วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลูกอะไรดี (5) "ผักหวานบ้าน" รายได้ 6,000-9,000 บาท บาท/เดือน/ไร่

การปลูกผักหวานบ้าน


ปลูกผักหวานบ้านขายได้เงินเร็ว

ผัก พื้นบ้านทั่วไปหลายชนิดที่ผู้บริโภคทั่วไปให้ความนิยม เกษตรกรเองก็มีความนิยมบริโภค ควรจะปลูกไว้ประจำครัวเรือน มีพื้นที่มากก็ปลูกมาก มีพื้นที่น้อยก็ปลูกน้อย หากปลุกได้มากเหลือจากการบริโภคก็ขายได้ การตลาดปัจจุบันอย่านั่งรอให้คนมาซื้อที่บ้าน หากปลูกผักหลายๆชนิด เอาไปขายตลาดเช้า ตลาดเย็น เดี๋ยวนี้เกษตรกรมีรถกันหมดแล้ว รถมอเตอร์ไซค์คันเดียวก็ขนผักไปขายได้ไม่น้อย มีรายได้วันละ 400-500 บาท หรับเกษตรกรถือว่าเป็นรายได้ที่ดี

         ผักหวานบ้าน ที่กำลังจะกล่าวนี้ เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สมัยก่อนผู้ใหญ่จะเก็บมาจากป่า มาประกอบเป็นอาหารสำหรับนำมารับประทานในครัวเรือน แกงเลียง แกงส้ม ผัดกับหมู ผัดกับไก่ และ เนื้อวัว ผักลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือ จะรับประทานแบบสดๆก็ได้ ขณะนี้ความต้องการในท้องตลาดยังคงมีอยู่สูงและราคายังดีมากๆ การปลูกผักหวานจึงเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดีอีกทางหนึ่ง ผักหวานเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ก่อนจะปลูกเกษตรกรควรที่จะยกร่อง เพื่อความสะดวกในการระบายน้ำในกรณีที่ฝนตกหนัก การปลุกผักหวานจะใช้วิธีปักชำหรือเพาะเมล็ดก็ได้ แต่การปักชำจะสะดวกกว่า เลือกกิ่งกลางอ่อนกลางแก่ตัดให้ได้ความยาวประมาณ 1 คืบ ปักลงในแปลง ระยะห่างระหว่างต้น 50เซนติเมตร ระหว่างแถว 1 เมตร ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ปลูกง่าย แตกรากได้เร็ว หากปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณ 7-10 วัน รากก็จะจับดินแล้ว ไม่ต้องเพาะในถุงก็ได้ พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 3200 ต้น

          การปลูกผักหวานแนวชีวภาพ จะมีโรคและแมลงรบกวนน้อยมากควรให้ปุ๋ยหมักทุก 15 วัน และเสริมด้วยปุ๋ยน้ำการเสริมด้วยปุ๋ยน้ำทุก 7 วัน จะฉีดพ่นทางใบหรือรดราดทางดินก็แล้วแต่สะดวก การให้น้ำจะต้องสม่ำเสมอ เนื่องจากพืชที่ให้ยอดต้องการน้ำมาก หากได้ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ก็จะดีมาก น้ำจะสม่ำเสมอ เนื่องจากพืชที่ตัดยอดจะต้องการน้ำมาก หากได้ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ก็จะดีมาก น้ำจะสม่ำเสมอ ผลผลิตจะสูง การเสริมด้วยปุ่ยน้ำเราจะปล่อยไปกับน้ำ ทำให้ทุ่นแรงประหยัดเวลา
          หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือน ก็เก็บเกี่ยวยอดได้แล้ว พอยอดถูกเด็ดก็จะเกิดยอดใหม่ และจะแตกไปเรื่อยๆ ควบคุมความสูงไว้ให้พอดีเมื่อต้นผักหวานอายุ 6 เดือนขึ้นไป ผลผลิตเข้าที่แล้ว คือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20-30 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ ต่อวัน หากราคากิโลกรัมละ 30 บาท 
ก็มีรายได้แล้ว 600-900 บาทต่อการเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง คือ เก็บ 1 ครั้ง เว้น 3 วัน พื้นที่ 1 ไร่ จะมีรายได้จากการขายผักหวาน 6,000-9,000 บาท บาทต่อเดือน ต้องการเท่าไหร่ก็ให้ขยายพื้นที่ปลูกออกไป ผักหวานเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน สร้างงานสร้างเงินได้ทุกวัน หากขยันดูแล ขยันเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน สร้างงานสร้างเงินได้ทุกวัน หากขยันดูแล ขยันเก็บเกี่ยวปลูกผักหวานให้ได้สัก 3 ไร่ รายได้ดี มีอนาคตที่ดีแน่นอนครับ

