วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

แก้วมังกร (11) แก้วมังกรอินทรีย์ ของดี สระแก้ว

แก้วมังกรอินทรีย์ ของดี สระแก้ว

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 25 ฉบับที่ 547

เทคโนโลยีการเกษตร 
รันตี วงศ์ตะนาวศรี

สวัสดีค่ะ ลมหนาวที่พัดเข้ามาปีนี้ นำเอาความแห้งแล้งระลอกใหญ่เข้ามาด้วย หลายที่หลายแห่งต้นข้าวแห้งตายเพราะขาดน้ำ สร้างความทุกข์ใจให้ชาวบ้านในขณะที่ข้าวราคาดี เพราะมีโครงการของรัฐอุ้มชู ขอเอาใจช่วยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้พี่น้องเกษตรกรทั้งหลาย ผ่านพ้นวิกฤติแห่งลมฟ้าอากาศไปได้
เกษตรกรคนเก่ง แห่งอรัญประเทศ
 ลบคำสบประมาท “พืชไม่มีใบ มีลูกได้จริงหรือ”
พาท่านมาที่ บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มาพบกับ คุณดง จันทร์สีทอง เกษตรกรผู้ผลิตแก้วมังกรอินทรีย์ คุณดง เล่าว่า เดิมทีปลูกพริก ผักต่างๆ และพวกพืชไร่ จนเมื่อพี่ชายคือ คุณพา เกตุการณ์ ได้ชักชวนให้หันมาปลูกแก้วมังกร รู้สึกสนใจ พอดีกับในช่วงนั้นได้รับการอบรมความรู้ด้านการปลูกแก้วมังกรจาก อาจารย์กฤษณา โสภี อาจารย์จากศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว รวมทั้งมีโอกาสได้ไปดูงานการผลิตแก้วมังกรจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง จึงทำให้มั่นใจว่า แก้วมังกร จะเป็นพืชที่สร้างรายได้ จึงเปลี่ยนจากการปลูกผักและพืชไร่หันมาปลูกแก้วมังกรเป็นหลัก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549

คุณดง เล่าต่อว่า เมื่อตัดสินใจจะเปลี่ยนมาปลูกแก้วมังกรก็ได้ซื้อต้นพันธุ์มาจากอำเภอกระทุ่ม แบน จังหวัดสมุทรสาคร สมัยนั้นซื้อมาในราคาต้นละ 10 บาท ซื้อเสาใยหินมาทำค้างในราคาต้นละ 170 บาท และเปลี่ยนแปลงผักพื้นที่ 1 ไร่ ให้กลายเป็นสวนแก้วมังกรทั้งหมด สวนแก้วมังกรในพื้นที่ 1 ไร่ ของคุณดง สามารถปลูกแก้วมังกรได้ 180 ต้น หรือ 180 หลัก
“เมื่อตอนที่เราเริ่มต้นปลูกแก้วมังกร เมื่อ ปี 2549 ชาวบ้านบางคนในชุมชนแถวนี้ยังไม่เคยเห็นต้นแก้วมังกรมาก่อน พอเขามาเห็นเราปลูก หลายคนก็พูดว่าต้นไม้อะไรไม่มีใบ ปลูกแล้วจะมีลูกได้อย่างไร ตรงนี้เราก็ไม่ว่าอะไรเขาเพราะเขาไม่รู้แต่เรารู้ และได้ไปดูงานมาแล้วจึงมั่นใจ” คุณดง เล่าความหลังให้ฟัง

โรงเกลือ ตลาดรับผลผลิตส่วนใหญ่
คุณดง บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นการปลูกแก้วมังกรได้คาดการณ์ไว้ว่าตลาดโรงเกลือซึ่งอยู่ใกล้ๆ จะเป็นตลาดใหญ่ที่รับซื้อผลผลิตจากสวน
“เป็นอย่างที่เราคิดไว้ ตลาดโรงเกลือเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตส่วนใหญ่ของเรา โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาจองผลผลิตก่อนที่เราจะเก็บเกี่ยวถึงสวนเลย ไม่ต้องไปวางขายเองที่ไหน พ่อค้าเอาไปขายต่อที่ตลาดโรงเกลือในราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท”
เมื่อมีผลผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว คุณดง ยังได้รับคำแนะนำจากอาจารย์กฤษณาในเรื่องการผลิตแก้วมังกรในระบบเกษตรอินทรีย์
“อาจารย์กฤษณา เข้ามาแนะนำเรื่องการผลิตแก้วมังกรแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก อย่างเช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่การปฏิบัติของเราเองในช่วงแรกๆ ก็ถือว่ายากอยู่สักหน่อยเพราะเราจะต้องหาปุ๋ยคอกที่ไม่มีสารเคมีเจือปนมาใช้ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ซึ่งต่างจากเดิมที่เราเคยปลูกผักปลูกพืชไร่มาก่อน แต่ก็พยายามปรับตัวมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ”

