วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

แก้วมังกร (12) การผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพ

การผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพ ป้องกัน โรค ปุ๋ย เก็บเกี่ยว
แนบไฟล์:
คำอธิบาย: แก้วมังกร
แก้วมังกร.jpg
แก้วมังกร.jpg [ 31.52 KiB | เปิดดู 2070 ครั้ง ]

1. การผลิตแก้วมังกรที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

1.1 มดคันไฟ เป็นศัตรูสำคัญในสวนแก้วมังกรที่ปลูกใหม่โดยชอบกัดกินยอดอ่อน ในช่วงแรกหลังปลูก เกษตรกรจึงควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อทำลาย โดยต้องทำลายทั้งรัง ไม่ทำลายแต่เพียงตัวมดที่พบ แนะนำให้ใช้เหยื่อล่อที่เป็นเนื้อสัตว์สด และติดตามรังโดยสังเกตจากการเดินแถวของมด เมื่อพบรังให้ใช้สารคาร์บาริล ละลายในบัวรดน้ำแล้วราดที่รัง หรือ ฉีดพ่นไปที่ตัวมดตามทางเดินแถว ตามยอดและข้อของต้นแก้วมังกร โดยควรผสมสารลดความตึงผิว(สารจับใบ)เพื่อให้สารเกาะที่ตัวมดได้ดีขึ้น และเนื่องจากมดคันไฟไม่ได้อยู่เป็นรังใหญ่ๆแต่จะมีรังกระจายอยู่ทั่วไป จึงต้องหมั่นตรวจสอบและกำจัดอยู่เรื่อยๆจึงจะได้ผล
 
1.2 นกและแมลงวันทอง เป็นศัตรูสำคัญในระยะติดผล โดยนกจะเจาะกินเนื้อแก้วมังกร ส่วนแมลงวันทองจะวางไข่ทำให้มีหนอนภายในผล วิธีการป้องกันกำจัดทั้งนกและแมลงวันทอง ทำได้โดยการห่อผลในระยะที่ผลมีอายุประมาณ 20 วันหลังดอกบาน (เริ่มจะเปลี่ยนสี) ด้วยถุงทำจากมุ้งพลาสติก
สีฟ้า ขนาด 30 X45 เซนติเมตร

1.3 การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย ควรเน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสม ผสาน และหากมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องเน้นให้มีการเลือกซื้อและมีวิธีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่าง ถูกต้องและปลอดภัย โดย

ก.) การเลือกซื้อสารเคมี ควรแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจวิธีการเลือกซื้อสารเคมีที่มีคุณภาพและเป็นสารเคมี ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เข้าใจรายละเอียดบนฉลากเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากได้อย่างถูก ต้อง โดย
- ไม่ซื้อสารเคมีที่มีฉลากไม่ชัดเจน เลอะเลือน หรือข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีเลขทะเบียน ไม่ระบุผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย ไม่มีวัน เดือน ปี ที่ผลิต ฯลฯ
- ไม่เลือกซื้อสารเคมีที่มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตผู้จำหน่ายอื่น อย่างผิดปกติ
- ไม่ซื้อสารเคมีจากพ่อค้าเร่ หรือผู้ที่จำหน่ายแบบซ่อนเร้น ปิดบัง
- ตรวจดู วัน เดือน ปี ที่ผลิต ( ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ผลิต ) และตรวจดูภาชนะบรรจุ ( ฝาปิดหรือภาชนะไม่มีรอยเปิดหรือฉีกขาด )

ข.) การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม
- ใช้แต่สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย และมีคำแนะนำบนฉลากให้ใช้กับแก้วมังกร ต้องไม่ใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
- อ่านคำแนะนำที่ฉลากให้ทราบคุณสมบัติ และวิธีการใช้ให้เข้าใจก่อนนำไปใช้
- พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ควรเตรียมหรือผสมสารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อจะได้ใช้ให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ให้หยุดใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูแก้วมังกรอย่างน้อย 15 วัน และหยุดใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นแก้วมังกร อย่างน้อย 30 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง

2. การผลิตแก้วมังกรที่มีคุณภาพ
มี รูปทรงสมส่วน มีกลีบเลี้ยงที่พอเหมาะสวยงาม มีขนาดปานกลาง 0.3-0.5 กก./ผล ผิวเปลือกไม่มีรอยตำหนิ รอยด่าง หรือแตกลาย มีเนื้อแน่น มีรสหวานอมเปรี้ยว ความหวานไม่น้อยกว่า 13 % บริกซ์
เนื่องจากยังไม่มีคำแนะนำการผลิตแก้วมังกรตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น จึงได้นำสาระสำคัญจากเอกสาร แก้วมังกร พืชเศรษฐกิจ ผลไม้สุขภาพ ISBN 974-8391-30-2 เรียบเรียงโดย ว่าที่ ร.ต.ดร.สุรพงษ์ โกสิยะจินดา มาสรุปเป็นคำแนะนำ ที่ควรถ่ายทอด
สู่เกษตรกร ดังนี้

2.1 พันธุ์ แก้วมังกร แก้วมังกรที่นิยมปลูกเป็นการค้าในประเทศไทย ในปัจจุบัน มี 2 ชนิด(species) คือ ชนิดเนื้อขาวเปลือกแดง และชนิดเนื้อแดงเปลือกแดง (ชนิดเนื้อแดงจะออกดอกดก แต่ติดผลน้อยถ้าไม่ช่วยผสมเกสรด้วยตัวผู้จากต้นเนื้อขาว) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นต้นพันธุ์แก้วมังกรที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์ดี ผ่านการทดสอบและคัดเลือกแล้วว่า เจริญเติบโตดี ให้ผลดกและมีคุณภาพดี จึงควรเลือกซื้อต้นพันธุ์จากเจ้าของพันธุ์ที่เชื่อถือได้ หรือซื้อจากสวนที่ปลูกแก้วมังกรและออกดอกติดผลให้เห็นแล้วว่ามีคุณภาพดี ( ยกตัวอย่าง เช่น สวนแก้วมังกรบ้านโป่ง โดย ว่าที่ ร.ต. สุรพงษ์ โกสิยะจินดา โทร 0-1825-0945 ซึ่งคัดเลือกสายพันธุ์แก้วมังกรเบอร์ 100 ซึ่งให้ผลดกและมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค)
ต้นพันธุ์ดี มีทั้งต้นพันธุ์ที่เกิดจากการนำกิ่งแก้วมังกรพันธุ์ดีไปตัดเป็นท่อนแล้วนำไป
ปัก ชำโดยตรง หรือเป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการต่อยอดด้วยพันธุ์ดี ต้นพันธุ์ที่เจริญแข็งแรงพอดีจะมีอายุระหว่าง 4-5 เดือน ซึ่งมีระบบรากแข็งแรงพอ และมีกิ่งใหม่ที่แก่แล้ว ความสูงของต้นพันธุ์จากผิววัสดุเพาะชำ(รวมทั้งท่อนพันธุ์เดิมและกิ่งที่แตก ใหม่)ไม่ควรน้อยกว่า 30 เซนติเมตร