ที่มาจาก หนังสือชี้ช่องทางการทำกิน   โดย อาจารย์ สมพล รักหวาน
นาย อนุสรณ์ ชลเกษม ผู้พิมพ์เอกสารฉบับนี้
http://anusorn911.blogspot.com/2011/02/blog-post.html 

################################################################
################################################################

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


ผักหวานลูกผสมไทย-จีน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

ผักหวานลูกผสมไทย-จีน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

ในแวดวงชาวสวนผู้เพาะพันธุ์ไม้จำหน่าย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ คุณอรุณ ณรงค์ชัย
อดีตประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดเชียงราย เพราะในสมัยที่ไปดำรงตำแหน่งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
เขาเคยปลุกปั้นให้ชาวสวนที่นั่นสามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการเพาะขยายพันธุ์ไม้จำหน่าย
แทนการเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเพียงอย่างเดียว และจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงพันธุ์ไม้มาเกือบทั้งชีวิต
ทำให้เขามองเห็นอนาคตอันสดใสของผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะปลูกง่ายแล้ว
ยังเก็บเกี่ยวขายได้ราคาดีตลอดทั้งปีด้วย ผักที่ว่านั้นก็คือ ผักหวานลูกผสมไทย-จีน

ปลุกชีวิตพันธุ์ไม้ สร้างรายได้ให้ชาวปราจีนฯ

เราเดินทางมาพบ คุณอรุณ ณรงค์ชัย ณ ร้านปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ ตรงข้ามโรงเรียนเมืองเชียงราย
ใกล้สี่แยกศรีทรายมูล ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

"ที่ชื่อร้านปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ เพราะเดิมทีเมื่อปี 2529 ผมไปรักษาการประจำจังหวัดปราจีนบุรี
ช่วงนั้นชาวปราจีนบุรีเอง ยังไม่ค่อยได้เอาพันธุ์ไม้อะไรมาขายกันหรอก
ผมก็ได้มีโอกาสช่วยแนะนำ เพราะผมเคยอยู่ที่ตลิ่งชัน พุทธมณฑลมา 16-17 ปี
แถวนั้นต้องยอมรับว่า เป็นแหล่งที่ผลิตพันธุ์ไม้มาก่อนใครเขาในประเทศ แต่เนื่องจากยิ่งผลิตพื้นที่ก็เหลือแคบลงๆ
เพราะบ้านจัดสรรเต็มไปหมด ผมได้คลุกคลีกับชาวบ้านชาวสวน ได้เห็น
พอเราย้ายไปปราจีนฯ จึงเอาความรู้ไปเผยแพร่ ก็ได้ผล เพราะนอกจากแนะนำแล้ว เรายังทำข่าวด้วย
เพราะเป็นประชาสัมพันธ์ เวลามีการจัดงานวันเกษตร เราจะเชิญผู้สื่อข่าวรายการโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์
อะไรต่อมิอะไร เอารถบัสไปรับที่สนามหลวงเลย เราจัดแถลงข่าวในสวน เข้ามารับประทานข้าวในสวน
เดินดูสวน คือสมัยก่อนเราทำแบบถึงลูกถึงคน"