เพิ่มช่องทางการตลาด
คุณดง เล่าให้ฟังว่า เมื่อหันมาทำสวนแก้วมังกรอินทรีย์ ก็มีพ่อค้ารายหนึ่งมาซื้อผลผลิตไปเพื่อตรวจสอบคุณภาพ แล้วพบว่า ผลผลิตแก้วมังกรของเราผ่านมาตรฐานเป็นผลผลิตอินทรีย์ที่สามารถส่งออกไปขาย ยังต่างประเทศได้ จึงมีหลายบริษัทที่สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อซื้อผลผลิต
“บริษัทจะเข้ามาซื้อผลผลิตจากเราถึงสวน โดยจะคัดแยกเป็น 4 ไซซ์ 4 ขนาด คือ A B C D ไซซ์ใหญ่ที่สุดคือไซซ์ A ขนาดน้ำหนักลูกละประมาณ 700-800 กรัม ราคาขายจากสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท บริษัทจะซื้อผลผลิตทุกไซซ์ มาซื้อครั้งละ 400-500 กิโลกรัม เพื่อเอาไปส่งออกขายเมืองนอก”
การขายผลผลิตให้กับบริษัทส่งออกแม้ว่าจะได้ราคาดีแต่ก็มีปัญหา โดยคุณดง บอกว่า เวลาบริษัทเข้ามาซื้อผลผลิตในพื้นที่ เขาต้องการผลผลิตเยอะๆ แต่เราทำให้ได้ครั้งละแค่ 400-500 กิโลกรัม ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่บริษัทต้องการ ตอนนี้จึงเตรียมขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรออกไปอีก และอยากชวนให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาปลูกแก้วมังกรแบบอินทรีย์ด้วย เพื่อให้จำนวนผลผลิตพอกับความต้องการของบริษัทที่เข้ามารับซื้อ

การปฏิบัติดูแล
สวนแก้วมังกรอินทรีย์
คุณดง เล่าถึงการปฏิบัติดูแลสวนแก้วมังกรอินทรีย์ว่า ปกติจะเก็บผลผลิตหมดในช่วงเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจะตัดแต่งต้น ตัดกิ่งไม่สมบูรณ์ กิ่งที่มีโรคและแมลงออก แล้วใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว พอถึงช่วงเดือนมีนาคม แก้วมังกรจะเริ่มออกดอก ช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ส่วนการให้น้ำ ปกติแก้วมังกรจะไม่ต้องให้น้ำนอกจากช่วงฤดูแล้งและช่วงที่ฝนทิ้งช่วงไปนานๆ ต้องให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
จากวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาสวนแก้วมังกรอินทรีย์ของคุณดง แล้วต้องบอกว่าไม่ยุ่งยาก คุณดง บอกว่า ใช้เพียงแรงงานในครอบครัว 2 คน ก็พอแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับการปลูกผัก ปลูกพืชไร่อย่างที่เคยทำมา แก้วมังกรถือว่าเป็นพืชที่ดูแลน้อยแต่ขายได้กำไรมาก

ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย
บริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว
ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน (ศฝช.) เป็นหน่วยงานประเภทสถานศึกษาสังกัดกองปฏิบัติการ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีศูนย์กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ศฝช.ชุมพร ศฝช.ปัตตานี ศฝช.มุกดาหาร ศฝช.สระแก้ว ศฝช.สุรินทร์ เป็นต้น ส่วนศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว ปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายชายแดน 3 จังหวัดด้านตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด โดยรับผิดชอบการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านชายแดน จำนวน 137 หมู่บ้าน

ศูนย์จะจัดการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพโดยเน้นเกษตรธรรมชาติและอาชีพที่สอด คล้องกับวิถีชีวิตให้กับประชาชนตามหมู่บ้านชายแดน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี และตราด จัดการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาอาชีพตามโครงการพระราชดำริในเขตจังหวัดสระแก้ว และได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ไว้ตามจุดต่างๆ เช่น แหล่งเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนบ้านโสนน้อย ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยอัดเม็ดบ้านป่าไร่ใหม่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสานซับตารี ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสานบ้านทับทิมสยาม 01 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นต้น

งานส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร เช่น คุณดง จันทร์สีทอง ก็เป็นงานหนึ่งของศูนย์ และนอกจากนั้น ศฝช. สระแก้ว ยังเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 2 สาขาวิชา คือ วิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขางานไฟฟ้ากำลัง และวิชาเกษตรกรรม สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขางานเกษตรทั่วไป อีกด้วย ปัจจุบัน ศฝช. สระแก้ว มี คุณประยูร ดังก้อง เป็นผู้อำนวยการ

ขอขอบคุณ ดร. สมคิด ใจตรง ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว

เขียนแล้วใน เทคโนโลยีชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น