2.2 การตัดแต่งกิ่งและการจัดทรงพุ่ม
ระยะปลูกของแก้วมังกรที่เหมาะสม คือ 3 X 3.5 เมตร โดยมีระยะระหว่างแถว 3.5เมตร ระยะระหว่างหลัก 3.0 เมตร จำนวน 150 หลัก/ไร่ เนื่องจากแก้วมังกรเป็นพืชอวบน้ำ และเป็นต้นไม้เลื้อย จึงต้องการหลักหรือเสาเพื่อไต่ขึ้นไปเหนือดิน
เสาหรือหลัก ต้องมีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของต้นแก้วมังกรที่อาจหนักมากกว่า 200 กิโลกรัมได้เป็นอย่างดี ไม่โค่นล้มได้ในภายหลัง อาจใช้ท่อปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว เนื้อท่อหนา 1.4-1.5เซนติเมตร หรือใช้เสาเข็ม เสา คสล. ขนาดต่างๆก็ได้ เสาที่ใช้ควรมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วควรมีความสูงเหนือจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร ปลายเสาต้องติดตั้งร้านหรือค้าง อาจใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้แดง เพื่อให้ทนทานต่อการใช้งานนานถึง 10 ปี และสามารถแบกรับน้ำหนักของแก้วมังกรได้ด้วย นำมาทำเป็นกรอบ ขนาด 0.5 X 0.5 เมตร ติดตั้งบนปลายเสา เพื่อให้ต้นแก้วมังกรเลื้อยเมื่อเจริญถึงสุดปลายเสา(หลัก)
การผูกลำต้น เมื่อต้นแก้วมังกรแตกยอดเจริญทอดยาวขึ้นเรื่อยๆ ให้ผูกลำต้นด้วยเชือกฟางกับเสาให้มั่นคง แต่อย่าแน่นเกินไป โดยผูกเป็นระยะๆไม่ให้ลำต้นโอนเอน พร้อมกับจัดตำแหน่งของลำต้นให้กระจายบนเสา จนเมื่อต้นแก้วมังกรเจริญขึ้นถึงร้านแล้วก็ยังจำเป็นต้องจัดการผูกลำต้น เพื่อจัดให้เป็นระเบียบ เชือกฟางที่ผูกยึดลำต้นนี้จะผุเปื่อยจากแสงแดดได้ ดังนั้นถ้าลำต้นยังออกรากเกาะเสาได้ไม่แน่นหนาพอ ก็จำเป็นต้องผูกเชือกใหม่ให้มั่นคง
การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งมีความสำคัญเพราะกิ่งแก่จะไม่ค่อยออกดอก ดอกจะเกิดได้ดีบนกิ่งใหม่ ซึ่งการตัดปลายยอดจะทำให้แตกยอดใหม่ประมาณ 1-3 ยอด ทุกครั้งที่ตัดปลายยอดให้ทาแผลด้วยปูนขาว หรือปูนกินกับหมาก จึงควรมีการตัดแต่งกิ่งที่ดีตั้งแต่ปีแรก ตามแนวทาง ดังนี้
- ปีที่ 1 เมื่อต้นเจริญเลยปลายเสาและร้านออกไปให้ตัดยอดออก ครั้งที่ 1 เพื่อให้แตกยอดใหม่ ในปีแรกควรตัดยอดประมาณ 3 ครั้ง จะได้กิ่งใหม่ 8 กิ่ง/ต้น หรือ 32 กิ่ง/หลัก
- ปีที่ 2 เมื่อต้นมังกรมีอายุครบ 1 ปี และมีความสมบูรณ์ ก็จะออกดอกและให้ผลได้บ้าง ควรตัดแต่ง 2 ครั้ง จะได้กิ่งใหม่เพิ่มเป็น 32 กิ่ง/ต้น หรือ 128 กิ่ง/หลัก
- ปีที่ 3 ตัดแต่งกิ่ง และตัดยอดอย่างบางเบา เหมือนปีที่ 2 ในหนึ่งหลักจะมีกิ่งประมาณ 190 กิ่ง
- ปีที่ 4 และปีต่อๆไป หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรทำการตัดแต่งกิ่งอย่างหนักโดยตัดเอากิ่งแก่ ที่อยู่ในทรงพุ่มออก และเลี้ยงให้ได้กิ่งสาวประมาณ 200 กิ่งทุกปี

2.3 การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอดี อย่าให้มีน้ำขังแฉะบริเวณรากและโคนต้น ในกรณีที่ใช้ท่อปูนทำเป็นเสา(หลัก) เสานี้จะใช้ใส่น้ำไว้เพื่อลดความร้อนและเพิ่มความชื้นทำให้รากเกาะเสามีมาก ขึ้น ต้นแก้วมังกรที่มีอายุ 2-3 เดือนแรกต้องการน้ำประมาณ 10-20 ลิตร/หลัก/สัปดาห์ และเมื่อต้นแก้วมังกรมีอายุมากขึ้น ลำต้นใหญ่ขึ้น ระบบรากเจริญกระจายไปมากขึ้น ก็ต้องการน้ำมากขึ้นไปด้วย