คุณอรุณ ชิงบอกเราเหมือนจะรู้ว่าเรากำลังจะถามอะไร

"ใหม่ๆ ชาวบ้านไม่รู้ว่าการทำกิ่งพันธุ์ขาย มันดีกว่าการเอาผลผลิตไปขาย
แต่ทางที่ดีควรจะมีทั้งสองอย่างพร้อมกัน
แต่ว่าการที่เขาทำกิ่งขาย มันไม่มีฤดูแล้ง
ไม่มีฤดูอะไรต่ออะไร ทำได้ตลอด แต่ว่าผลผลิตนี่บางปีได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง
แต่พอแนะนำไปแค่ปีเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าพันธุ์ไม้ปราจีนฯ โด่งดังขายดิบขายดี ชาวสงชาวสวนลืมตาอ้าปากได้
มีสตางค์กัน เพราะตอนนั้นยังใหม่ กระท้อนต้นหนึ่ง 400-500 บาท ก็มี ชาวสวนรวยกัน
บางคนขาย ส่งได้วันหนึ่งแสนสองแสนบาท ทางใต้เขาเอาสิบล้อมาขนไป แล้วเมื่อก่อนนี้ไม้มันแพง
หลังจากนั้นอีกสองปี จังหวัดปราจีนฯ ก็เป็นจังหวัดที่ผลิตพันธุ์ไม้ขายมากที่สุดในประเทศ
จนเดี๋ยวนี้ยังเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็นครปฐม ซึ่งที่ปราจีนฯ นี่จะเน้นไม้ผลมาอันดับหนึ่ง อันดับสองนี่เป็นไม้ดอก"

หลังจากสร้างชีวิตให้ตลาดพันธุ์ไม้ และสร้างรายได้ให้ชาวสวนของจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ปี 2531
คุณอรุณได้ย้ายมารับราชการ ในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดเชียงราย
ในปีถัดมาเขาได้เปิดร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ในชื่อว่า ปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้
โดยให้ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากคือ คุณลออศรี ณรงค์ชัย เป็นผู้ดูแลกิจการให้ และเขาจะใช้ช่วงเวลาในวันหยุด
ลองวีคเอนด์ นำต้นไม้ใส่ท้ายรถออกตระเวนจำหน่ายยังที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง

"จริงๆ ผมเป็นคนอุทัยธานี แต่ว่าย้ายไปทั่ว พอเปิดร้านขายต้นไม้ก็ให้แม่บ้านเร่ขายต้นไม้ไปเรื่อย ลำบาก
บางทีเสาร์อาทิตย์หยุดติดต่อกัน 3 วัน ผมออกไปขายเองก็มีนะ ช่วงนั้นเราเริ่มก่อสร้างตัว แล้วเราเป็นคนรักต้นไม้
ไปจังหวัดไหนก็มีเพื่อน เพราะวงการค้าต้นไม้นี่รู้จักกันง่าย ผมมาทำงานอยู่เชียงรายถึงปี 2537
จากนั้น จึงย้ายไปเป็นประชาสัมพันธ์ของเชียงใหม่ ทำงานกีฬาซีเกมส์ อยู่เชียงใหม่ 4 ปีกว่าๆ
ย้ายกลับมาอยู่เชียงรายอีก 2 ปี ก็เกษียณ พอเกษียณผมมาดูแลเต็มที่ เพราะชีวิตราชการมันทำอะไรไม่ได้เต็มที่


ผักหวานบ้าน พืชเศรษฐกิจเพื่อชีวิตเกษตรกร

จากการติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงพันธุ์ไม้มาเกือบ 20 ปี คุณอรุณ พบว่า ตลาดพันธุ์ไม้ในบ้านเรานั้น
เป็นแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความนิยมของผู้บริโภค เช่น บางช่วงนิยมกระท้อนผลใหญ่เนื้อฟูนุ่ม
บางช่วงฮิตปลูกฝรั่งไร้เมล็ด บางช่วงพุทราซุปเปอร์จัมโบ้มาแรง บางช่วงนิยมมะยงชิด เป็นต้น

