วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลูกอะไรดี (7) "มะระ" รายได้ 27,000 บาท/เดือน/ไร่

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554


ถูกเลิกจ้าง มุ่งหน้าเป็นเกษตรกร-ตั้งใจปลูกผักขาย

เกษตรกรรม เป็นอาชีพที่เหนื่อยถ้าไม่รักจริง
ส่วนอาชีพรับจ้างหรือพนักงานบริษัททั่วไป ถ้าผลประกอบการไม่ดี ก็แย่เหมือนกัน มีสิทธิถูกเลิกจ้างอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ คุณวิศนุ-คุณเพชรรินทร์ หว่านพืช
สองสามีภรรยาที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทตกแต่งภายใน จังหวัดกาญจนบุรี

ในขณะที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งคู่อายุก็มากพอควรสำหรับการที่จะเริ่มต้นเป็นลูกจ้าง ที่สำคัญมีบุตรต้องเลี้ยงดูอีกด้วย

คุณ เพชรรินทร์ เล่าว่า ถูกเลิกจ้างทั้ง 2 คน ตอนแรกก็เคว้งเหมือนกัน แต่ด้วยความชอบด้านเกษตร
ตอนที่ทำงานบริษัท บ้านมีพื้นที่นิดหน่อยก็ปลูกผักสวนครัว พอออกมาก็มุ่งด้านเกษตร

เข้าอบรมเกษตรจึงเริ่มปลูกมะระ

"พอมีโครงการของรัฐช่วยผู้ตกงานให้ฝึกวิชาชีพ
จึงเลือกอบรมเกษตร ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี อบรมให้" คุณเพชรรินทร์บอก

หลังจากที่อบรมแล้ว ได้รับการจัดสรรที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เขตนิคมฯ วังดัง
จำนวน 5 ไร่ ตอนนี้ปลูกผักชี แต่ยังไม่ได้สิทธิครอบครอง ต้องทดลองทำงานเกษตร
อีกทั้งทางการต้องการความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับจัดสรรต้องการทำงานเกษตรอย่างแน่นอน

ในขณะที่อบรมนั้น ทำโครงการปลูกมะระ
เพื่อที่จะนำมาปลูกในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ได้รับจัดสรร
สาเหตุที่เลือกปลูกมะระเพราะปลูกง่ายเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดและทุกฤดูกาล

มะระที่ปลูก ใช้พันธุ์เขียวหยก 16 แข็งแรงทนทาน เริ่มจากการเตรียมต้นกล้า
เพาะต้นกล้าในภาชนะสำหรับเพาะต้นกล้าในทราย ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้ว
และดินละเอียดอย่างละเท่าๆ กัน เจาะหลุมหยอดเมล็ด กลบด้วยดินบางๆ รดน้ำเช้า-เย็น


วิธีการเตรียมดิน
เริ่มจากไถดินให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-10 วัน ย่อยดินให้ละเอียด
หว่านปูนขาวในอัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก อัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่
ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าในแปลง
ยกแปลงสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร
รดน้ำและคลุมด้วยพลาสติคเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช

ย้ายต้นกล้าปลูกเมื่อกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ หรืออายุ 15-20 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูก 1-2 ต้น ต่อ 1 หลุม
ระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 50-75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100-120 เซนติเมตร

สำหรับการดูแลรักษานั้น
ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะช่วงออกดอกและติดผล

หลัง ย้ายปลูก 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่
เพื่อเร่งการเจริญเติบโตใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ โดยทยอยแบ่งใส่ในช่วงออกดอกติดผล

วิธีการทำค้าง สามารถทำได้ 2 แบบ คือ

1. ปักไม้ค้างยาว 2-2.25 เมตร ทุกหลุมเอนปลายเข้าหากันและมัดไว้ด้วยกัน
ใช้ไม้ค้างหรือเชือกไนล่อนผูกขวางทุกระยะ 40-50 เซนติเมตร
หรือใช้ตาข่ายพลาสติคห่างขึงแทนด้านบนของค้าง ใช้ไม้ค้างพาดขวางมัดกันให้แน่น เพื่อป้องกันการโค่นล้ม

2. ปักไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ขึงด้วยตาข่ายพลาสติคตาห่างๆ

คุณเพชรรินทร์ บอกว่า การถอนวัชพืชที่ขึ้นอยู่ใกล้ต้นมะระต้องระมัดระวัง ถอนเบาๆ อย่าให้กระเทือนระบบราก

ศัตรูที่พบ มีโรคราน้ำค้าง
ก่อนปลูกคลุมเมล็ดด้วย เมตาแลกซิล 7 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม
หลังปลูกฉีดพ่นด้วยแมนโคเซบ อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

การเก็บเกี่ยวและตลาด
อายุเก็บเกี่ยวของมะระประมาณ 45-50 วัน ทยอยเก็บผลผลิตที่ได้ขนาดที่เหมาะสมทุกวันหรือวันเว้นวัน
สามารถเก็บได้ 17-20 ครั้ง อายุถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย 85-90 วัน ผลผลิตประมาณ 4,000-6,600 กิโลกรัม/ไร่

สำหรับต้นทุน ค่าแรงงาน 3,840 บาท ค่าวัสดุ 3,380 บาท
และผลตอบแทน ผลผลิต 4,500 กิโลกรัม/ไร่ ราคาเฉลี่ย 6 บาท/กิโลกรัม
รายได้เฉลี่ย 27,000 บาท กำไรประมาณ 19,780 บาท

คุณ เพชรรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังลงเรียนระดับ ปวส. ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี
โดยให้เหตุผลว่าเมื่อใจรักที่จะทำเกษตรก็ต้องให้รู้จริง แม้จะเป็นลูกหลานชาวไร่-ชาวนา ได้วิชาของพ่อแม่มาบ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ในสถาบันการศึกษาคือหลักวิชาการ เพื่อที่จะได้นำมาวางแผนหรือประยุกต์ใช้

"แม้อายุจะ 40 ปีแล้ว ก็ยังไม่แก่เกินเรียน เพราะที่นี่จะมีภาคประชาชนสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้จริงๆ"
คุณเพชรรินทร์บอก

สำหรับ ท่านใดต้องการคำปรึกษาด้านการเกษตรติดต่อได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนยีกาญจนบุรี 1
หมู่ที่ 5 ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000 โทร. (034) 552-106-7

รายงานโดย ชำนาญ ทองเกียรติกุล
คอลัมน์ เทคโนโลยีการเกษตร นิตยสาร เทคโนชาวบ้าน
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 495
ที่มา : http://info.matichon.co.th
ภาพจาก : http://yamrow.brinkster.net

ปลูกอะไรดี (6) "ชะอม" รายได้ 12,000 – 15,000 บาท/เดือน/ไร่

การปลูกชะอม



การปลูกชะอม
         ชะอม เป็นผักพื้นบ้าน คนนิยมรับประทานกันทั้งประเทศ เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จะรับประทานสด เป็นผักลวก ทำเป็นแกงเลียง ชุบไข่ทอด ก็ล้วนแต่อร่อย รากชะอมมีสรรพคุณทางยา รสร้องเผื่อน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในท้อง ยอดชะอมเป็นพืชผักที่ตลาดมีความต้องการสูง เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียวดินร่วนดินทราย
         การปลูกชะอม หากเป็นเขตนอกชลประทาน ควรปลูกในฤดูฝน เพราะดินจะชุ่มชื้น หากอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน จะปลูกในช่วงใดก็ได้ การปลูกชะอมเริ่มต้นด้วยการยกร่องให้สูงประมาณ 60 เซนติเมตร มีความห่างระหว่างแปลง 80-100 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกลงในดิน รดน้ำให้ชุ่ม หากิ่งพันธุ์กลางอ่อนกลางแก่ ตัดให้ได้ความยาว 6-8 นิ้ว นำมาปักลงในแปลงที่เตรียมไว้ โดยปักให้เอียง 45 องศา ลึกลงในดิน 2 นิ้ว ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นนำฟางข้าวมาคลุมบางๆ เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น รถน้ำให้ชุ่ม พื้นที่ 1 ไร่ ใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ 3,200 ต้น
          เมื่อปลูกชะอมแล้วควรรดน้ำทุกๆ 7 วัน และเสริมด้วยปุ๋ยแห้ง (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก) เดือนละครั้ง ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยเลือกตัดยอดอ่อนให้มีความยาวประมาณ 8-10 นิ้ว ควรเก็บในตอนเช้าจะได้ยอดชะอมสด หากเก็บในตอนแดดออกยอดชะอมจะคายน้ำเร็วยอดชะอมจะเหี่ยวเร็ว ศัตรูพืชของชะอมจะเป็นพวกเพลี้ยแดง ทำให้ยอดชะอมม้วนเป็นก้อนกลม ป้องกันได้โดยพ่นฉีดน้ำหมักไล่แมลงทุกๆ 10 วัน
         น้ำหมักไล่แมลงมีส่วนผสมดังนี้ หัวข่าแก่ ตะไคร้หอม สะเดาอย่างละ เท่าๆ กัน นำมาตำและใส่น้ำให้จมแล้วหมักไว้ หมักไว้ประมาณ 5 วัน ก็นำไปฉีดพ่นกับแมลงต่าง ตลอดจนถึงเพลี้ยก็ไม่กล้ามากัดกิน น้ำหมักไล่แมลงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ชะอมหากได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีให้ปุ๋ยทุกๆ 15 วัน รถน้ำให้เกิดความชุ่มชื้น ก็จะเก็บเกี่ยวได้ทุก 4 วัน
          พื้นที่ 1 ไร่ 3,200 ต้น เก็บเกี่ยววันละ 800 ต้น จะได้ประมาณ 100 กำ กำละ 4-5 บาท ก็จะมีรายได้วันละ 400-500 บาทต่อวัน ทุกวัน ในรอบเดือนก็จะมีรายได้วันละ 12,000 – 15,000 บาท ทุกเดือน ในพื้นที่เพียง 1 ไร่ หากอยากมีรายได้มากกว่านี้ก็ให้เพิ่มพื้นที่การปลูก อยากมีรายได้เดือนละ 50,000 บาท ก็ให้ปลูกชะอม 4 ไร่ ไม่รวยก็ให้รู้กันไป

อ้างอิงที่มาจาก หนังสือ ชี้ช่องทางการทำกิน  โดยอาจารย์   สมพล    รักหวาน

ผู้พิมพ์  นาย อนุสรณ์  ชลเกษม

ปลูกอะไรดี (5) "ผักหวานบ้าน" รายได้ 6,000-9,000 บาท บาท/เดือน/ไร่

การปลูกผักหวานบ้าน


ปลูกผักหวานบ้านขายได้เงินเร็ว

ผัก พื้นบ้านทั่วไปหลายชนิดที่ผู้บริโภคทั่วไปให้ความนิยม เกษตรกรเองก็มีความนิยมบริโภค ควรจะปลูกไว้ประจำครัวเรือน มีพื้นที่มากก็ปลูกมาก มีพื้นที่น้อยก็ปลูกน้อย หากปลุกได้มากเหลือจากการบริโภคก็ขายได้ การตลาดปัจจุบันอย่านั่งรอให้คนมาซื้อที่บ้าน หากปลูกผักหลายๆชนิด เอาไปขายตลาดเช้า ตลาดเย็น เดี๋ยวนี้เกษตรกรมีรถกันหมดแล้ว รถมอเตอร์ไซค์คันเดียวก็ขนผักไปขายได้ไม่น้อย มีรายได้วันละ 400-500 บาท หรับเกษตรกรถือว่าเป็นรายได้ที่ดี