2.4 การจัดการดินและปุ๋ย
- ปีที่ 1 หลังปลูกแล้ว 2 เดือน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หลักละ 1 บุ้งกี๋ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หลักละ 1-2 ขีด ทุก 2 เดือน รวมประมาณ 1 กิโลกรัม/ปี
- ปีที่ 2 เมื่อต้นแก้วมังกรให้ผลผลิตแล้ว ต้นแก้วมังกรที่มีการเจริญเติบโตอย่างปกติ กิ่งที่มีความสมบูรณ์ ดีมีความแก่พอเหมาะ จะออกดอกในช่วงวันยาว เริ่มตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป โดยทะยอยออกดอก-ติดผล เป็นเวลานานประมาณ 6 เดือน (เมษายน-กันยายน) โดยนับจากเริ่มเห็นตุ่มดอกจนดอกบานใช้เวลาประมาณ 15-18 วัน และจากดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยว ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ดังนั้น จึงพบดอกและผลแก้วมังกรหลายระยะบนต้น/หลักเดียวกัน และมีผลแก่ทะยอยเก็บเกี่ยวได้เกือบทุก 10 วัน ในขณะที่ยังไม่มีคำแนะนำการใส่ปุ๋ยจากงานวิจัยที่ชัดเจน จึงมีคำแนะนำการใส่ปุ๋ยเบื้องต้น ดังนี้
- ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกควรให้ปุ๋ยหลังเก็บเกี่ยวผลรุ่นสุดท้าย
( พฤศจิกายน) ประมาณหลักละ 1- 4 บุ้งกี๋ ตามขนาดของทรงพุ่ม
- ปุ๋ยเคมี ช่วงบำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยว (พฤศจิกายน – มีนาคม) ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 เดือนเว้นเดือน ในอัตราประมาณ 0.2 กก./หลัก/ครั้งในปีแรก และเพิ่มปริมาณขึ้นใน ปีต่อๆไปตามอายุและขนาดของทรงพุ่ม
ช่วงออกดอกและติดผล ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 และสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
สลับกันในอัตราประมาณ 0.2 กก./หลัก/เดือนในปีแรก และเพิ่มปริมาณขึ้นในปีต่อๆไปตามขนาดทรงพุ่มและการติดผล โดยอาจให้ปุ๋ย 15วัน/ครั้ง หรือ 30วัน/ครั้ง

2.5 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช – ดูในข้อที่ 1 -


2.6 การตัดแต่งผล เพื่อให้ได้ผลแก้วมังกรที่มีขนาดใหญ่และสม่ำเสมอ รวมทั้งมีผิวสวยปราศจากรอยตำหนิจึงควรตัดแต่งผลบางส่วนออก เ ช่น ในกิ่งที่ออกดอกและติดผลมาก ให้เลือกตัดผลที่ด้อยออก เหลือไว้เพียง 2 ผล / กิ่ง เพื่อให้ผลที่เหลือเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ให้ตัดผลอ่อนที่เกิดตรงปลายยอดออกตั้งแต่เริ่มติดผลใหม่ๆเพราะผลจะมีลักษณะ ไม่ดี รวมทั้งพิจารณาตัดผลอ่อนที่มีรอยตำหนิ
ซึ่งมักจะเป็นผลที่เกิด ขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลอ่อนเสียดสีกับกิ่งและหนาม เพราะถ้าปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นผลที่ไม่สวย ไม่มีคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา

2.7 การเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง วัยที่เหมาะสมสำหรับเก็บเกี่ยวผลแก้วมังกร คือ หลังจากดอกบานประมาณ 30 วัน หรือ หลังจากผลเปลี่ยนสีแล้ว 4-7 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน เพราะผลจะแก่เกินไป(งอม)
ลักษณะของผลแก้วมังกรที่แก่พอเหมาะจะมีผิวผลสีแดงบานเย็น กลีบบนผลบริเวณโคนกลีบมีสีแดงเล็กน้อยแต่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ส่วนผลที่แก่เกินไป เปลือกเริ่มปริเป็นทาง กลีบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น เนื้อภายในจะค่อนข้างใสและเหลว
วิธีการเก็บเกี่ยว ค่อนข้างยุ่งยากเพราะขั้วของผลแก้วมังกรฝังอยู่ในกิ่ง ทำให้ผลแนบชิดกับกิ่ง โดยทั่วไปเกษตรกรจะตัดกิ่งที่ติดผลลงมาก่อนแล้วจึงค่อยตัดผลออกจากกิ่งในภาย หลัง วิธีนี้ใช้เวลาและแรงงานในการเก็บเกี่ยว/ขนย้ายมาก จึงแนะนำให้ใช้กรรไกรตัดผลแก้วมังกรที่ออกแบบสำหรับเก็บเกี่ยวผลแก้วมังกร โดยเฉพาะ เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้กิ่งเสียหายมากเกินไป หรือเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ทำให้กิ่งนั้นมีโอกาสออกดอกให้ผลได้อีก
ผลแก้วมังกรที่เก็บเกี่ยวลงมาแล้ว ให้บรรจุลงในภาชนะที่สะอาด ไม่ทำให้ผลถูกกดทับมากเกินไปหรือกระแทกช้ำ และไม่ทำให้ผิวผลเกิดริ้วรอยตำหนิขูดขีด ขนย้ายอย่างระมัดระวังไปยังโรงคัดบรรจุ เพื่อคัดแยกผลตามขนาด/คุณภาพ และนำส่งพ่อค้าผู้รับซื้อแก้วมังกรโดยเร็วเพื่อให้ผลแก้วมังกรถึงมือผู้ บริโภคในขณะที่ยังคงมีความสด ทั้งนี้ผลแก้วมังกรจะเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 14 วัน ที่อุณหภูมิ 7-10 องศาเซลเซียส ถ้าเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้จะเกิดความเสียหายได้ สำหรับแก้วมังกรที่ตัดแต่งพร้อมบริโภคบรรจุในภาชนะหุ้มด้วยพลาสติก สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 8วัน

คำอธิบายฉลาก วัตถุอันตรายด้านการเกษตร

ฉลาก ของวัตถุอันตรายด้านการเกษตร เช่น สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องตามกฏหมายควรมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับ ภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุ ระบุเครื่องหมายและข้อความเป็นภาษาไทย ดังนี้
(1) ชื่อทางการค้า
(2) ชื่อสามัญ หรือ ชื่อทางเคมี หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสารสำคัญ
(3) อัตราส่วนผสมและลักษณะผลิตภัณฑ์
(4) วัตถุประสงค์การใช้
(5) เครื่องหมายและข้อความตาม ข้อ 8
(6) ประโยชน์ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับภาชนะบรรจุและการป้องกันอันตรายหรือความเสียหาย
(7) คำเตือน
(8) อาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำให้รีบส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์พร้อมด้วยฉลากหรือภาชนะบรรจุ และคำแนะนำสำหรับแพทย์
(9) ชื่อกลุ่มของสารเคมีเพื่อประโยชน์ในการรักษา (ถ้ามี)
(10) ชื่อผู้ผลิต สถานที่ประกอบการ สถานที่ตั้งโรงงาน และชื่อผุ้นำเข้าพร้อมสถานที่ประกอบการ
(11) ขนาดบรรจุ
(12) เดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้
(13) เลขทะเบียนวัตถุอันตราย
(14) แถบสี เพื่อระบุระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตราย ซึ่งแบ่งเป็น 4 ชั้น ดังนี้
ชั้น 1 เอ พิษร้ายแรงมาก ( แถบสีแดง มีเครื่องหมายหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมข้อความว่า"พิษร้ายแรงมาก" และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )
ชั้น 1 บี พิษร้ายแรง (แถบสีแดง มีเครื่องหมายหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมข้อความว่า"พิษร้ายแรง" และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )
ชั้น 2 พิษปานกลาง (แถบสีเหลือง มีเครื่องหมายกากบาทพร้อมด้วยข้อความว่า "อันตราย" และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )
ชั้น 3 พิษน้อย (แถบสีน้ำเงิน มีเครื่องหมายกากบาทพร้อมด้วยข้อความว่า " ระวัง " และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น