงแมลงพวกหนอนผีเสื้อกลางคืนมากัดกิน และม้วนใบไผ่เพื่อหลบซ่อนและเป็นที่อาศัยในระยะเป็นดักแด้บ้างเล็กน้อย แมลงที่เข้าทำลายหน่ออ่อนของไม้ไผ่ส่วนมากเป็นประเภทกัดกินหน่อ 4-5 ชนิด คือ หนอนด้วงเจาะหน่อไผ่(ไผ่ตงลืมแล้งไม่ค่อยเจอเพราะลำค่อนข้างตัน), ด้วงกินหน่อ, ด้วงงวงเจาะกิ่ง , เพลี้ยอ่อนและมวนดูดน้ำเลี้ยง การควบคุมและกำจัดสามารถกระทำได้หลายวิธี คือ ภายหลังที่หน่อเริ่มแตกจากตาของเหง้าปล้องแล้ว ก็หาทางป้องกันพวกเชื้อราและแมลงที่เข้ามากัดกินและอาศัยอยู่ตามกาบของหน่ออ่อน โดย การใช้สารปราบศัตรูพืช เช่น มาลาไทออน ผสมน้ำราดที่หน่อและเหง้า หรือใช้ฟูราดาน ภูไมด์ หว่านลงที่ดิน แต่อย่านำหน่อไปบริโภคภายใน 60วัน หรือใช้วิธีควบคุมโดยการลิดกิ่ง หรือตัดลำแก่ที่เป็นที่อยู่ของดักแด้ออก แล้วทำลายหรือขายลำไป จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนประชากรแมลงได้  ส่วนมากแล้วไม่ค่อยพบปัญหาเกี่ยวกับโรคต่างๆในไผ่ตงลืมแล้ง แต่จะพบเพลี้ยตัวสีขาวๆเกิดขึ้นตามข้อไผ่อ่อน เราอาจใช้ผงซักฟอกละลายน้ำราดรดลงไปก็จะหาย  ถ้ามีจำนวนน้อยไม่มากนักก็ใช้มือขยี้ ถ้าจำเป็นต้องใช้เคมีก็ต้องใช้ชนิดอ่อนๆเช่น เซฟวิน ฉีดพ่นครับ


6.การตัดหน่อ

ไผ่ตงลืมแล้งจะแทงหน่อตลอดปีแต่จะดกมากเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน (เม.ย.-มิ.ย.)การตัดหน่อจะตัดเมื่อหน่อยาวประมาณ 1 ฟุต โดยใช้เสียมหางปลาตัดหน่อบริเวณกาบใบที่ 3 จากโคนหน่อ ซึ่งจะเหลือตาไว้ 2-3 ตา สำหรับแตกหน่อในช่วงถัดไป สำหรับหน่อที่ไม่แข็งแรงให้ตัดออกทิ้งไป การตัดหน่อควรทำตอนเช้ามืด เพื่อจะได้หน่อไม้สดส่งตลาด หน่อไม้ไผ่ตงลืมแล้ง(หน่อไม้หวาน)ที่ตัดไว้นาน ๆ จะทำให้ความหวานของหน่อลดลง ดังนั้น ควรตัดหน่อแล้วรีบขายทันที ในการตัดหน่อควรเริ่มตัดหน่อจากกลางกอก่อน แล้วขยายวงออกมารอบนอกกอ ส่วนหน่อที่อวบใหญ่ที่อยู่ด้านนอกควรมีการรักษาไว้เพื่อให้เป็นลำแม่เลี้ยง หน่อต่อไป



การขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนง (การตอนแล้วนำมาชำกิ่ง)

การ ขยายพันธุ์กิ่งไผ่มีหลายวิธีครับ แต่สำหรับไผ่ตงลืมแล้งการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงนี้ เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุดเพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถตัดชำกิ่งแขนงได้จำนวนมาก ความสำเร็จในการตอนและปักชำโดยใช้กิ่งแขนงขึ้นอยู่กับชนิดของไผ่ หากเป็นไผ่ที่มีรากอากาศบริเวณโคนกิ่ง เช่น ไผ่ตงลืมแล้ง จะมีความสำเร็จสูง ผมจึงขอแนะนำการขยายพันธุ์ไผ่ด้วยวิธีนี้ครับ 