         ผักหวานบ้าน ที่กำลังจะกล่าวนี้ เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สมัยก่อนผู้ใหญ่จะเก็บมาจากป่า มาประกอบเป็นอาหารสำหรับนำมารับประทานในครัวเรือน แกงเลียง แกงส้ม ผัดกับหมู ผัดกับไก่ และ เนื้อวัว ผักลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือ จะรับประทานแบบสดๆก็ได้ ขณะนี้ความต้องการในท้องตลาดยังคงมีอยู่สูงและราคายังดีมากๆ การปลูกผักหวานจึงเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดีอีกทางหนึ่ง ผักหวานเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ก่อนจะปลูกเกษตรกรควรที่จะยกร่อง เพื่อความสะดวกในการระบายน้ำในกรณีที่ฝนตกหนัก การปลุกผักหวานจะใช้วิธีปักชำหรือเพาะเมล็ดก็ได้ แต่การปักชำจะสะดวกกว่า เลือกกิ่งกลางอ่อนกลางแก่ตัดให้ได้ความยาวประมาณ 1 คืบ ปักลงในแปลง ระยะห่างระหว่างต้น 50เซนติเมตร ระหว่างแถว 1 เมตร ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ปลูกง่าย แตกรากได้เร็ว หากปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณ 7-10 วัน รากก็จะจับดินแล้ว ไม่ต้องเพาะในถุงก็ได้ พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 3200 ต้น

          การปลูกผักหวานแนวชีวภาพ จะมีโรคและแมลงรบกวนน้อยมากควรให้ปุ๋ยหมักทุก 15 วัน และเสริมด้วยปุ๋ยน้ำการเสริมด้วยปุ๋ยน้ำทุก 7 วัน จะฉีดพ่นทางใบหรือรดราดทางดินก็แล้วแต่สะดวก การให้น้ำจะต้องสม่ำเสมอ เนื่องจากพืชที่ให้ยอดต้องการน้ำมาก หากได้ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ก็จะดีมาก น้ำจะสม่ำเสมอ เนื่องจากพืชที่ตัดยอดจะต้องการน้ำมาก หากได้ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ก็จะดีมาก น้ำจะสม่ำเสมอ ผลผลิตจะสูง การเสริมด้วยปุ่ยน้ำเราจะปล่อยไปกับน้ำ ทำให้ทุ่นแรงประหยัดเวลา
          หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือน ก็เก็บเกี่ยวยอดได้แล้ว พอยอดถูกเด็ดก็จะเกิดยอดใหม่ และจะแตกไปเรื่อยๆ ควบคุมความสูงไว้ให้พอดีเมื่อต้นผักหวานอายุ 6 เดือนขึ้นไป ผลผลิตเข้าที่แล้ว คือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20-30 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ ต่อวัน หากราคากิโลกรัมละ 30 บาท 
ก็มีรายได้แล้ว 600-900 บาทต่อการเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง คือ เก็บ 1 ครั้ง เว้น 3 วัน พื้นที่ 1 ไร่ จะมีรายได้จากการขายผักหวาน 6,000-9,000 บาท บาทต่อเดือน ต้องการเท่าไหร่ก็ให้ขยายพื้นที่ปลูกออกไป ผักหวานเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน สร้างงานสร้างเงินได้ทุกวัน หากขยันดูแล ขยันเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน สร้างงานสร้างเงินได้ทุกวัน หากขยันดูแล ขยันเก็บเกี่ยวปลูกผักหวานให้ได้สัก 3 ไร่ รายได้ดี มีอนาคตที่ดีแน่นอนครับ

ที่มาจาก หนังสือชี้ช่องทางการทำกิน   โดย อาจารย์ สมพล รักหวาน
นาย อนุสรณ์ ชลเกษม ผู้พิมพ์เอกสารฉบับนี้
http://anusorn911.blogspot.com/2011/02/blog-post.html 

################################################################
################################################################

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


ผักหวานลูกผสมไทย-จีน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

ผักหวานลูกผสมไทย-จีน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

ในแวดวงชาวสวนผู้เพาะพันธุ์ไม้จำหน่าย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ คุณอรุณ ณรงค์ชัย
อดีตประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดเชียงราย เพราะในสมัยที่ไปดำรงตำแหน่งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
เขาเคยปลุกปั้นให้ชาวสวนที่นั่นสามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการเพาะขยายพันธุ์ไม้จำหน่าย
แทนการเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเพียงอย่างเดียว และจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงพันธุ์ไม้มาเกือบทั้งชีวิต
ทำให้เขามองเห็นอนาคตอันสดใสของผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะปลูกง่ายแล้ว
ยังเก็บเกี่ยวขายได้ราคาดีตลอดทั้งปีด้วย ผักที่ว่านั้นก็คือ ผักหวานลูกผสมไทย-จีน

ปลุกชีวิตพันธุ์ไม้ สร้างรายได้ให้ชาวปราจีนฯ

เราเดินทางมาพบ คุณอรุณ ณรงค์ชัย ณ ร้านปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ ตรงข้ามโรงเรียนเมืองเชียงราย
ใกล้สี่แยกศรีทรายมูล ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

"ที่ชื่อร้านปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ เพราะเดิมทีเมื่อปี 2529 ผมไปรักษาการประจำจังหวัดปราจีนบุรี
ช่วงนั้นชาวปราจีนบุรีเอง ยังไม่ค่อยได้เอาพันธุ์ไม้อะไรมาขายกันหรอก
ผมก็ได้มีโอกาสช่วยแนะนำ เพราะผมเคยอยู่ที่ตลิ่งชัน พุทธมณฑลมา 16-17 ปี
แถวนั้นต้องยอมรับว่า เป็นแหล่งที่ผลิตพันธุ์ไม้มาก่อนใครเขาในประเทศ แต่เนื่องจากยิ่งผลิตพื้นที่ก็เหลือแคบลงๆ
เพราะบ้านจัดสรรเต็มไปหมด ผมได้คลุกคลีกับชาวบ้านชาวสวน ได้เห็น
พอเราย้ายไปปราจีนฯ จึงเอาความรู้ไปเผยแพร่ ก็ได้ผล เพราะนอกจากแนะนำแล้ว เรายังทำข่าวด้วย
เพราะเป็นประชาสัมพันธ์ เวลามีการจัดงานวันเกษตร เราจะเชิญผู้สื่อข่าวรายการโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์
อะไรต่อมิอะไร เอารถบัสไปรับที่สนามหลวงเลย เราจัดแถลงข่าวในสวน เข้ามารับประทานข้าวในสวน
เดินดูสวน คือสมัยก่อนเราทำแบบถึงลูกถึงคน"

คุณอรุณ ชิงบอกเราเหมือนจะรู้ว่าเรากำลังจะถามอะไร

"ใหม่ๆ ชาวบ้านไม่รู้ว่าการทำกิ่งพันธุ์ขาย มันดีกว่าการเอาผลผลิตไปขาย
แต่ทางที่ดีควรจะมีทั้งสองอย่างพร้อมกัน
แต่ว่าการที่เขาทำกิ่งขาย มันไม่มีฤดูแล้ง
ไม่มีฤดูอะไรต่ออะไร ทำได้ตลอด แต่ว่าผลผลิตนี่บางปีได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง
แต่พอแนะนำไปแค่ปีเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าพันธุ์ไม้ปราจีนฯ โด่งดังขายดิบขายดี ชาวสงชาวสวนลืมตาอ้าปากได้
มีสตางค์กัน เพราะตอนนั้นยังใหม่ กระท้อนต้นหนึ่ง 400-500 บาท ก็มี ชาวสวนรวยกัน
บางคนขาย ส่งได้วันหนึ่งแสนสองแสนบาท ทางใต้เขาเอาสิบล้อมาขนไป แล้วเมื่อก่อนนี้ไม้มันแพง
หลังจากนั้นอีกสองปี จังหวัดปราจีนฯ ก็เป็นจังหวัดที่ผลิตพันธุ์ไม้ขายมากที่สุดในประเทศ
จนเดี๋ยวนี้ยังเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็นครปฐม ซึ่งที่ปราจีนฯ นี่จะเน้นไม้ผลมาอันดับหนึ่ง อันดับสองนี่เป็นไม้ดอก"

หลังจากสร้างชีวิตให้ตลาดพันธุ์ไม้ และสร้างรายได้ให้ชาวสวนของจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ปี 2531
คุณอรุณได้ย้ายมารับราชการ ในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดเชียงราย
ในปีถัดมาเขาได้เปิดร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ในชื่อว่า ปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้
โดยให้ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากคือ คุณลออศรี ณรงค์ชัย เป็นผู้ดูแลกิจการให้ และเขาจะใช้ช่วงเวลาในวันหยุด
ลองวีคเอนด์ นำต้นไม้ใส่ท้ายรถออกตระเวนจำหน่ายยังที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง

"จริงๆ ผมเป็นคนอุทัยธานี แต่ว่าย้ายไปทั่ว พอเปิดร้านขายต้นไม้ก็ให้แม่บ้านเร่ขายต้นไม้ไปเรื่อย ลำบาก
บางทีเสาร์อาทิตย์หยุดติดต่อกัน 3 วัน ผมออกไปขายเองก็มีนะ ช่วงนั้นเราเริ่มก่อสร้างตัว แล้วเราเป็นคนรักต้นไม้
ไปจังหวัดไหนก็มีเพื่อน เพราะวงการค้าต้นไม้นี่รู้จักกันง่าย ผมมาทำงานอยู่เชียงรายถึงปี 2537
จากนั้น จึงย้ายไปเป็นประชาสัมพันธ์ของเชียงใหม่ ทำงานกีฬาซีเกมส์ อยู่เชียงใหม่ 4 ปีกว่าๆ
ย้ายกลับมาอยู่เชียงรายอีก 2 ปี ก็เกษียณ พอเกษียณผมมาดูแลเต็มที่ เพราะชีวิตราชการมันทำอะไรไม่ได้เต็มที่


ผักหวานบ้าน พืชเศรษฐกิจเพื่อชีวิตเกษตรกร

จากการติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงพันธุ์ไม้มาเกือบ 20 ปี คุณอรุณ พบว่า ตลาดพันธุ์ไม้ในบ้านเรานั้น
เป็นแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความนิยมของผู้บริโภค เช่น บางช่วงนิยมกระท้อนผลใหญ่เนื้อฟูนุ่ม
บางช่วงฮิตปลูกฝรั่งไร้เมล็ด บางช่วงพุทราซุปเปอร์จัมโบ้มาแรง บางช่วงนิยมมะยงชิด เป็นต้น

ปัจจุบัน คุณอรุณมองว่า ผักหวานบ้าน ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละภาค
อาทิ ผักก้านตรง จ๊าผักหวาน โถหลุ่ยกะนิเต๊าะ นานาเซียม ผักหวานใต้ใบ และมะยมป่า เป็นต้น
เป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักหวานบ้านพันธุ์ลูกผสมไทย-จีน เพราะมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ปลอดจากสารพิษ
และใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงเลียง ผัดน้ำมันหอย ใส่สุกี้ ลวกจิ้มน้ำพริก
ใส่อาหารจำพวกยำต่างๆ ใส่ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ทำแกงจืด ฯลฯ

อีกทั้งผักหวานบ้าน ยังเป็นแหล่งอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่หลายชนิด
ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียม พร้อมแมกนีเซียมที่มีอยู่ในผักใบเขียวอย่างผักหวาน
จะช่วยให้การยืดหดของกล้ามเนื้อในร่างกาย มีประสิทธิภาพสูงสุดตามไปด้วย
หากบริโภคบ่อยๆ จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ ผักหวานสดยังมีวิตามิน ซี สูงมาก
ซึ่งวิตามิน ซี เป็นแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยไม่ให้เนื้อเยื่อ หรือเซลล์ภายในร่างกายถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ
และรังสีจากแสงแดดที่ทำให้เกิดมะเร็งหรือแก่ก่อนวัย รวมทั้งผิวหนังเหี่ยวย่นด้วย
ที่สำคัญผักหวานยังมีเบต้าแคโรทีน ที่มีอยู่ในผักใบเขียวทั่วๆ ไป เบต้าแคโรทีน จัดเป็นแอนติออกซิแดนต์ตัวหนึ่ง
และเมื่อถูกเปลี่ยนเป็นวิตามิน เอ แล้ว จะช่วยบำรุงสายตาช่วยให้สามารถมองเห็นได้ดีในที่มืด
และยังเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย เอาไว้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อสารพัดชนิด
ประชาชนทั่วไปจึงนิยมรับประทานผักหวานกันทั่วทุกภูมิภาค

ผักหวานมันมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ คือผักหวานป่า กับผักหวานบ้าน
ผักหวานป่าใบจะกลมๆ กลิ่นมันจะแรง ชอบขึ้นอยู่ในป่าที่แห้งแล้งมากๆ
ข้อดีของมันคือความทนแล้ง มันจะแตกยอดเมื่อฝนแรก น่าจะอยู่ที่ปลายเมษาต้นพฤษภา
ซึ่งชาวบ้านจะออกล่าผักหวานกัน เขาจะจำได้ว่าตรงไหนมีกี่ต้นๆ พอฝนตกเขาก็จะไปเก็บผักหวานป่ากัน
ราคาแพงถึงกิโลละสองร้อยเลยนะ พอเข้าหน้าฝนแล้วมันก็ไม่ค่อยจะแตกยอดเท่าไหร่"

คุณอรุณเล่าประสบการณ์การนำผักหวานป่ามาทดลองปลูกในที่ราบให้ฟังว่า
"ผักหวานป่านี่มันมีข้อเสียอยู่อย่างคือ พอเอามาปลูกในที่ราบๆ นี่ตายหมด ผมเคยซื้อที่ลำพูน 200 ต้น
เอามาปลูกตายหมด ไม่เหลือสักต้น มันไม่ชอบ มันชอบอยู่ในป่า เอาออกมาไม่ได้
แต่ผมเห็นแถวสระบุรี เขาขุดหลุมเอาเมล็ดไปหยอด ปลูกกันในป่าเลย
เพราะผักหวานป่านี่มันใช้ระยะเวลาในการฟักตัว ในการสร้างรากนาน
มีคนลำพูนเคยบอกว่าระยะการฝังรากนานมาก บางทีแตกยอดมาให้เห็นนิดเดียว แต่รากยาวมาก
ดังนั้น เวลาเราซื้อมาปลูกแล้วขึ้นรถเขย่ามานี่ ไม่รอดหรอก รากมันบอบบาง ต้องปลูกกันในป่าเลย
ไม่ต้องไปเคลื่อนย้าย ไม่ต้องไปดูแลมันเท่าไหร่ ให้มันขึ้นเองตามธรรมชาติ

แต่ผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน นี่ใบมันจะเรียวยาว ปลายใบจะแหลม ยอดอวบ
ถ้าหากดูแลดีๆ ยอดมันจะใหญ่เท่าปลายตะเกียบ รสชาติหวานกรอบอร่อย ไม่มีกลิ่น มันจะแตกยอดตลอดหน้าฝน
เก็บไปสามสี่วันแตกออกมาอีกแล้ว จะเก็บกันแทบไม่ทันเลย แต่พอหน้าหนาว ปริมาณการแตกยอดน้อยลง
ซึ่งมันเหมือนกันทุกที่ ดังนั้น ผักหวานในฤดูหนาวหรือฤดูแล้งจะแพงมาก กิโลกรัมหนึ่งตกเป็นร้อยๆ บาท
แต่หน้าฝนนี่ไม่ถึง ตกกิโลหนึ่ง 50-60 บาท เพราะมันเยอะมาก แต่ก็ยังถือว่าได้ราคาอยู่"

ปัจจุบันผักหวานบ้านมีราคาซื้อขายตามห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ประมาณกิโลกรัมละ 170-200 บาท
ทว่าในปัจจุบันยังมีผู้ปลูกผัก หวานเพื่อการค้าน้อย จึงมีปริมาณไม่พอเพียงต่อการบริโภคของประชาชนทั่วไป
ผักหวานบ้านจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะแก่เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไป
เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกได้ทุกภูมิภาค โตเร็ว เพียง 3 เดือน ก็สามารถตัดยอดขายได้
ไม่ต้องการการดูแลมาก และใช้พื้นที่ในการปลูกน้อย

"ผมเห็นว่าชาวสวนที่เชียงรายบางรายปลูกลำไยหรือลิ้นจี่ห่างกันเกินไป บางต้นห่างกันเป็น 10 เมตร
ดังนั้น ถ้าเขาปลูกผักหวานเป็นแถวไป ให้ห่างจากโคนต้นไม้ผลสักเมตรเดียว
เวลารดน้ำเราก็ไม่ต้องรดน้ำไม้ผลต้นใหญ่เลย เพราะปุ๋ยที่เราใส่ผักหวานพวกไม้ผลก็จะมาดูดไป
ผมอยากให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทุกวันนี้เกษตรกรยังใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า
ถ้าเราปลูกผัก หวาน ชะอม หรือฝรั่ง หรือไม้ที่ไม่โตมาก จะช่วยให้เราใช้พื้นที่คุ้มค่า
อย่างเก็บผักหวานขายก็สามารถมีรายได้ไปจุนเจือสวนได้ บางทีได้ราคากว่าอีก เพราะมันเก็บขายได้ทุกวัน
ถ้าเก็บได้วันหนึ่ง 10-20 กิโล ก็รวยไม่รู้เรื่อง"

นอกจากชาวสวนจะปลูกผักหวานบ้านแซมในพื้นที่สวน เพื่อเพิ่มรายได้ระหว่างการรอเก็บเกี่ยวไม้ผลประจำปีแล้ว
ผักหวานบ้าน ยังเป็นพืชที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกบนเขา หรือบนพื้นที่สูงด้วยเช่นกัน

"ผมมีความคิดว่าชาวเขาชาวดอยน่าจะปลูกผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน
เพราะนอกจากจะเป็นอาหารของชาวดอยแล้ว เนื่องจากคนดอยอาหารหายาก แต่สิ่งสำคัญที่ผมว่า
คือมันจะอนุรักษ์หน้าดิน เพราะว่ารากมันเยอะ มันจะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เยอะ"


ผักหวานบ้าน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

จากประสบการณ์การปลูกผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีนด้วยตนเอง
ประกอบกับความรู้ที่ได้จากการศึกษาหาข้อมูลและการดูงานตามที่ต่างๆ
คุณอรุณ ณรงค์ชัย จึงได้ให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การดูแล ตลอดจนการหาตลาดจำหน่ายผักหวานบ้าน

การปลูก
ถ้าปลูกในท้องนา ควรไถและตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ดินร่วน
จากนั้น ใช้รถไถยกร่องสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 2.30-2.50 เมตร
ถ้าเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม ไม่ควรยกร่องสูงมาก เพราะถ้ายกสูงมากเกินไป ดินที่อยู่ด้านล่างจะไม่ค่อยมีปุ๋ย
หลังจากไถเสร็จแล้วโรยด้วยขี้วัวแล้วกลบ ขุดหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร ขนาดหลุมกว้าง 15 เซนติเมตร
ลึก 15-20 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้วัวแห้งคลุกดินในอัตราส่วน 1 : 1 พื้นที่ 1 ร่อง
ควรปลูกได้ 4 แถว แต่ละแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร
และเว้นที่ว่างแต่ละร่องประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการเดินเก็บยอดและกำจัดวัชพืช
เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว ให้แกะถุงกิ่งพันธุ์โดยใช้มือดึงรากเบาๆ อย่าให้รากขดอยู่ก้นถุง
เพราะจะช่วยให้รากตั้งตรง ทำให้ต้นไม้โตเร็ว ควรปลูกในตอนเย็น และรดน้ำทันทีที่ปลูกเสร็จ

การปลูกบนที่ดอยหรือพื้นที่ลาดเอียง ควรปลูกสลับกันตามแนวขวาง จะช่วยกันดินพังทลายได้
โดยขุดหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร
เพราะถ้าหลุมเล็กเกินไปการขยายรากจะช้า แล้วรองก้นหลุมด้วยขี้วัวแห้ง


การให้น้ำ
ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำมากจนแฉะ ควรรดน้ำอย่างน้อยวันเว้นวันในช่วงเช้า
แต่อย่ารดจนเปียกแฉะ หากปลูกจำนวนมากควรใช้สปริงเกลอร์ดีที่สุด
เพราะจะช่วยประหยัดแรงงาน และรดน้ำได้ทั่วถึงแต่ไม่เปียกแฉะจนเกินไป

การให้ปุ๋ย
เมื่อปลูกผักหวานบ้านได้ประมาณ 15-20 วัน ให้สังเกตว่าผักหวานเริ่มแตกยอดอ่อนหรือไม่
ถ้าเริ่มแตกยอดอ่อนแสดงว่ารากของผักหวานเริ่มหาอาหารเองได้แล้ว
ให้ใช้กรรไกรอย่างคมตัดลำต้นสูงจากดินประมาณ 20 เซนติเมตร จะทำให้ผักหวานแตกยอดเป็นพุ่มเตี้ย
ถ้าไม่ตัดผักหวานจะไม่แตกยอด หลังจากตัดลำต้นช่วงนี้ต้องใจเย็นรอประมาณ 2 เดือน
ผักหวานจะแตกยอดใบอ่อน ควรเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 แล้วรดน้ำทันที
อย่าใส่ปุ๋ยมากในระยะนี้ และควรใช้ปุ๋ยขี้วัวทุกๆ 10 วัน ส่วนปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่เดือนละครั้ง
หากต้องการให้ยอดอวบกรอบ รสหวานอร่อย ควรใช้ปุ๋ยฉีดใบชีวภาพ
โดยนำก้างปลา หอยเชอรี่ ผสมกากน้ำตาลและหัวเชื้อ อีเอ็ม หมักประมาณ 2 เดือน แล้วนำมาผสมน้ำฉีดพ่นที่ใบ

ศัตรูผักหวาน
ในภาคกลางจะไม่ค่อยพบแมลงศัตรูผักหวาน แต่ในภาคเหนืออาจจะพบตัวทากที่ชอบมากัดกินใบ
สามารถกำจัดได้ด้วยการใช้ยาฉีดพ่นที่ทำจากสารสะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ข่า บอระเพ็ด เหล้าขาว
หมักแล้วฉีดพ่น แทนการใช้สารเคมี หากไม่พบไม่ต้องฉีด

การตลาด
เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปเสนอขายให้กับร้านอาหาร ประเภทข้าวต้มโต้รุ่งในจังหวัด
ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้โดยตรง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
จำนวนผักหวานบ้านมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคของนักท่องเที่ยว เพราะมีรสชาติอร่อยและปลอดจากสารพิษด้วย
และในอนาคต ภาคเอกชนเตรียมแปรรูปยอดผักหวานเป็นชาพร้อมดื่มบรรจุกล่อง
และทำเป็นยาอายุวัฒนะในรูปของแคปซูลจำหน่ายด้วย เคล็ด (ไม่) ลับ ความงามของผักหวาน

คุณอรุณฝากเคล็ดไม่ลับในการดูแลผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน ให้เจริญเติบโตแตกยอดอ่อนเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน
ไว้ดังนี้คือ
"ผักหวานนี่พอปลูกได้ ประมาณปีหนึ่ง มันอาจจะมีลูกสีขาวๆ ให้รูดทิ้งหมด ไม่เอาไว้ ถ้าไม่รูดก็ตัดแต่ง มันไม่ตาย
สักเดือนกว่าๆ ก็แตกยอดใหม่อีก เพราะถ้าเก็บลูกไว้ มันจะไปแย่งอาหารหมด ไม่แตกยอด
และการดูแลผักหวานไทย-จีนนี่ เคล็ดลับมันอยู่ที่การให้น้ำ และให้ปุ๋ยคอกนะ
การให้น้ำทางที่ดีควรให้เป็นเวลา ช่วงเช้าสัก 8-9 โมง เป็นช่วงที่เหมาะสม
เพราะในความคิดของผม ช่วงนั้นแสงแดดมีอัลตราไวโอเลต พอให้น้ำแบบใช้สปริงเกลอร์ฉีดพ่นไป
มันจะมีออกซิเจนอะไรต่างๆ ผสมกันเหมาะสมพอดี บางคนถ้าสูบน้ำบาดาลปั๊บ เอามารดเลย
ถ้าอย่างนั้น น้ำบาดาลมันจะขาดออกซิเจน ไม่ว่าจะรดไม้อะไร ไม้ดอกหรือไม้ใบ มันไม่งามหรอก
เพราะขาดออกซิเจน เคล็ดลับง่ายๆ คือ ใช้สายยางฉีดน้ำให้เป็นฝอย แล้วยกมือขึ้นสูงๆ ให้น้ำเป็นฝอยมากที่สุด
เพราะระหว่างที่มันเป็นฝอย ออกซิเจนในอากาศจะได้มาผสมกลมกลืนกัน
แล้วช่วงเช้าที่แสงแดดพอดี จะทำให้ผักหวานเติบโตดี เคล็ดลับง่ายๆ พวกนี้คนไม่ค่อยคำนึงกัน
แล้วด้านของปุ๋ยนี้ขอให้เน้นปุ๋ยคอก แต่อย่าใส่ขี้วัวที่แฉะหรือที่ยังไม่แห้งสนิท เพราะมันมีความเป็นกรด
แต่ถ้าขี้วัวที่แห้งสนิท ร่วนดี ผักจะงามดี ถามว่าใส่ขี้ไก่ ขี้หมูได้ไหม บางส่วนไม่นิยมคือถ้าจะใส่ก็ได้
แต่น่าจะเอามาผสมดินสักหน่อย เพื่อลดความเค็มลง"