ปัจจุบัน คุณอรุณมองว่า ผักหวานบ้าน ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละภาค
อาทิ ผักก้านตรง จ๊าผักหวาน โถหลุ่ยกะนิเต๊าะ นานาเซียม ผักหวานใต้ใบ และมะยมป่า เป็นต้น
เป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักหวานบ้านพันธุ์ลูกผสมไทย-จีน เพราะมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ปลอดจากสารพิษ
และใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงเลียง ผัดน้ำมันหอย ใส่สุกี้ ลวกจิ้มน้ำพริก
ใส่อาหารจำพวกยำต่างๆ ใส่ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ทำแกงจืด ฯลฯ

อีกทั้งผักหวานบ้าน ยังเป็นแหล่งอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่หลายชนิด
ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียม พร้อมแมกนีเซียมที่มีอยู่ในผักใบเขียวอย่างผักหวาน
จะช่วยให้การยืดหดของกล้ามเนื้อในร่างกาย มีประสิทธิภาพสูงสุดตามไปด้วย
หากบริโภคบ่อยๆ จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ ผักหวานสดยังมีวิตามิน ซี สูงมาก
ซึ่งวิตามิน ซี เป็นแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยไม่ให้เนื้อเยื่อ หรือเซลล์ภายในร่างกายถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ
และรังสีจากแสงแดดที่ทำให้เกิดมะเร็งหรือแก่ก่อนวัย รวมทั้งผิวหนังเหี่ยวย่นด้วย
ที่สำคัญผักหวานยังมีเบต้าแคโรทีน ที่มีอยู่ในผักใบเขียวทั่วๆ ไป เบต้าแคโรทีน จัดเป็นแอนติออกซิแดนต์ตัวหนึ่ง
และเมื่อถูกเปลี่ยนเป็นวิตามิน เอ แล้ว จะช่วยบำรุงสายตาช่วยให้สามารถมองเห็นได้ดีในที่มืด
และยังเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย เอาไว้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อสารพัดชนิด
ประชาชนทั่วไปจึงนิยมรับประทานผักหวานกันทั่วทุกภูมิภาค

ผักหวานมันมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ คือผักหวานป่า กับผักหวานบ้าน
ผักหวานป่าใบจะกลมๆ กลิ่นมันจะแรง ชอบขึ้นอยู่ในป่าที่แห้งแล้งมากๆ
ข้อดีของมันคือความทนแล้ง มันจะแตกยอดเมื่อฝนแรก น่าจะอยู่ที่ปลายเมษาต้นพฤษภา
ซึ่งชาวบ้านจะออกล่าผักหวานกัน เขาจะจำได้ว่าตรงไหนมีกี่ต้นๆ พอฝนตกเขาก็จะไปเก็บผักหวานป่ากัน
ราคาแพงถึงกิโลละสองร้อยเลยนะ พอเข้าหน้าฝนแล้วมันก็ไม่ค่อยจะแตกยอดเท่าไหร่"

คุณอรุณเล่าประสบการณ์การนำผักหวานป่ามาทดลองปลูกในที่ราบให้ฟังว่า
"ผักหวานป่านี่มันมีข้อเสียอยู่อย่างคือ พอเอามาปลูกในที่ราบๆ นี่ตายหมด ผมเคยซื้อที่ลำพูน 200 ต้น
เอามาปลูกตายหมด ไม่เหลือสักต้น มันไม่ชอบ มันชอบอยู่ในป่า เอาออกมาไม่ได้
แต่ผมเห็นแถวสระบุรี เขาขุดหลุมเอาเมล็ดไปหยอด ปลูกกันในป่าเลย
เพราะผักหวานป่านี่มันใช้ระยะเวลาในการฟักตัว ในการสร้างรากนาน
มีคนลำพูนเคยบอกว่าระยะการฝังรากนานมาก บางทีแตกยอดมาให้เห็นนิดเดียว แต่รากยาวมาก
ดังนั้น เวลาเราซื้อมาปลูกแล้วขึ้นรถเขย่ามานี่ ไม่รอดหรอก รากมันบอบบาง ต้องปลูกกันในป่าเลย
ไม่ต้องไปเคลื่อนย้าย ไม่ต้องไปดูแลมันเท่าไหร่ ให้มันขึ้นเองตามธรรมชาติ