การเตรียมอุปกรณ์เพื่อตอนกิ่ง

  1. เลื่อยโค้งตัดแต่งกิ่ง   2.มีดคม หรือ คัดเตอร์  3.กรรไกรแต่งกิ่ง 4.เทปพันสายไฟหรือเชือก   5. น้ำยาเร่งราก  6.ถุงพลาสติก(5*8)      7.หนังยาง     

  8.ดินที่ใช้สำหรับการตอนในถุงพลาสติก (ใยมะพร้าว2ส่วน+ดินที่ผสมขี้เถ้าแกลบ1ส่วน)


วิธีตอนกิ่งไผ่ตงลืมแล้ง

กิ่ง แขนง คือกิ่งที่แตกจากตาบริเวณข้อต่อของลำไผ่ ความสำเร็จของการตอนกิ่งแขนงขึ้นอยู่กับการเลือกกิ่งแขนงและฤดูที่จะตอนด้วย ฤดูที่เหมาะในการตอนกิ่งแขนงของ ไผ่ตงลืมแล้ง คือ ปลายฤดูฝนช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก การเลือกกิ่งแขนงควรเลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ถึงนิ้วครึ่ง(ไม่แก่ไม่อ่อน) ที่มีรากอากาศเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง และใบที่ยอดคลี่แล้ว กาบหุ้มตาหลุดหมด อายุของกิ่งแขนงอย่างน้อยต้องมีอายุ 4-6 เดือน ถ้าค้างปียิ่งดี เมื่อเลือกกิ่งแขนงได้ตามความต้องการแล้ว ให้ใช้เลื่อยโค้งเลื่อยตรงกลางระหว่างกิ่งแขนงกับลำไผ่ เลื่อยไปจนกิ่งแขนงเกือบขาด(80%)จากนั้นก็ดึงกิ่ง แขนงให้แยกจากลำแม่ ให้เหลือเปลือกเขียวของลำแม่ให้บางที่สุด นำดินที่ใส่ถุงเตรียมไว้พร้อมที่จะตอน กรีดถุงด้านหนึ่งขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าของถุงดินที่จะตอนทิ้งไป(2.5*3.5นิ้ว) นำน้ำยาเร่งรากราดใส่ถุงดินที่จะตอนให้ชุ่ม  ดัน ประกบจากด้านล่างเข้ากับกิ่งแขนง แล้วค่อยใช้เทปดำพันถุงดินที่ตอนให้แน่นเหลือช่องว่างให้น้ำเข้ามาได้ทาง ด้านบนเวลารดน้ำ ใช้เชือกฟางแก้วหรือเทปดำยึดกิ่งแขนงไว้กับลำไผ่กันลมโยก หมั่นรดน้ำให้ชุ่ม  5-10วัน รากจะออก
 

เรา ควรปล่อยให้รากออกเต็มที่จึงค่อย ตัดกิ่งที่ตอนได้ลงมาเพื่อใส่ถุงชำหลังจากนั้นรอให้กิ่งพันธุ์แตกใบอ่อนแสดง ว่ารากเดินดีแล้วจึงค่อยนำลงแปลงปลูก ก่อนทำการปักชำควรมีการเตรียมดินที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะชำ โดยการย่อยดินและผสมดินกับ(ขี้เถ้าแกลบ+ใยมะพร้าว)ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยประมาณ แล้วตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น หลังจากให้นำกิ่งไผ่ที่ตอนแล้วลงถุง ควรกดดินให้แน่นแต่ต้องระวังไม่ให้รากขาด รดน้ำทันทีเพื่อให้กิ่งชำสดอยู่เสมอ


หลังจากนั้นหมั่นดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน จนกระทั่งกิ่งแขนงที่ชำแข็งแรงดีใช้เวลาประมาณ3-4อาทิตย์ ก็ย้ายลงปลูกในแปลงได้  เพื่อ การค้าในปัจจุบันนิยมชำในถุงพลาสติกโดยตรงตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันการกระทบ กระเทือนขณะย้ายชำกล้าและสะดวกในการขนย้ายไปปลูกตามที่ต่างๆ ปกตินิยมใช้ถุงขนาด 5 x 8 ปักชำกิ่งไผ่เพื่อให้กิ่งไผ่ที่ตอนมาแตกใบและราก ตัดปลายกิ่งออก ให้กิ่งแขนงที่จะปักชำยาวประมาณ 80 - 100 เซนติเมตร มีข้อติดอยู่ 3-4 ข้อ (สำคัญรากต้องเต็ม) ผมเคยนำกิ่งตอนที่มีรากเต็มและตัดออกจากลำไผ่ นำมาปลูกปรากฏว่าการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตของกิ่งไผ่เร็วมาก ไม่ตาย ขนส่งง่าย และสะดวกในการปลูก