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ สามารถเนรมิตให้แปลงผักหวานบ้านเจริญงอกงาม
สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างคุ้มค่าทีเดียว ชาวเชียงรายท่านใดสนใจปลูกผักหวานลูกผสมไทย-จีน
สามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ คุณอรุณ ณรงค์ชัย โทร. (053) 747-190 หรือ (01) 951-2960

อรพินท์ ประพัฒน์ทอง : รายงาน
หนังสือ เทคโนโลยีชาวบ้าน
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 355
ข้อมูลโดย : http://info.matichon.co.th
ที่มา : http://library.dip.go.th
ภาพจาก : http://news.cedis.or.th

ปลูกอะไรดี (4) "ตะไคร้" รายได้ 15,000 – 20,000 บาท/เดือน/ไร่

ตะไคร้พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตาปลูกง่ายดูแลง่ายขายได้ราคา

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตค. 2555

ตะไคร้เป็น พืชพื้นบ้านที่มีประโยชน์หลายอย่าง ได้ทั้งทำอาหาร เครื่องดื่ม เป็นยารักษาโรค และไล่แมลง เราใช้ประโยชน์จากตะไคร้กันมานานแล้ว ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการทำอาหาร ตะไคร้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องแกง ปัจจุบันตะไคร้ในตลาดยังไม่เพียงพอที่จะป้อนเข้าโรงงาน และในตลาดสดตะไคร้ก็ยังเป็นที่ต้องการของแม่บ้าน และผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ อยู่

ปลูกตะไคร้ขายดีอย่างไร

  1. ตะไคร้เป็นพืชโตเร็ว เพียงแค่ 1-2 เดือนก็สามารถตัดขายได้แล้ว
  2. ขยายพันธุ์ง่าย ซื้อต้นพันธุ์แค่ครั้งแรก สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดไป
  3. ตะไคร้เป็นพืชที่มีโรคน้อย ศัตรูพืชก็ไม่มี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องดูแล เพียงแค่ดูแลวัชพืชที่แปลงปลูกเล็กน้อย
  4. เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี ให้น้ำ 2 วันครั้งก็ได้
ราคาตะไคร้ในท้องตลาดอยู่ที่ 10 บาทต่อ 1 กิโลกรัม

การลงทุน

การ ปลูกตะไคร้ไม่ต้องลงทุนมาก ตอนแรกลงทุนต้นพันธุ์ตะไคร้ โดยต้นพันธุ์สามารถซื้อตะไคร้ที่เขาขายตามตลาดมาก็ได้ นำมาแช่น้ำให้รากออก (ใช้เวลาประมาณ 3 วัน) แล้วนำลงปลูก ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีก เพราะสามารถตัดได้ตลอด

เทคนิคการปลูกตะไคร้

  1. การเตรียมดิน ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย ให้ไถพลิกดินและไถพรวนลึกประมาณ 0.5 เมตร แล้วทำหลุม แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 0.5 เมตร
  2. ลงต้นพันธุ์หลุมละ 3 ต้น กลบดินพอมิดรากตะไคร้สัก 10 เซนติเมตร
  3. ปลูก ใหม่ให้รดน้ำทุกวัน แต่ระวังอย่าให้น้ำเข้าไส้ตะไคร้ เวลาลดให้ลดทีโคนต้นตะไคร้เท่านั้น มิฉะนั้นต้นตะไคร้จะเน่า ห้ามใช้สปริงเกอร์เป็นอันขาด ให้น้ำที่โคนกกเท่านั้น
  4. ในช่วง 3 วันแรกที่ปลูกให้พลางแสงแดดให้ตะไคร้ด้วยมู่ลี่ จากนั้นก็เอาออกซะ เพราะตะไคร้ปรับตัวได้แล้วและธรรมชาติของตะไคร้ชอบแดด เจริญเติบโตได้เพราะมีแสงจ้า
  5. เมื่อผ่านไป 1 เดือน ตะไคร้จะเริ่มตั้งกอ ให้สักเกตที่ต้น ถ้าต้นเจริญเติบโตดี (ลำต้นที่ใช้ได้ สามารถตัดไปขายได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร) ตัดตะไคร้ให้ติดกก แต่อย่าให้สะเทือนรากที่อยู่ในดิน เพราะตะไคร้สามารถแตกขึ้นมาตั้งกอได้อีก หลังตัดไม่ต้องหาต้นพันธุ์มาปลูกใหม่
  6. เมื่อตัดควรตัดให้หมดกอ เพื่อต้นตะไคร้ที่แตกใหม่จะได้เติบโตได้เต็มที่
  7. หลัง จากตัดแล้วตะไคร้จะตั้งกอใหม่ภายในเวลา 1-2 เดือน เมื่อตะไคร้โตเต็มที่แล้วก็สามารถตัดได้อีกเรื่อยไปจนกว่าต้นจะโทรมหรือ ตะไคร้ไม่แตกขึ้นมาอีก

การตกแต่งตะไคร้เพื่อส่งขาย

ตะไคร้เมื่อ ตัดมาแล้วใบจะยาวและมีก้านสีน้ำตาลแห้ง ๆ ติดมาด้วย ให้ตัดก้านใบที่แห้งออกให้หมด รวมถึงต้องลอกก้านใบที่อ้าออกมาด้วย ให้เหลือแต่ต้นกลม ๆ ใบก็ตัดออกครึ่งหนึ่ง ถ้าตัดแล้วยังไม่ขายสามารถแช่น้ำไว้ได้ โดยตั้งต้นตะไคร้ให้ตรงในภาชนะทรงกระบอก ใส่น้ำพอท่วมกกตะไคร้ ตะไคร้จะอยู่ได้ประมาณ 1-2 วันแล้วจึจะแตกราก ถ้าแตกรากแล้วขายไม่ได้ เก็บไว้ทำพันธุ์ขยายปลูกต่อไป
ตะไคร้ 
ตะไคร้สามารถ ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่ ถ้ารับซื้อจำนวนมากจะคิดราคาเหมาเป็นตัน ตะไคร้สร้างรายได้ 15,000 – 20,000 บาทต่อไร่
การปลูกตะไคร้ไม่มีแมลงมารบก วนเพราะกลิ่นฉุน แต่จะมีโรคใบแดงเพราะเชื้อราบ้างให้หายามาฉีดเสีย อย่าปล่อยให้ลุกลาม เดี๋ยวจะติดกออื่น ตะไคร้ไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ถ้าดินดี แต่ถ้าต้องการใส่ให้ใส่ปุ๋ยสูตรใบที่โคนต้น ไม่ต้องติดโคนมากนัก หว่านบนดินทิ้งระยะสัก 5 นิ้วรอบกกต้น ให้ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้ว
นอก จากจะขายส่งแล้วเรายังสามารถแปลรูปตะไคร้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อีก เช่น ทำเครื่องดื่มน้ำตะไคร้ นำไปทำยำตะไคร้ และสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง เป็นต้น
จาก ข้อมูลข้างต้น ตะไคร้เป็นพืชที่คู่ควรต่อการลงทุนปลูก เพราะเก็บผลผลิตได้เร็ว ลงทุนน้อย และตลาดรองรับ ตะไคร้พันธุ์ที่ตลาดนิยมรับซื้อเป็นตะไคร้ขาว ตะไคร้ขาวเป็นตะไคร้ที่ใช้ทำอาหาร และเครื่องแกง ส่วนตะไคร้หอม ส่วนแบ่งการตลาดจะน้อยกว่า แต่ก็ยังขายได้ ตะไคร้หอมนำไปทำสเปรย์ไล่ยุง ส่วนตะไคร้แดงไม่ค่อยมีคนรับซื้อมากนัก ไม่นิยมปลูก

ที่มา
อาชีพเสริม สร้างรายได้

ปลูกอะไรดี (3) "มันสำปะหลัง" 7 ไร่ ได้เงินล้าน

ปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ ให้ได้เงินล้าน งานเกษตรทำเงิน ของ คะนอง แป้นตระกูล

                วิถีชีวิตทำกิน ของเกษตรกรของไทย แทบจะไม่มีอาชีพใดทำแล้วรวย โดยเฉพาะอาชีพการปลูกพืชไร่ ส่วนใหญ่แค่พออยู่พอกิน ยกเว้นแต่คนที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจเกษตร ซึ่งมักจะเป็นบริษัทที่มีความพร้อมทางด้านทรัพยากร ความรู้ และเงินทุนมหาศาลเท่านั้น แต่การเกษตรสามารถทำให้เกษตรกร มีอยู่มีกิน อยู่อย่างพอเพียงได้ หากจะทำงานเกษตรให้รวย ยังเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้มีทางออก และทางเลือกใหม่ ทำเกษตรให้รวยได้ ถ้าใจรัก ขยัน อดทนและเอาใจใส่ ทำอย่างจริงจัง ทำเกษตร 1 ไร่ ได้เงินแสน ทำ10 ไร่ ได้เงินล้าน การณ์นี้มิได้เกินจริง เพราะผู้เขียนบุกมาพิสูจน์จริง ที่สวนเกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์ ปลูกมันสำปะหลัง แค่ 7 ไร่ สามารถได้เงินล้านเลยทีเดียว

                บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ถูกจัดสรรปันส่วนไว้ปลูกบ้าน บ่อเลี้ยงปลา และปลูกไม้ผล พืชผักไว้รับประทานเอง ประมาณ 3 ไร่ เหลือพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ใช้เป็นแปลงปลูกมันสำปะหลัง ตามโครงการ 30 ตัน/ไร่ ของนายคะนอง แป้นตระกูล เกษตรกรหัวก้าวหน้า วัย 60 กว่าๆ จาก อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์

                คุณคะนองเล่าความเป็นมาให้ฟังว่า เดิมทีตนมีอาชีพส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกผัก ปลูกแตงกวา แตงโมอ่อน พริกสด ส่งขายตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง โดยตนจะออกค่าปุ๋ย ค่ายาให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกลูกไร่ พอผลผลิตออก ก็จะไปรับผักส่งตลาดเอง ขายได้ก็หักค่าใช้จ่าย ที่เหลือก็คืนให้ลูกไร่ ทำไปทำมา ราคาพืชผักผันผวนมาก ราคาขึ้นลงวันหนึ่งหลายรอบ โดยพ่อค้าคนกลางตัดราคาอีหลายทอด ทำให้ขาดความแน่นอนในเรื่องของราคา  ทำไปทำมาก็ขาดทุนไปเรื่อย เลยเลิกโครงการ แล้วก็หยุดอาชีพการเกษตรไปเลย

                “ต่อมาก็ไม่ได้ทำอาชีพอะไรอย่างจริงจัง ปล่อยไร่ให้ชาวบ้านเช่า ปีละไม่กี่พันบาท จนกระทั่งเมื่อปลายปี  พ.ศ.2554 ช่วงน้ำท่วมใหญ่พอดี ก็มีคนแนะนำว่า มีมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ปลูก 1 ไร่ จะได้ผลผลิตสูงถึง 30 ตัน ตอนนั้นผมไม่เชื่อหรอกจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อแถวบ้านผมคนปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพ อย่างเก่งก็ได้ไร่ละ 3-5 ตันเท่านั้น เขาปลูกกันมาหลายชั่วชีวิตคน ยังได้ผลผลิตแค่นั้น แต่ผมก็ศึกษาดูจากข้อมูลที่ลูกๆหามาให้ อ่านหนังสือ ดูรายละเอียดอยู่นาน ก็คิดนัก ทั้งอยากลองปลูก ทั้งกลัวเหนื่อย กลัวไม่ได้ผล เพราะผมไม่เคยทำไร่ ด้วยตัวเองมาก่อน แต่ก็ทนคำรบเร้าจากลูกๆไม่ได้ เพราะเขาซื้อพันธุ์มาให้ ต้นละ 15 บาทก็เลยตัดสินใจปลูก มันในพื้นที่ ทั้งหมด 7 ไร่ มี 2 สายพันธุ์ คือ เกล็ดมังกรจัมโบ้ 4 ไร่ และไจแอนท์-เบอร์1 อีก 3 ไร่ โดยปลูกตามหลักวิชาการและการจัดการตามโปรแกรม ของ โปร-1 มีนักวิชาการมาช่วยอบรม ให้คำแนะนำการปลูกทุกขั้นตอน”