แต่ผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน นี่ใบมันจะเรียวยาว ปลายใบจะแหลม ยอดอวบ
ถ้าหากดูแลดีๆ ยอดมันจะใหญ่เท่าปลายตะเกียบ รสชาติหวานกรอบอร่อย ไม่มีกลิ่น มันจะแตกยอดตลอดหน้าฝน
เก็บไปสามสี่วันแตกออกมาอีกแล้ว จะเก็บกันแทบไม่ทันเลย แต่พอหน้าหนาว ปริมาณการแตกยอดน้อยลง
ซึ่งมันเหมือนกันทุกที่ ดังนั้น ผักหวานในฤดูหนาวหรือฤดูแล้งจะแพงมาก กิโลกรัมหนึ่งตกเป็นร้อยๆ บาท
แต่หน้าฝนนี่ไม่ถึง ตกกิโลหนึ่ง 50-60 บาท เพราะมันเยอะมาก แต่ก็ยังถือว่าได้ราคาอยู่"

ปัจจุบันผักหวานบ้านมีราคาซื้อขายตามห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ประมาณกิโลกรัมละ 170-200 บาท
ทว่าในปัจจุบันยังมีผู้ปลูกผัก หวานเพื่อการค้าน้อย จึงมีปริมาณไม่พอเพียงต่อการบริโภคของประชาชนทั่วไป
ผักหวานบ้านจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะแก่เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไป
เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกได้ทุกภูมิภาค โตเร็ว เพียง 3 เดือน ก็สามารถตัดยอดขายได้
ไม่ต้องการการดูแลมาก และใช้พื้นที่ในการปลูกน้อย

"ผมเห็นว่าชาวสวนที่เชียงรายบางรายปลูกลำไยหรือลิ้นจี่ห่างกันเกินไป บางต้นห่างกันเป็น 10 เมตร
ดังนั้น ถ้าเขาปลูกผักหวานเป็นแถวไป ให้ห่างจากโคนต้นไม้ผลสักเมตรเดียว
เวลารดน้ำเราก็ไม่ต้องรดน้ำไม้ผลต้นใหญ่เลย เพราะปุ๋ยที่เราใส่ผักหวานพวกไม้ผลก็จะมาดูดไป
ผมอยากให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทุกวันนี้เกษตรกรยังใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า
ถ้าเราปลูกผัก หวาน ชะอม หรือฝรั่ง หรือไม้ที่ไม่โตมาก จะช่วยให้เราใช้พื้นที่คุ้มค่า
อย่างเก็บผักหวานขายก็สามารถมีรายได้ไปจุนเจือสวนได้ บางทีได้ราคากว่าอีก เพราะมันเก็บขายได้ทุกวัน
ถ้าเก็บได้วันหนึ่ง 10-20 กิโล ก็รวยไม่รู้เรื่อง"

นอกจากชาวสวนจะปลูกผักหวานบ้านแซมในพื้นที่สวน เพื่อเพิ่มรายได้ระหว่างการรอเก็บเกี่ยวไม้ผลประจำปีแล้ว
ผักหวานบ้าน ยังเป็นพืชที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกบนเขา หรือบนพื้นที่สูงด้วยเช่นกัน

"ผมมีความคิดว่าชาวเขาชาวดอยน่าจะปลูกผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน
เพราะนอกจากจะเป็นอาหารของชาวดอยแล้ว เนื่องจากคนดอยอาหารหายาก แต่สิ่งสำคัญที่ผมว่า
คือมันจะอนุรักษ์หน้าดิน เพราะว่ารากมันเยอะ มันจะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เยอะ"


ผักหวานบ้าน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

จากประสบการณ์การปลูกผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีนด้วยตนเอง
ประกอบกับความรู้ที่ได้จากการศึกษาหาข้อมูลและการดูงานตามที่ต่างๆ
คุณอรุณ ณรงค์ชัย จึงได้ให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การดูแล ตลอดจนการหาตลาดจำหน่ายผักหวานบ้าน