สนใจการปลูก ไผ่ตงลืมแล้ง

โทร   คุณประหยัด  รักชาติ        084-2190716

198หมู่2 ต.โพธิ์พระยา อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000

Email   P_southsea@yahoo.com
http://www.bamboo-supun.tarad.com

ที่มา สวนไผ่โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี










ไผ่ตงลืมแล้ง…ไผ่ร้อยชื่อ

alt=ไผ่ตงลืมแล้ง
ไผ่ตงลืมแล้งหรือไผ่ร้อยชื่อ ที่เรามักจะได้ยินชื่อเรียกต่างไปจากนี้ จนไม่รู้ แท้จริงคือไผ่ชนิดเดียวกัน ปลูกต่างที่กัน ก็พากันตั้งชื่อกันใหม่ เพื่อให้เข้ากับสถานที่ปลูก หรือคุณสมบัติทั่วๆไปของไผ่ แต่จริงๆแล้วเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า แล้วเวลาขายละ ได้บอกหรือไม่ ว่านี้คือไผ่ชนิดเดียวกัน ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ขนาดเราเป็นเกษตร พวกเดียวกันแท้ๆ ยังต้องเสียค่าวิชา ฮ่าๆๆๆ…ชื่อกิมซุง ผมคิดว่าน่าจะเป็นชื่อแรกๆ ของการตั้งชื่อ และอีกหลายๆชื่อ เท่าที่จำได้ ตัวอย่าง เช่น

ชื่อไผ่กิมซุง มีภาคตะวันตกและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี
ชื่อไผ่ลืมแล้ง, ตงลืมแล้ง มีภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดลพบุรี ภาคใต้ เช่นจังหวัดพัทลุง
ชื่อไผ่ไต้หวัน มีภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี
ชื่อไผ่จีนเขียว, เขียวเขาสมิง มีภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด
ชื่อไผ่ทองสยาม มีจังหวัดอ่างทอง โดยเฉพาะอำเภอวิเศษชัยชาญ และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นต้น


การที่เรียกชื่อไผ่ต่างกัน ก็ย่อมส่งผลต่างกันในด้านการค้า สมัยที่ผมรู้จักไผ่ ครั้งแรกๆ และสนใจที่จะปลูก ก็หลงซื้อกิ่งพันธุ์ในราคาที่ต่างกัน ไผ่ตงลืมแล้ง 200 บาท ไผ่กิมซุ่ง 150 บาท ไผ่จีนเขียวสมิง 60 บาท เห็นไหมละ เกษตรกรต้มเกษตรกร 555

ไผ่ตงลืมแล้ง(ไผ่กิมซุง) เป็นไผ่สายพันธุ์ที่นำมาจากประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับไผ่ตงทั่วไป คือ ต้นจะขึ้นเป็นกอ มีพูพอน ลำต้นตั้งตรง ข้อปล้องยาวพอดี เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 4-5 นิ้วฟุต เนื้อลำต้นหนา เยื่อสีขาวในข้อปล้องหนา จึงเหมาะที่จะนำไปทำข้าวหลามได้ดีมาก ลำต้นยังแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย

เมื่อสองสามปีมานี้ ไผ่ตงลืมแล้ง เป็นไผ่เศรษฐกิจที่กำลังมาแรง ซึ่งมีจุดเด่นคือ ทนแล้ง ทนน้ำท่วม เป็นไผ่ที่ไม่มีหนาม ไม่มีขน ลำต้นค่อนข้างตัน รสชาติดี กรอบอร่อย ไม่มีเสี้ยน เปลือกบาง เป็นสายพันธุ์ที่ออกหน่อดกที่สุด และออกหน่อตลอดทั้งปี โดยให้หน่อในช่วงหน้าแล้ง (ม.ค. – พ.ค. ) ถึง 30 หน่อต่อกอ หน่อมีน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม หลังจากปลูก 9 เดือน สามารถเก็บหน่อ และตอนกิ่งพันธุ์ขายได้