ปลูกตามหลักวิชาการ-ด้วยระบบโปรแกรมการจัดการ
                คุณคะนอง กล่าวต่อว่า เริ่มต้นจากการเตรียมดิน ด้วยการขุดดินไปวิเคราะห์หาธาตุอาหาร วิเคราะห์โครงสร้างของดินและเพื่อคำนวณสูตรปุ๋ย ทำเป็นปุ๋ยสั่งตัด ผสมใช้เอง ตรวจดินแล้วก็เริ่มไถดะผลาญ 3 ไถให้ลึกที่สุด เติมปุ๋ยขี้ไก่พร้อมแกลบเล้าไก่ ไร่ละประมาณ 1 ตัน ตากดินไว้ 2 สัปดาห์ แล้วไถแปร และไถตีดินละเอียดด้วยเครื่องโรตาลี่ อีกรอบ ปรับพื้นไร่ให้เรียบไม่ต้องยกร่อง จากนั้นก็ต่อระบบน้ำ โดยใช้ระบบสปริงเกอร์ เดินระบบน้ำเสร็จ เปิดน้ำรดให้ชุ่ม จากนั้นเตรียมท่อนพันธุ์ด้วยการแช่น้ำยาโปร-ฟอส กับโปร-1 เบอร์1 แช่ท่อนพันธุ์ 2 ชั่วโมงก็ใช้ได้ แล้วนำไปปลูกในแปลงที่รดน้ำให้ชุ่มไว้แล้ว ปักเอียง 45 องค์ศา หันหัวไปทางทิศตะวันออก ปลูกห่างกัน ระหว่างต้นและระหว่างแถว 1.20X1.20 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ใช้ท่อนพันธุ์ปลูก 1,200 หลุม หรือใช้ต้นพันธุ์ก่อนตัดเป็นท่อน ประมาณ 250 ต้น/ไร่ หลังจากปลูกมันเสร็จ ให้ฉีดยาคุมหญ้า หาซื้อได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์ทั่วไป จะช่วยคุมการงอกของเมล็ดหญ้าได้ประมาณ 1 เดือน

                ปลูกมันสำปะหลังครั้งแรก ให้รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง ในระหว่างนั้น ให้ใช้จุลลินทรีย์หน่อกล้วย ซึ่งหมักใช้เอง ไม่ต้องซื้อ ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นลงดิน อาทิตย์ละครั้ง จะช่วยให้ย่อยสลายจุลินทรีย์ในดินได้ดี และช่วยให้ดินร่วนซุยมากขึ้น หลังจากปลูกประมาณ 1 สัปดาห์ มันสำปะหลังจะเริ่มแตกตาและออกใบ ให้ฉีดโปร-1 0 จำนวน 20 ซีซีและเบอร์2 จำนวน 5 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร และใช้ฉีดต่อเนื่องทุก 21 วัน พออายุได้ 1 เดือนให้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตรปุ๋ย 46-0-0 จำนวน 10 กก./ไร่ สูตร18-48-0 จำนวน 6 กก./ไร่ สูตร 0-0-60 จำนวน 9 กก./ไร่ ขี้ไก่อัดเม็ด 1 กระสอบ และแร่เทคโตมิค 1 กก./ไร่ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน โรยรอบโคนต้น 3 เดือนใส่ 1 ครั้ง และรดน้ำทุก 15 วัน ก็พอ หลักการนี้ทำให้มันสำปะหลังโตไว ลำต้นแข็งแรง ออกหัวเร็ว หัวดก โตเร็ว ให้หัวใหญ่ด้วย

                “ผมปลูกมันสำปะหลังสองพันธุ์จะโตเร็ว ให้คนงานดาหญ้า แค่ 2 รอบ พอเดือนที่ 3 มันจะต้นสูงท่วมหัว คลุมพื้นหมดเลย หญ้าไม่ขึ้นอีก พอมันโตแล้ว เราเปิดน้ำ ให้มันเดือนละ 2 ครั้ง แต่ฉีดจุลินทรีย์หน่อกล้วยอาทิตย์ละครั้ง การปลูกมันด้วยโปรแกรมการจัดการแบบ โปร-1 ทำให้ประหยัดต้นทุนมาก เพราะเฉลี่ยแล้วใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดปี ผมใช้เพียงไร่ละประมาณ 1 กระสอบเท่านั้น ฮอร์โมนเร่งต้น เร่งหัวเพียง 21 วัน ต่อครั้ง  และฉีดแค่อายุ 6 เดือนก็หยุดฉีด การให้น้ำก็เปิดสปริงเกอร์ 15 วันครั้ง แต่ถ้าทำระบบน้ำหยด ยิ่งสะดวกสบายกว่านี้อีก แปลงต่อไปผมจะใช้ระบบน้ำหยด ผมลงทุนการปลูกมันสำปะหลังครั้งนี้ เฉลี่ยค่าใช้จ่าย ไร่ละประมาณ 1,5000 บาท ทั้งหมด 7 ไร่ใช้งบประมาณประมาณ 105,000 บาท ผมจ้างทุกอย่าง ทั้งค่าไถ ค่าฉีดยา ค่าดาหญ้า ค่าคนปลูก ไม่ได้จ่ายครั้งเดียวหมดนะครับทยอยจ่ายตามรายการที่ทำ แต่รายได้มากกว่าหลายเท่าเลยครับ”

ปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ ให้ได้เงินล้าน


กระทู้: ปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ ให้ได้เงินล้าน งานเกษตรทำเงิน ของ คะนอง แป้นตระกูล
เริ่มกระทู้โดย: destinygoal ที่ 7 มี.ค. 13, 15:21 น

ปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ ให้ได้เงินล้าน

                “ตอนนี้ผมปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกล็ดมังกรจัมโบ้ และพันธุ์ไจแอนท์-เบอร์1 ได้ 7 เดือนแล้วครับ ผมเริ่มขายต้นพันธุ์ได้แล้ว ตัดต้นขายต้นละ 15 บาท มันสำปะหลังเกล็ดมังกรจัมโบ้ 1 ต้น ให้กิ่งที่ยาวเกิน 1.20 เมตร ประมาณ 5-10 กิ่ง ขายได้ทุกกิ่ง  1ไร่ ผมปลูก 1,200 ต้น ได้กิ่งที่สมบูรณ์ประมาณ 6,000-12,000 กิ่ง ผมตัดขายไปแล้วประมาณ 2 ไร่ มีรายได้ กว่า 200,000 บาท ได้ทุนคืนและได้กำไรแล้วครับ ยังเหลือต้นพันธุ์อีกกว่า 5 ไร่ และมีคนจองไว้อีกหลายหมื่นต้น ถ้าคำนวณขั้นต่ำ ตัดกิ่งมันสำปะหลังขายต้นละ 5 กิ่ง 1 ไร่ จะได้ต้นขาย 6,000 กิ่ง ขายกิ่งละ 15 บาท จะมีรายได้จากการขายกิ่งอย่างเดียว ไร่ละ 90,000 บาท เริ่มตัดขายได้ตั้งแต่ 6 เดือน 1 ปี ตัดต้นขายได้ 2 รอบ ดังนั้น 1 ไร่ สามารถตัดต้นขายได้ ไม่ต่ำกว่า 12,000 กิ่ง รายได้รวมกว่า 180,000 บาท/ไร่ ผมปลูก 7 ไร่ สามารถทำรายได้ กว่า 1,200,000 บาทใน 1 ปี” คุณคะนองกล่าว

ปลูกมัน 7 เดือนได้ผลผลิตกว่า 30 ตัน/ไร่

                คุณคะนองกล่าวอีกว่า โอกาสของรายได้มีมากกว่านั้น เพราะตอนนี้ ได้ขุดหัวมันขึ้นมาพิสูจน์ เกล็ดมังกรจัมโบ้ ปลูกไปแค่ 7 เดือน ขุดขึ้นมาชั่งน้ำหนัก 2 ต้นๆแรก ได้น้ำหนัก 18.50 กก.1ไร่ ปลูก 1,200 ต้น น้ำหนักเฉลี่ย 22,200 บาท หรือ 22.2 ตัน/ไร่ ต้นที่ 2 ได้น้ำหนัก 25.8 กก. 1ไร่ได้น้ำหนักเฉลี่ย 30,960  กก.หรือ 30.96 9 ตัน มีเกษตรกรจากในพื้นที่ มาร่วมพิสูจน์กว่า 10 คน ทุกคนต่างตื่นเต้นกับผลผลิตที่ได้ และมั่นใจว่า มันสำปะหลังพันธุ์เกล็ดมังกรจัมโบ้ สามารถตอบโจทย์ แก้จนให้เกษตรกร ได้แน่นอน

                ส่วนพันธุ์ไจแอนท์-เบอร์1 ผมปลูกได้เพียง 6 เดือน ขุดหัวมันขึ้นมาพบว่าหัวดก ออกหัวเป็นชั้น แต่หัวมันยังอ่อน สามารถโตได้อีกมาก ชั่งดูแล้วได้น้ำหนัก 19.0 กก. คำนวณน้ำหนักเฉลี่ยไร่ละ 22,800 กก.หรือ 22.8 ตัน จะเห็นได้ว่ามันสำปะหลังทั้ง 2 สายพันธุ์ปลูกแค่ครึ่งปี สามารถให้ผลิตสูง น้ำหนักดี ไม่ต่ำกว่า 20 ตัน/ไร่แน่นอน ถ้าปลูกเป็นปี ต้องได้น้ำหนักมากกว่านี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกร

                “แถวบ้านผมจะทำอาชีพการเกษตรกันทุกบ้าน ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเก็บเกี่ยวกันประมาณเดือนกันยายน หลายคนเก็บข้าวโพดเสร็จแล้วก็จะ ลงปลูกมันสำปะหลังทั้ง 2 พันธุ์ ต่อเลย เชื่อว่าถ้ามันสำปะหลังราคาดี แค่ กก.ละ 2 บาท โอกาสที่จะมีรายได้อย่างต่ำไร่ละ 40,000 บาท มีความเป็นไปได้แน่นอน

                ที่สำคัญแถวบ้านผม จังหวัดเพชรบูรณ์และนครสวรรค์ ลานมันรับซื้อมันราคาเดียว ไม่มีกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้ง ราคารับซื้อขึ้นๆลงๆตามฤดูกาล ปัจจุบัน ราคากิโลกรรมละ 2.50 บาทบางปีราคาดี กิโลกรัมละ 3.20 บาท และราคาต่ำสุด ประมาณ 1.40 บาท เมื่อเถ้าแก่ลานมันกำหนดการรับซื้อแบบนี้ ผมมีโครงการจะปลูกมันปรัง 1 ปี ปลูก 2 ครั้ง ขุดขายได้ 2 รอบ ลองคิดเล่นๆ ถ้าผมปลูกตามโปรแกรมนี้ 6 เดือนได้ไร่ละ 20 ตัน ขายตันละ 2,500 บาท มีรายได้ไร่ละ 50,000 บาท หักค้าขุดและค่าต้นทุน แล้วเหลือไม่ต่ำกว่าไร่ละ 30,000 บาทแน่นอน 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบ รายได้ไร่ละ 1 แสนบาทหรือหักค่าใช้จ่ายแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 บาท/ไร่ แค่ขุดหัวขายอย่างเดียว ผมคิดว่าเกษตรกรจะสามารถลืมตาอ้าปากได้แน่นอนครับ”

                วันนี้ไร่มันสำปะหลังของคุณคะนอง เปิดให้ศึกษาดูงาน ชมวิธีการปลูก ดูแปลงจริง และขุดพิสูจน์หัวมันจริงๆ พร้อมกับมีต้นพันธุ์ เกล็ดมังกรจัมโบ้ และไจแอนท์-เบอร์1 จำหน่าย นอกจากนี้ยังยินดีให้คำปรึกษาการปลูกมันสำปะหลังตามโปรแกรม ของโปร-1 ให้กับทุกท่านอย่างละเอียดด้วย

                สนใจสอบถามรายละเอียด ได้ที่คุณคะนอง แป้นตระกูล 72  หมู่8 ต.ศรีมงคล อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์


กระทู้: ปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ ให้ได้เงินล้าน งานเกษตรทำเงิน ของ คะนอง แป้นตระกูล
เริ่มกระทู้โดย: hellocar ที่ 8 มี.ค. 13, 08:44 น

การทำการเกษตร ต้องรู้จักดินในแปลงก่อน..การนำดินไปวิเคราะห์แร่ธาตุและรู้ปริมาณ สารอาหารของพืชในดิน
  ต้องล่วงรู้จักนิสัยของพืชในแต่ละชนิดที่จะทำการเพาะปลูก

การปลูกมันสำปะหลัง งานไม่หนัก แต่ต้องใช้ความขยัน ช่างสังเกตุ(ก็เหมือนการทำกิจกรรมอื่นๆ)

   ผมก็คิดว่า มันน่จะลองดูเหมือนกัน หากใครมีพื้นที่ และพอมีเวลาในการดูแล ผมคิดว่าไม่น่าจะเหนื่อยฟรี

  ที่ดินของผม ยังว่างไม่ได้ใช้ทำประโชน์ประมาณไร่กว่าๆ..ผมก็คิดว่าจะลองทำดู เพื่อความรู้ เป็นการเรียนรู้สำหรับผมเอง และหมู่คนใกล้ชิด..