การปลูก
ถ้าปลูกในท้องนา ควรไถและตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ดินร่วน
จากนั้น ใช้รถไถยกร่องสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 2.30-2.50 เมตร
ถ้าเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม ไม่ควรยกร่องสูงมาก เพราะถ้ายกสูงมากเกินไป ดินที่อยู่ด้านล่างจะไม่ค่อยมีปุ๋ย
หลังจากไถเสร็จแล้วโรยด้วยขี้วัวแล้วกลบ ขุดหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร ขนาดหลุมกว้าง 15 เซนติเมตร
ลึก 15-20 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้วัวแห้งคลุกดินในอัตราส่วน 1 : 1 พื้นที่ 1 ร่อง
ควรปลูกได้ 4 แถว แต่ละแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร
และเว้นที่ว่างแต่ละร่องประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการเดินเก็บยอดและกำจัดวัชพืช
เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว ให้แกะถุงกิ่งพันธุ์โดยใช้มือดึงรากเบาๆ อย่าให้รากขดอยู่ก้นถุง
เพราะจะช่วยให้รากตั้งตรง ทำให้ต้นไม้โตเร็ว ควรปลูกในตอนเย็น และรดน้ำทันทีที่ปลูกเสร็จ

การปลูกบนที่ดอยหรือพื้นที่ลาดเอียง ควรปลูกสลับกันตามแนวขวาง จะช่วยกันดินพังทลายได้
โดยขุดหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร
เพราะถ้าหลุมเล็กเกินไปการขยายรากจะช้า แล้วรองก้นหลุมด้วยขี้วัวแห้ง


การให้น้ำ
ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำมากจนแฉะ ควรรดน้ำอย่างน้อยวันเว้นวันในช่วงเช้า
แต่อย่ารดจนเปียกแฉะ หากปลูกจำนวนมากควรใช้สปริงเกลอร์ดีที่สุด
เพราะจะช่วยประหยัดแรงงาน และรดน้ำได้ทั่วถึงแต่ไม่เปียกแฉะจนเกินไป

การให้ปุ๋ย
เมื่อปลูกผักหวานบ้านได้ประมาณ 15-20 วัน ให้สังเกตว่าผักหวานเริ่มแตกยอดอ่อนหรือไม่
ถ้าเริ่มแตกยอดอ่อนแสดงว่ารากของผักหวานเริ่มหาอาหารเองได้แล้ว
ให้ใช้กรรไกรอย่างคมตัดลำต้นสูงจากดินประมาณ 20 เซนติเมตร จะทำให้ผักหวานแตกยอดเป็นพุ่มเตี้ย
ถ้าไม่ตัดผักหวานจะไม่แตกยอด หลังจากตัดลำต้นช่วงนี้ต้องใจเย็นรอประมาณ 2 เดือน
ผักหวานจะแตกยอดใบอ่อน ควรเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 แล้วรดน้ำทันที
อย่าใส่ปุ๋ยมากในระยะนี้ และควรใช้ปุ๋ยขี้วัวทุกๆ 10 วัน ส่วนปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่เดือนละครั้ง
หากต้องการให้ยอดอวบกรอบ รสหวานอร่อย ควรใช้ปุ๋ยฉีดใบชีวภาพ
โดยนำก้างปลา หอยเชอรี่ ผสมกากน้ำตาลและหัวเชื้อ อีเอ็ม หมักประมาณ 2 เดือน แล้วนำมาผสมน้ำฉีดพ่นที่ใบ

ศัตรูผักหวาน
ในภาคกลางจะไม่ค่อยพบแมลงศัตรูผักหวาน แต่ในภาคเหนืออาจจะพบตัวทากที่ชอบมากัดกินใบ
สามารถกำจัดได้ด้วยการใช้ยาฉีดพ่นที่ทำจากสารสะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ข่า บอระเพ็ด เหล้าขาว
หมักแล้วฉีดพ่น แทนการใช้สารเคมี หากไม่พบไม่ต้องฉีด