จากข้อมูลข้างต้น ถ้าเป็นเกษตรรายใหม่ ก็จะมองถึงแต่รายได้ นึกถึงแต่ข้อดีของไผ่ตงลืมแล้ง ก็จะเรียบตัดสินใจลงทุนปลูกทันที เหมือนกับผมที่ต้องประสบปัญหาในการปลูก ในช่วงแรก ปัจจุบันผ่านมา 2ปี ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ต้องตั้งคำถาม กับตัวเองมาตลอด ผู้ขายกิ่งพันธุ์มักจะแนะนำแต่ข้อดี ข้อเด่น สำหรับจุดด้อย หรือข้อเสีย ละเลยที่จะให้ความรู้หรือแนะนำสำหรับเกษตรรายใหม่ๆ ดังนั้นไม่แปลกใจเลย ที่เกษตรกรพากันปลูก โดยไม่รู้ว่าอนาคตที่แท้จริงจะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่

เคยมีไผ่ตัวหนึ่ง ราคากิ่งพันธ์ 3,000 บาท ผู้ขายบอกว่า เป็นพันธุ์ที่หายาก สามารถทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้อย่างมากมาย ไม่เฉพาะกิ่งพันธุ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง รวมถึงหน่อไม้ที่นำไปแปรรูป ซึ่งมีราคาสูงเช่นกัน ส่วนตัวคิดแล้วคิดอีก ไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวว่าพอถึงเวลาที่จะให้ผลผลิต และทำเงินแล้ว อาจจะต้องรื้อสวนไผ่ทิ้ง ก็เป็นได้

ถ้าการพัฒนาสายพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง หรือไผ่ชนิดอื่นๆ ให้มีจุดเด่น หรือให้มีความแตกต่าง ไปจากสายพันธุ์เดิมไม่ได้ เราเองคงจะเห็นแต่ไผ่ตัวเดิมๆที่เปลี่ยนชื่อใหม่ สร้างแบรนด์ใหม่ แล้วหลอกเกษตรกรรายใหม่ๆ กว่าที่จะรู้อีกที ก็ผ่านไปหลายปี…มือใครยาวสาวได้สาวเอา กรรมของเกษตรไทยอย่างเรา เสียจริงๆๆๆๆ...บทความที่น่าสนใจ...จุดอ่อนของไผ่กิมซุง(ตงลืมแล้ง)

 จุดอ่อนของไผ่กิมซุ่ง(ตงลืมแล้ง) 

alt=ไผ่กิมซุงถอนราก ถ้าพูดถึงจุดเด่นหรือจุดแข็งของไผ่กิมซุ่ง(ไผ่ตงลืมแล้ง)และอีกหลายๆชื่อของ ไผ่ชนิดนี้ นั้นก็คือ หน่อดก รสชาติดี ไม่ขมมาก หน้าแล้งก็ออกหน่อ ทนน้ำท่วมขังได้นาน ถึง 3เดือน ฯลฯ แต่ใครจะรู้บ้างไหมว่า ไผ่กิมซุ่ง นี้ก็มีจุดอ่อนหรือจุดด้อย เหมือนกันกับไผ่ตงทั่วๆไป

เวลาที่เราไปซื้อกิ่งพันธุ์ไผ่กิมซุ่ง เชื่อเหอะ ร้อยทั้งร้อย ผู้ขายมักจะต้องแนะนำและเชียร์สุดใจขาดดิ้น ไผ่กิมซุ่งนี้นะ ปลูกง่ายโตไว ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ อายุประมาณ 7เดือนเก็บหน่อขายได้ หน่อดก รสชาติหวาน ทำหน่อออกฤดูแล้งราคาดี ตลาดต้องการสูง แค่นี้ก็ตาลุกวาวแล้ว

ผมเองก็ยังต้องซื้อกิ่งพันธุ์ จำนวนหลายสิบกิ่ง ตามคำแนะ ตามคุณสมบัติที่โฆษณา จากผู้ขาย หลังจากที่ผมปลูกไผ่กิมซุ่งได้ ไม่ถึงเดือน กิ่งไผ่เริ่มมีอาการใบเหลือง และเปลี่ยนไปเป็นใบสีขาว ใบร่วงหล่น หลังจากนั้นผมก็ขุดกิ่งไผ่ขึ้นมาดู ก็พบว่า รากไผ่เน่า ซึ่งในตอนนั้นผมไม่รู้และไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง

ดินที่เหมาะสำหรับปลูกไผ่ จริงๆแล้วเราสามารถปลูกไผ่ได้ทุกสภาพพื้นที่ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงดินที่มีน้ำท่วมถึง และขังเป็นเวลานาน พื้นที่มีการระบายน้ำไม่ดี โดยเฉพาะพื้นที่มีสภาพเป็นดินเหนียว ดังนั้นถ้าเราปลูกในสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ กอไผ่ก็ย่อมที่จะเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ไผ่มีหน่อดกและขนาดใหญ่


เวลาผ่านไปปีกว่าๆ ผมได้เริ่มต้นการขยายกิ่งพันธุ์ไผ่กิมซุ่ง จากไผ่ชุดแรกที่ซื้อมา เริ่มเรียนรู้ สังเกต และลงมือปฏิบัติจริง จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้น ถ้าเราจะขยายกิ่งพันธ์เพื่อปลูกบนพื้นที่ของตัวเอง ข้อแนะนำให้ขยายกิ่งพันธุ์โดยวิธีการปักชำกิ่ง ลักษณะกิ่งเป็นรูปตัววาย จะทำให้โตไว มีรากเยอะแตกหน่อเร็ว

สำหรับปุ๋ยที่จะใส่ให้ไผ่นั้น ถ้าเราสามารถหาปุ๋ยคอก ได้ยิ่งจะดีจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ทุกวันนี้ปุ๋ยคอกหายากแถมราคาขายเริ่มสูงขึ้น ดังนั้นการผลิตปุ๋ยที่สามารถทำขึ้นเองได้ก็จะเป็นการดี

ไผ่กิมซุ่งที่มีอายุน้อยกว่าหนึ่งปี ปัญหาที่พบ สามารถแก้ไขได้ง่าย แต่ถ้าไผ่กิมซุ่งที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปี ปัญหาที่พบก็จะต้อง แก้ไขตามระยะเวลาของอายุไผ่ ถ้าไปแก้รวบยอดอาจจะแก้ยาก และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เลยก็ได้ เพราะว่าไผ่กิมซุ่งเป็นไผ่ตระกูลของไผ่ตง ดังนั้นปัญหาจึงคล้ายๆกัน

โคนไผ่ลอย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย แต่หลายๆท่านที่ปลูกไผ่กิมซุ่งอาจจะไม่ให้ความสำคัญมากนัก หรือให้ความสำคัญแต่แก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่ายิ่งแก้ยิ่งเจอ แนวทางที่เหมาะสม นั้นก็คือให้ใช้ฟางหรือหญ้า คลุมที่โคนไผ่ อย่าใช้ดินหรือแกลบดำคลุม เพราะว่าการใช้ดินหรือแกลบดำคลุม จะทำให้บริเวณรอบกอไผ่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดหน่อใหม่ก็จะงอกลอยขึ้นไปอีก ซึ่งเสี่ยงต่อการล้มของกอไผ่หรือลำไผ่ เมื่อต้องเจอลมพัดแรงๆ

การตัดแต่งกอไผ่นี้ก็สำคัญเช่นกัน ควรเลือกตัดหน่อที่ชิดลำอื่น และหน่อที่ไม่สมบูรณ์ โดยให้มีลำเพียง 3-4 ลำ/กอ สำหรับไผ่ที่ต้องการผลิตหน่อ และเมื่อหน่อที่เราต้องการไว้เป็นลำนั้นสูงประมาณ 3เมตร เราก็ควรจะตัดยอด เพื่อป้องกันลมพัด

นี้เป็นบางส่วนของปัญหาที่พบในการปลูกไผ่กิมซุ่ง ดังนั้นถ้าเราลงมือปลูกเอง ดูแลเอง เรียนรู้และศึกษาอย่างใกล้ชิดแล้ว ความรู้ที่เราจะได้นั้นมีค่ายิ่งนัก เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์จริง แก้ปัญหาจริง จุดอ่อน จุดแข็ง ของไผ่กิมซุ่ง ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จในการปลูกไผ่กิมซุ่งเพื่อผลิตหน่อนั้นเอง...บทความ ที่น่าสนใจ...ไผ่คงลืมแล้ง...ไผ่ร้อยชื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น