  ผมคิดว่า เพื่อนข้าราชการ ที่มีที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ น่าจะลองทำดู เพราะใช้เวลาไม่มาก เอาเวลาในวันหยุดราชการ ก็พอจะบริหารได้ หลายอย่าง เราจ้างคนงานทำแทนได้ เช่นการปลูกท่อนมัน การเตรียมดินในขั้นตอนต่างๆก็จ้างรถไถ
   จะใช้แรงงานตนเอง ก็คงเป็นขั้นตอนดูแล ตอนให้น้ำ..

กาปลูกมันสำปะหลัง เกษตรกรมักไม่ทำกันอย่างปราณีต จึงได้ผลตอบแทนที่ไม่ได้ดังใจหมาย

   มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ดูดชับอาหารจากดิน และอากาศได้ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ทนแล้งได้ดี
หาก หมั่นเพียรกำจัดพวกวัชพืช และขยันให้น้ำ ให้ปุ๋ย จะเจริญเติบโตได้ดี เป็นไปตามนิสัยของพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากทะเลทราย จากที่อันแห้งแล้ง

  ผมคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสุขภาพของผมอีกซักระยะนึง แล้วคงจะทดลองปลูกมัน โดยการทำอย่างปราณีตครับ


กระทู้: ปลูกมันสำปะหลัง 7 ไร่ ให้ได้เงินล้าน งานเกษตรทำเงิน ของ คะนอง แป้นตระกูล

ที่มา เว็บไซต์ sanook.com

ปลูกอะไรดี (2) "ขจร"1 ไร่ รายได้วันละ 3 พันบาท

ขจรพืชพื้นบ้านไม่ควรมองข้าม ปลูกพื้นที่ 1 ไร่รายได้วันละ3พัน

เกษตร : เส้นทางทำมาหากิน
วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2552

จากเดิมที่ บุญทัน วงศ์โพธิ์ หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ใช้พื้นที่กว่า 15 ไร่ ปลูกมันสำปะหลังและทำนาข้าวที่บ้านหม้อ ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น แต่ชีวิตอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ มีกินมีใช้ไปวันๆ แต่หลังจากที่หันมาปลูก "ขจร" หรือสลิดขายดอก ได้เพียง 2 ปี ฐานะความเป็นอยู่พลิกราวฟ้ากับดิน เพราะรายได้จากการขายดอกขจรหรือดอกสลิดนั้น ตกวันละ 3,000 บาท เช่นเดียวกับ หนูอาจ เฝ้าหอม เกษตรกรวัย 56 ปี เพิ่งปลูกขจรในพื้นที่ 1 ไร่เช่นกัน ในช่วงที่ขจรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ก็ปลูกกวางตุ้งใต้ห้างแปลงขจร ทำให้มีรายวันละ 3,500 บาท 

   บุญทัน บอกว่า ก่อนที่จะยึดอาชีพปลูกขจรเพื่อเก็บดอกขายนั้น เคยทำไร่มันสำปะหลังมาก่อนในพื้นที่ 10 ไร่ และทำนาข้าวไว้กินเองอีก 5 ไร่ แต่รายได้ไม่ค่อยเพียงพอ เนื่องจากราคาผลผลิตมันสำปะหลังตกต่ำมาตลอด พอดีเห็นเพื่อนที่อยู่ต่างอำเภอ ปลูกขจรหรือสลิดเพื่อขายดอก มีรายได้ดี จึงปรึกษาหารือกันและเรียนรู้ในการปลูกและดูแลต้นจขร จากนั้นตัดสินใจสร้างห้างทำด้วยไม้ไผ่สูงกว่า 1 เมตร ขนาดกว้างของห้างราว 1 เมตร แล้วไปซื้อต้นกล้าขจรพันธุ์ดอกจากภาคกลางจำนวน 400 ต้นในราคาต้นละ 50 บาท เมื่อ 2 ปีก่อน


 หลังจากที่ปลุกขจรได้ 3 เดือน ขจรเริ่มออกดอกเก็บได้วันละ 10-20 กิโลกรัม นำไปขายเองในเมืองขอนแก่นในราคากิโลกรัมละ 100 บาท พอขจรมีอายุ 6 เดือนซึ่งให้ดอกเต็มที่สามารถเก็บดอกขายได้วันละ 40-50 กิโลกรัมขายส่งให้พ่อค้าในตลาดบางลำภู เทศบาลนครขอนแก่นในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท พ่อค้าที่รับซื้อขายต่อในราคากิโลกรัมละ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีการขยายต้นกล้าขจรขายอีกด้วย และขณะนี้กำลังจะขยายพื้นที่ปลูกอีก 2 งาน
 "การปลูกขจรเพื่อขายดอกนั้นรายได้ดีมาก แต่ต้องมีเงินในการลงทุนครั้งแรกที่ต้องลงทุนสร้างห้างเพื่อให้ขจรเลื้อย และค่าต้นกล้าซึ่งตอนนี้ราคายังสูงอยู่ ซึ่งต้องลงทุนหลายหมื่นบาท แต่พอปลูกแล้วแต่ละรุ่นเราสามารถเก็บดอกขายได้ทุกวันนานถึง 4 ปี ผมยังมีที่อีกหลายไร่จะขยายไม่ได้เพราะไม่มีคนดูแล เพราะการปลูกขจรต้องดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวันกรณีฝนไม่ตก การเก็บดอกต้องเก็บทุกวันแบ่งกันเป็น 3 ล็อก วันแรกเก็บล็อกที่ 1 พอวันรุ่งขึ้นเก็บล็อกที่ 2 แล้ววันถัดก็เก็บล็อกที่ 3 หมดแล้วย้อนกลับล็อกที่ 1 อีก" บุณทัน กล่าว  

 

ด้าน หนูอาจ เฝ้าหอม ซึ่งปลูกขจรอยู่ใกล้กัน บอกว่า เห็นบุญทัน ปลูกขจรมีรายได้ดี แต่ช่วงแรกมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถหาต้นกล้าได้ จนบุญทัน ยอมขายต้นกล้าจึงซื้อต้นกล้ามา 260 ต้น พร้อมขยายพันธุ์ต้นกล้าเองด้วย ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พอปลูกได้ 3 เดือนขจรเริ่มให้ผลผลิตเก็บดอกขายได้แล้ว ตอนนี้สามารถเก็บได้วันละเฉลี่ย 30 กิโลกรัม มีพ่อค้ามาซื้อในราคากิโลกรัมละ 70 บาท
 "ตอนที่ปลูกขจรใหม่ๆ ซึ่งขจรยังไม่ออกดอก ป้าเอากวางตุ้งมาปลูกใต้ห้างของแปลงขจร เพราะต้นขจรยังเล็กยังไม่มีรายได้ ตอนต้นขจรยังโตไม่เต็มที่ หรือไม่เต็มห้าง ป้าก็ยังปลูกกวางตุ้งอยู่ ทำให้มีรายได้ 2 ทาง คือในส่วนของขจรจะขายได้วันละ 2,000 บาท ส่วนกวางตุ้งได้ราว 1,500 บาท" หนูอาจ กล่าว
 สำหรับการปลูกของหนูอาจ จะใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น เพื่อประหยัดต้น และเป็นการผลิตพืชผักปลอดสารพิษตามนโยบายของนายอำเภอซำสูง ที่จะให้อำเภอซำสูงเป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษป้อนตลาด โดยให้แปลงปลูกขจรทั้งสองแปลงเป็นศูนย์เรียนด้านการเกษตรบ้านหม้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอบ้านหม้อนั่นเอง
 ขจรนับเป็นพืชผักพื้นบ้านชนิดที่น่าจะจัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจตัวใหม่อีก ชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสร้างรายให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ ขนาดปลูกในพื้นที่ 1 ไร่มีรายได้ถึงเดือนละ 9 หมื่นบาท ขณะที่ตลาดยังต้องการอีกมาก
     
"ดลมนัส  กาเจ"

ที่มา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2552

ปลูกอะไรดี (1) "ขึ้นฉ่าย" เงินล้าน ที่ ราชบุรี

“บัญชา หนูเล็ก” กับการปลูก "ขึ้นฉ่าย" เงินล้าน ที่ ราชบุรี

วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:32:49 น.















บันทึกไว้เป็นเกียรติ
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ



คุณบัญชา หนูเล็ก อยู่บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ที่ 7 ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โทร. (089) 220-8438 ถือเป็นเกษตรกรมืออาชีพท่านหนึ่ง ในอำเภอบางแพ ที่สะสมประสบการณ์ในการปลูกผักมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ประกอบกับ คุณบัญชา ได้นำเอาวิชาการ และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรของตนเอง ส่งผลให้การปลูกผักประสบผลสำเร็จและเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทั้งยังมีผลกำไรสูงสุด



“ขึ้นฉ่าย” ถือเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่คุณบัญชา กล่าวว่า เป็นการทำการเกษตรแบบแจ๊กพ็อต ที่ปลูกเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างรายได้ถึง 1 ล้านบาท แต่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียว ในรอบ 3-5 ปี เป็นเพราะอะไร คุณบัญชา มีคำตอบและข้อแนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการปลูกขึ้นฉ่าย

ตลาดมีความต้องการ “ขึ้นฉ่าย” ทุกวัน เช่นเดียวกับผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่ายมีราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ค่อนข้างดี และมีปริมาณการใช้ผักขึ้นฉ่ายมากในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ฯลฯ คล้ายกับผักชนิดอื่นๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลดังกล่าวจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท โดยเกษตรกรที่ปลูกผักขึ้นฉ่ายก็ต้องมีการคำนวณช่วงเวลาเพาะปลูก มองหาช่องทางว่าจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงใด จึงจะมีผลกำไรมากที่สุด

คุณบัญชา อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ช่วงเวลาใด ที่ผักมีในตลาดน้อย หรือตลาดมีความต้องการมาก ซึ่งได้คำตอบจากคุณบัญชา ว่า ถ้าจะผลิต “ผักขึ้นฉ่าย” จำหน่ายให้ได้ราคาสูง และตลาดมีความต้องการนั้น คุณบัญชา จะผลิตออกมาสู่ตลาดให้ตรงกับวัน “ออกพรรษา” โดยคุณบัญชาให้เหตุผลว่า ไม่ใช่เพราะตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นเรื่องของช่วงจังหวะเวลาที่ในช่วงวันออกพรรษา ที่ส่วนใหญ่ทุกคนจะต้องหยุดงานแล้วไปทำบุญ นั่นก็รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกผักและแรงงานที่เก็บผักด้วย ที่หยุดไปทำบุญด้วย ทำให้ผักป้อนเข้าสู่ตลาดน้อยมากในทุกปี ทั้งที่ปริมาณการใช้ผักยังคงเท่าเดิม หรือมีมากขึ้น แต่สินค้าไม่มี ทำให้ราคาผักหรือผักขึ้นฉ่ายที่เตรียมปลูกส่งตลาดมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง นี่ถือเป็นเคล็ดลับที่คุณบัญชายอมเปิดเผยว่า เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นอย่างนี้มานานนับสิบปีแล้ว จึงทำให้รู้ว่าสินค้าพืชผักจะแพงในช่วงใด