การตลาด
เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปเสนอขายให้กับร้านอาหาร ประเภทข้าวต้มโต้รุ่งในจังหวัด
ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้โดยตรง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
จำนวนผักหวานบ้านมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคของนักท่องเที่ยว เพราะมีรสชาติอร่อยและปลอดจากสารพิษด้วย
และในอนาคต ภาคเอกชนเตรียมแปรรูปยอดผักหวานเป็นชาพร้อมดื่มบรรจุกล่อง
และทำเป็นยาอายุวัฒนะในรูปของแคปซูลจำหน่ายด้วย เคล็ด (ไม่) ลับ ความงามของผักหวาน

คุณอรุณฝากเคล็ดไม่ลับในการดูแลผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน ให้เจริญเติบโตแตกยอดอ่อนเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน
ไว้ดังนี้คือ
"ผักหวานนี่พอปลูกได้ ประมาณปีหนึ่ง มันอาจจะมีลูกสีขาวๆ ให้รูดทิ้งหมด ไม่เอาไว้ ถ้าไม่รูดก็ตัดแต่ง มันไม่ตาย
สักเดือนกว่าๆ ก็แตกยอดใหม่อีก เพราะถ้าเก็บลูกไว้ มันจะไปแย่งอาหารหมด ไม่แตกยอด
และการดูแลผักหวานไทย-จีนนี่ เคล็ดลับมันอยู่ที่การให้น้ำ และให้ปุ๋ยคอกนะ
การให้น้ำทางที่ดีควรให้เป็นเวลา ช่วงเช้าสัก 8-9 โมง เป็นช่วงที่เหมาะสม
เพราะในความคิดของผม ช่วงนั้นแสงแดดมีอัลตราไวโอเลต พอให้น้ำแบบใช้สปริงเกลอร์ฉีดพ่นไป
มันจะมีออกซิเจนอะไรต่างๆ ผสมกันเหมาะสมพอดี บางคนถ้าสูบน้ำบาดาลปั๊บ เอามารดเลย
ถ้าอย่างนั้น น้ำบาดาลมันจะขาดออกซิเจน ไม่ว่าจะรดไม้อะไร ไม้ดอกหรือไม้ใบ มันไม่งามหรอก
เพราะขาดออกซิเจน เคล็ดลับง่ายๆ คือ ใช้สายยางฉีดน้ำให้เป็นฝอย แล้วยกมือขึ้นสูงๆ ให้น้ำเป็นฝอยมากที่สุด
เพราะระหว่างที่มันเป็นฝอย ออกซิเจนในอากาศจะได้มาผสมกลมกลืนกัน
แล้วช่วงเช้าที่แสงแดดพอดี จะทำให้ผักหวานเติบโตดี เคล็ดลับง่ายๆ พวกนี้คนไม่ค่อยคำนึงกัน
แล้วด้านของปุ๋ยนี้ขอให้เน้นปุ๋ยคอก แต่อย่าใส่ขี้วัวที่แฉะหรือที่ยังไม่แห้งสนิท เพราะมันมีความเป็นกรด
แต่ถ้าขี้วัวที่แห้งสนิท ร่วนดี ผักจะงามดี ถามว่าใส่ขี้ไก่ ขี้หมูได้ไหม บางส่วนไม่นิยมคือถ้าจะใส่ก็ได้
แต่น่าจะเอามาผสมดินสักหน่อย เพื่อลดความเค็มลง"

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ สามารถเนรมิตให้แปลงผักหวานบ้านเจริญงอกงาม
สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างคุ้มค่าทีเดียว ชาวเชียงรายท่านใดสนใจปลูกผักหวานลูกผสมไทย-จีน
สามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ คุณอรุณ ณรงค์ชัย โทร. (053) 747-190 หรือ (01) 951-2960

อรพินท์ ประพัฒน์ทอง : รายงาน
หนังสือ เทคโนโลยีชาวบ้าน
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 355
ข้อมูลโดย : http://info.matichon.co.th
ที่มา : http://library.dip.go.th
ภาพจาก : http://news.cedis.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น