ทำไม จึงเรียก “เกษตรแจ๊กพ็อต”คุณ บัญชา อธิบายว่า ส่วนหนึ่งคือ การคาดการณ์ในเรื่องของผลผลิตที่จะให้ออกสู่ตลาดช่วงใด ให้ได้ราคาสูงสุด ซึ่งเกษตรกรต้องเลือกปลูกผักชนิดที่คิดว่าจะได้ราคาดีที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมา คุณบัญชาเลือกปลูกขึ้นฉ่าย เพราะเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีราคาค่อนข้างดี ราคาเฉลี่ย 100 บาท ขึ้นไป ในช่วงเทศกาล แต่ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 3-5 ปี ไม่สามารถปลูกซ้ำพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากจะประสบปัญหาเรื่องของโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราเป็นอย่างมาก หากปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมมักจะเกิดปัญหาโรคระบาด ผลผลิตเสียหาย ทำให้การปลูกผักขึ้นฉ่ายของคุณบัญชานั้นเป็นเพียงการปลูกผักแบบเฉพาะกิจ เมื่อครบรอบเวลาที่คิดว่าจะปลูกขึ้นฉ่ายได้อีกครั้ง และตลาดมีแนวโน้มว่าราคาน่าจะดีที่สุด ก็จะกลับมาปลูกผักขึ้นฉ่ายอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้ราคาดีเหมือนถูก “แจ๊กพ็อต” นั่นเอง

ในปีที่ผ่านมา คุณบัญชา เลือกที่จะเพาะกล้าขึ้นฉ่ายช่วงเดือนสิงหาคม แล้วเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่ายขายราวเดือนตุลาคม ซึ่งในปีที่แล้ว วันออกพรรษา ตรงกับ วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ขึ้นฉ่ายของคุณบัญชาเก็บเกี่ยวได้พอดี โดยคุณบัญชาปลูกขึ้นฉ่ายไว้ ประมาณ 6 ร่องแปลงปลูก โดย 1 ร่องแปลง มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 180 ตารางวา หรือเกือบ 2 งาน ใน 1 ร่องแปลงปลูก หากคิดรวมกัน ประมาณ 3 ไร่ เท่านั้น การเก็บขึ้นฉ่ายขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท เป็นขั้นต่ำ ซึ่งเก็บขึ้นฉ่ายขายต่อเนื่องราว 10 วัน วันละประมาณ 900-1,000 กิโลกรัม พื้นที่แค่ 3 ไร่ ได้เงินเกือบล้านบาท นี้ไงคือ การทำ “เกษตรแจ๊กพ็อต”

การปลูก “ขึ้นฉ่าย” แบบคุณบัญชา
เริ่ม ต้นจากการเตรียมดินที่ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของพืชผักแต่ละชนิด ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความต้องการปัจจัยในการเจริญเติบโตแบบไหน อย่างขึ้นฉ่ายนั้นเป็นพืชรากตื้น การเตรียมดินจึงไม่จำเป็นต้องขุดดินลึกมากนัก ใช้เพียงรถไถติดผาลตีดิน ตีให้ละเอียด ลึกเพียง 2-3 นิ้ว ก็ใช้ได้

เคล็ดลับอยู่ที่แปลงปลูก จะใส่ขี้ไก่ แกลบ ประมาณ 60 กระสอบ (อาหารสัตว์) ต่อร่องแปลงปลูก ตีกับดินให้ละเอียดจนดินฟู ขี้ไก่ แกลบ นอกจากจะเป็นปุ๋ยคอกที่ช่วยให้ขึ้นฉ่าย งาม ใบเขียวแล้ว ยังเป็นเคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้ดินอุ้มน้ำเก็บความชื้นได้อย่างเหมาะสม เพราะขึ้นฉ่ายเป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องการดินที่ค่อนข้างฉ่ำน้ำสักนิด เปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ได้ใส่ขี้ไก่หรือใส่น้อย ก็ปลูกได้ไม่ดีเท่าไรนัก และวิธีดังกล่าวทำให้คุณบัญชา ไม่ต้องกางซาแรนบังแดดให้แปลงขึ้นฉ่ายเหมือนเกษตรกรท่านอื่น ซึ่งถ้าต้องกางซาแรนบังแดดยาวตลอดทั้งแปลง  นั่นหมายถึง ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

เมล็ดพันธุ์ขึ้นฉ่าย คุณบัญชา เลือกใช้ขึ้นฉ่าย พันธุ์ “ซุปเปอร์โพธิ์ทอง” ของ บริษัท เจียไต๋ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ต้นใหญ่ ต้นขาว ใบใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด และมีการเจริญเติบโตที่เร็ว ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี อายุการเก็บเกี่ยวหลังการหว่านราว 90 วัน แต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์นั้น ก็ต้องเลือกดูสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ควรรดน้ำให้กับแปลงปลูกพอหมาดก่อนล่วงหน้าสัก 1 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้น หว่านเมล็ดขึ้นฉ่ายให้ทั่วๆ แปลงนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญในการหว่านเมล็ดให้มีความสม่ำเสมอ จากนั้นคลุมด้วยฟาง รดน้ำตามให้ชุ่ม ดินก็จะละลายมากลบทับเมล็ดพอดี ให้น้ำแปลงปลูกทุกวันในช่วงเช้าหรือเย็น

ไม่ควรรดน้ำแปลงปลูกในช่วงอากาศร้อนจัด เช่น เวลาเที่ยง สวนผักของคุณบัญชาจะใช้เรือในการรดน้ำ ซึ่งสามารถให้น้ำได้ทั่วถึง หรือเกษตรกรท่านอื่นก็ใช้ระบบน้ำแบบสปิงเกลอร์ก็ได้เช่นกัน หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ไปได้ราว 10-14 วัน เมล็ดขึ้นฉ่ายจะเริ่มงอก โดยจะแทงรากออกมาก่อน แล้วจึงจะเห็นเป็นใบ ช่วงระยะเวลาดังกล่าวสำคัญที่สุดของการดูแลรักษาขึ้นฉ่าย อย่าให้แปลงปลูกขาดน้ำเป็นอันขาด แปลงต้องมีความชุ่มชื้น เพื่อสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ (เพราะแปลงปลูกไม่ได้กางซาแรนพรางแสงให้) ถ้าดินแห้งจะทำให้รากหรือใบของต้นขึ้นฉ่ายแห้งตายได้ง่าย และยังมีแมลงศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ “จิ้งหรีด” ที่ชอบมากินใบกัดต้นอ่อน การป้องกันจำกัด จะต้องฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแปลง กลุ่ม “โอเมทโทเอท” โดยอัตราที่แนะนำ คือ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ในช่วงแรก


การให้ปุ๋ยขึ้นฉ่ายในช่วงแรก ต้นขึ้นฉ่ายยังคงได้ปุ๋ยจากปุ๋ยคอกที่อยู่ในแปลง แต่เมื่อต้นกล้าอายุได้ 1 เดือน จะมีใบจริง 2-5 ใบ เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยเคมีช่วย โดยจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 หว่านบางๆ ให้ทั่วแปลงปลูก โดยจะหว่านให้ทุกๆ 10-15 วัน ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากสภาพต้นและการเจริญเติบโตว่าดีมากน้อยเพียงใด ถ้าสังเกตว่า ต้นขึ้นฉ่ายเจริญเติบโตไม่ดี หยุดชะงัก ก็อาจมีการกระตุ้นการเจริญเติบโตด้วยการหว่านปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ช่วยให้บ้างตามความเหมาะสม ซึ่งการให้ปุ๋ยเคมีทุกครั้งต้องให้น้ำตาม จนกว่าปุ๋ยจะละลายจนหมดทุกครั้ง

นอกจากปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้ทางดินแล้ว เกษตรกรสามารถเสริมด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน สารป้องกันกำจัดโรคแมลง ตามความเหมาะสม โดยคุณบัญชาจะใช้ให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น  ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องโรค เช่น โรคใบด่างลาย โรคก้านใบแตก โรคใบไหม้ ใบจุด ฯลฯ ซึ่งสาเหตุมาจากเชื้อรา คุณบัญชา อธิบายว่า พื้นฐานของเชื้อราจะเจริญได้ดีในสภาพดินที่เป็นกรด ดังนั้น ต้องแก้ไขดินให้เป็นด่าง เมื่อพบอาการของโรค คุณบัญชา จะเลือกใช้วิธีการใส่ “ปูนขาว” เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดินให้เป็นด่าง ทำให้สภาพดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตหรือแพร่กระจายพันธุ์ของเชื้อรา ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดี แต่ปูนขาวที่นำมาใช้นั้น คุณบัญชา แนะนำว่า ต้องเป็นปูนขาวที่ได้จากเปลือกหอยเผาเท่านั้น นอกจากปรับสภาพดิน ลดความรุนแรงและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชแล้ว ยังมีธาตุอาหาร เช่น แคลเซียม ช่วยทำให้ต้นผักหรือต้นขึ้นฉ่ายมีความแข็งแรงขึ้น เมื่อต้นขึ้นฉ่ายมีอายุได้ 90 วัน ก็สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเรียกกันว่า “ถอน” โดยวิธีการเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่าย หรือการถอน นั้นคือ การดึงต้นขึ้นฉ่ายออกมาจากดิน เกษตรกรต้องแกะใบขึ้นฉ่ายที่เหลืองออก และเขย่าเอาดินออก (ดินจะหลุดออกจากรากง่ายเพราะเป็นผลจากการเตรียมดินที่มีส่วนผสมของขี้ไก่ แกลบ นั้นเอง) จากนั้นจะเข้ากำ โดยใช้หนังยางรัด เวลาชั่งจะมีเคล็ดลับในการบรรจุที่เป็นวิธีที่ทำให้การบรรจุผักขึ้นฉ่ายลง ถุงได้รวดเร็ว ใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดวางบนตาชั่ง จากนั้นวางขึ้นฉ่ายที่เข้ากำแล้ว ประมาณ 5 กิโลกรัม นำถุงพลาสติกเหนียว ชนิดเจาะรูมาสวม จับปากถุงฟิวเจอร์บอร์ดให้ห่อเข้า เพื่อให้เข้าถุงพอดี หลังจากนั้น ดึงแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดออก ก็จะสามารถใส่ขึ้นฉ่ายลงถุงละ 5 กิโลกรัม อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีม้วนปากถุงพลาสติกและใส่ขึ้นฉ่ายลงใน ถุงทีละกำจนเต็มถุง แล้วเอาไปชั่งบนตาชั่ง ถ้าหนักเกิน 5 กิโลกรัม ก็ดึงต้นขึ้นฉ่ายออก ตอนที่ดึงต้นขึ้นฉ่ายออก มักจะทำให้ผักช้ำ ต้นหัก และเกิดการเน่าได้ง่าย ผักขึ้นฉ่ายมักจะถอนและเข้ากำบรรจุกันในแปลงปลูก ซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน เกษตรกรจึงต้องมีร่มขนาดใหญ่ คอยบังแดดให้เข่งหรือกองผักไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง

คุณบัญชา ฝากทิ้งท้ายว่า แม้ผักขึ้นฉ่ายเป็นผักที่มีราคาดี แต่ก็ยังไม่สามารถปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ปลูกซ้ำที่ไม่ได้ หรือได้ผลที่ไม่ดีเท่าไรนัก เคยให้นักวิชาการเกษตรเข้ามาศึกษา ว่าพอจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้ จนในบางพื้นที่ต้องมีการปลูกขึ้นฉ่ายในถุงดำ เพื่อหนีปัญหาเรื่องโรค ซึ่งก็สามารถผลิตออกมาได้ดี เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังให้ผลผลิตได้ไม่สูงเท่าการปลูกลงดิน

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มะละกอ (20) ปลูกมะละกอให้ออกผลช่วงแพง ใช้พื้นที่ 50 ไร่รายได้วันเป็นแสน

ทำมาหากิน : ปลูกมะละกอให้ออกผลช่วงแพง ใช้พื้นที่ 50 ไร่รายได้วันเป็นแสน

ทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม จะเป็นช่วงที่ผลมะละกอจะมีราคาสูงที่สุดในรอบปี บางช่วงราคา ณ ที่สวนขายกันถึงกิโลกรัมละ 30 บาท เนื่องจากผลผลิต น้อย ทำให้เกษตรกรหัวก้าวหน้าอย่าง "เล็ก กอทอง" เจ้าของไร่กอทองแห่งบ้านห้วยนกแล ต.บ้านห้วยนกแล อ.พบพระ จ.ตาก คิดหาวิธีปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ในพื้นที่ 50 ไร่ บังคับให้มะละกอออกผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตขาดตลาด ทำให้มีรายได้สูงถึงวันละเป็นแสนบาท

เล็ก บอกว่า อยู่วงการทำสวนมะละกอมานานแล้ว แต่สังเกตดูว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปีผลมะละกอจะขาดตลาดทำให้มี ราคาที่พ่อค้าแม่ค้าไปรับซื้อจากไร่สูงถึงกิโลกรัมละ 18-30 บาท เนื่องจากว่า ผลมะละกอที่จะออกผลผลิตและเก็บผลผลิตในช่วงดังกล่าว ต้นมะละกอจะต้องออกดอกติดผลช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อน และแห้งแล้งจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการติดผลของมะละกอ เพราะดอกจะร่วงและติดผลน้อย

ดังนั้นการปลูกมะละกอถ้าจะให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ถ้าเป็นมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์อย่างที่เขาปลูก ต้องนับย้อนหลังไป 8 เดือน คือช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม เริ่มต้นปลูก แล้วมะละกอจะเริ่มออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และในช่วงนี้เองจะต้องมีตัวช่วย คือ การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นช่วงแล้ง และอากาศร้อน การให้น้ำจะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศพร้อมกับให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอ ตรงกับความต้องการของมะละกอด้วย

การให้ปุ๋ย เล็ก บอกว่า จะให้ปุ๋ยเดือนละครั้ง ต้นละประมาณ 400 กรัม ช่วงมะละกอต้นเล็กใช้ปุ๋ยสุตร 15-15-15 พอมะละกอเริ่มออกดอกเปลี่ยนมาใช้สูตร 8-24-24 เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกดอกและติดผล จากนั้นใช้สูตรนี้อย่างต่อเนื่องจะทำให้มะละกอออกดอกติดผลต่อเนื่อง ส่วนทางใบพ่นปุ๋ยน้ำสูตร 13-3-43 พร้อมกับแคลเซียม-โบรอน ตลอดทุก 10 วัน จะช่วยส่งเสริมให้มะละกอมีผลผลิตตลอด

"มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ของผมรุ่นนี้เพิ่งเริ่มเก็บผลผลิตเมื่อกลางเดือนที่ ผ่านมา (มิ.ย.56) ปริมาณยังไม่มาก เก็บวันละ 4 ตัน (1 คันรถ) ราคาตอนนี้จากสวนกิโลกรัมละ 13-14 บาท ก็มีรายได้วันละกว่า 2 หมื่นบาท แต่ถึงปลายเดือนนี้ ถึงเดือนหน้าน่าจะเก็บผลผลิตได้มากขึ้นเป็นวันละ 8 ตัน และราคามะละกอน่าจะขยับสูงขึ้นกว่านี้เพราะทุกปีช่วงนั้นราคามะละกอจากสวนจะ อยู่ที่กิโลกรัม 20-25 บาทและบางครั้งถึงกิโลกรัมละ 30 บาท ถ้าคิดที่กิโลกรัมละ 20 บาท ก็จะได้วันละ 2.6 แสนบาท แต่ช่วงฤดูกาลผลไม้ประจำปีจำพวก มะม่วง เงาะ มังคุด ทุเรียนช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ราคาอาจจะลงมาบ้างอยูที่กิโลกรัมละ 8-10 บาทเป็นราคาจากสวน ซึ่งก็ถือว่าชาวสวนยังมีกำไร เฉลี่ยทั้งปีก็ได้เดือนละ 5 หมื่นบาท" เล็ก กล่าว
สำหรับตลาดนั้น เขาบอกว่า มะละกอฮอลแลนด์ตลาดต้องการทั้งปี และเขายืนยันว่า มะละกอเป็นไม้ผลที่น่าลงทุนที่สุดเพราะดูแลไม่ยาก ขอเพียงเข้าใจและดูแลอย่างถูกต้องเท่านั้น หากปลูกมะละกอไม่กี่ไร่ก็สามารถสร้างเงินล้านได้ไม่ยากเลย นอกจากนี้เขายังปลูกพริกขี้หนูแซมในสวนมะละกอกช่วง 3 เดือนแรก ยังสามารถสร้างรายได้เกือบ 1 ล้านบาท

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

แก้วมังกร (13) แหล่งสอบถาม

1. สวนเกษตรแก้วมังกร คลอง 10 โทร 02-908-9887, 081-343-2637 (คุณเก่ง)
รังสิต คลอง 10



 2. คุณชาญ หมู่บ้านสามัคี
(โทรถามรายละเอียดการติดต่อคุณชาญอีกทีที่รายการ 042-461-202)
ปลูกต้นกระดุมทองใต้โคนต้น เพื่อเก็บความชุ่มชื่นของดิน และช่วยไม่ให้หญ้าอื่นๆ มาขึ้น
ปลูกแก้วมังกร โดยไม่ใช้สารเคมี



3. อาจารย์วินัย วิริยะอลงกรณ์  จ.เชียงใหม่  โทร. 053-873387-9
ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   อาจารย์วินัย วิริยะอลงกรณ์  สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้    จ.เชียงใหม่    50290   โทร.   053-873387-9      ในวันและเวลาราชการ

4. สวนมังกรทอง อาจารย์คะนอง อิสระ จ.อำนาจเจริญ โทร.08-7960-9808, 08-9865-7140 ทุกวัน.
หากใครสนใจต้องการแก้วมังกรปลอดสารพิษไว้รับประทานหรือจะมาศึกษาดูงาน เชิญได้ที่สวนมังกรทอง อาจารย์คะนอง อิสระ เลขที่ 82 หมู่ที่ 4 บ้านเหล่าฝ้าย ต.ดงบัง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ โทร.08-7960-9808, 08-9865-7140 ทุกวัน.

5. สวนตากะยาย ซอยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยโสธร 045722586
ถ้าท่านสนใจ ติดต่อข้อมูลจาก สวนตากะยาย ซอยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยโสธร 045722586 ครูหมอ ( นำประสบการณ์ตรงมาเผยแพร่)

6. ผู้ใหญ่จรูญ แดงขาว โทรศัพท์ (081) 113-5894
ท่านใดสนใจจะขอคำแนะนำเพิ่มเติม หรือจะขอซื้อผลผลิตแก้วมังกรไปรับประทาน ติดต่อโดยตรงที่ ผู้ใหญ่จรูญ แดงขาว โทรศัพท์ (081) 113-5894 ได้ทุกวัน

7. คุณจิตนา วรศรี จ.พัทลุง หรือโทร.0-7460-0055
หากใครสนใจเข้ามาเรียนรู้การปลูกแก้วมังกรที่สวนยินดีให้ความรู้โดยไม่ปิดบัง ติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 220 หมู่ 5 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง หรือโทร.0-7460-0055

แก้วมังกร (12) การผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพ

การผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพ ป้องกัน โรค ปุ๋ย เก็บเกี่ยว
แนบไฟล์:
คำอธิบาย: แก้วมังกร
แก้วมังกร.jpg
แก้วมังกร.jpg [ 31.52 KiB | เปิดดู 2070 ครั้ง ]

1. การผลิตแก้วมังกรที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

1.1 มดคันไฟ เป็นศัตรูสำคัญในสวนแก้วมังกรที่ปลูกใหม่โดยชอบกัดกินยอดอ่อน ในช่วงแรกหลังปลูก เกษตรกรจึงควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อทำลาย โดยต้องทำลายทั้งรัง ไม่ทำลายแต่เพียงตัวมดที่พบ แนะนำให้ใช้เหยื่อล่อที่เป็นเนื้อสัตว์สด และติดตามรังโดยสังเกตจากการเดินแถวของมด เมื่อพบรังให้ใช้สารคาร์บาริล ละลายในบัวรดน้ำแล้วราดที่รัง หรือ ฉีดพ่นไปที่ตัวมดตามทางเดินแถว ตามยอดและข้อของต้นแก้วมังกร โดยควรผสมสารลดความตึงผิว(สารจับใบ)เพื่อให้สารเกาะที่ตัวมดได้ดีขึ้น และเนื่องจากมดคันไฟไม่ได้อยู่เป็นรังใหญ่ๆแต่จะมีรังกระจายอยู่ทั่วไป จึงต้องหมั่นตรวจสอบและกำจัดอยู่เรื่อยๆจึงจะได้ผล
 
1.2 นกและแมลงวันทอง เป็นศัตรูสำคัญในระยะติดผล โดยนกจะเจาะกินเนื้อแก้วมังกร ส่วนแมลงวันทองจะวางไข่ทำให้มีหนอนภายในผล วิธีการป้องกันกำจัดทั้งนกและแมลงวันทอง ทำได้โดยการห่อผลในระยะที่ผลมีอายุประมาณ 20 วันหลังดอกบาน (เริ่มจะเปลี่ยนสี) ด้วยถุงทำจากมุ้งพลาสติก
สีฟ้า ขนาด 30 X45 เซนติเมตร

1.3 การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย ควรเน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสม ผสาน และหากมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องเน้นให้มีการเลือกซื้อและมีวิธีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่าง ถูกต้องและปลอดภัย โดย

ก.) การเลือกซื้อสารเคมี ควรแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจวิธีการเลือกซื้อสารเคมีที่มีคุณภาพและเป็นสารเคมี ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เข้าใจรายละเอียดบนฉลากเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากได้อย่างถูก ต้อง โดย
- ไม่ซื้อสารเคมีที่มีฉลากไม่ชัดเจน เลอะเลือน หรือข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีเลขทะเบียน ไม่ระบุผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย ไม่มีวัน เดือน ปี ที่ผลิต ฯลฯ
- ไม่เลือกซื้อสารเคมีที่มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตผู้จำหน่ายอื่น อย่างผิดปกติ
- ไม่ซื้อสารเคมีจากพ่อค้าเร่ หรือผู้ที่จำหน่ายแบบซ่อนเร้น ปิดบัง
- ตรวจดู วัน เดือน ปี ที่ผลิต ( ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ผลิต ) และตรวจดูภาชนะบรรจุ ( ฝาปิดหรือภาชนะไม่มีรอยเปิดหรือฉีกขาด )

ข.) การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม
- ใช้แต่สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย และมีคำแนะนำบนฉลากให้ใช้กับแก้วมังกร ต้องไม่ใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
- อ่านคำแนะนำที่ฉลากให้ทราบคุณสมบัติ และวิธีการใช้ให้เข้าใจก่อนนำไปใช้
- พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ควรเตรียมหรือผสมสารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อจะได้ใช้ให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ให้หยุดใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูแก้วมังกรอย่างน้อย 15 วัน และหยุดใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นแก้วมังกร อย่างน้อย 30 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง

2. การผลิตแก้วมังกรที่มีคุณภาพ
มี รูปทรงสมส่วน มีกลีบเลี้ยงที่พอเหมาะสวยงาม มีขนาดปานกลาง 0.3-0.5 กก./ผล ผิวเปลือกไม่มีรอยตำหนิ รอยด่าง หรือแตกลาย มีเนื้อแน่น มีรสหวานอมเปรี้ยว ความหวานไม่น้อยกว่า 13 % บริกซ์
เนื่องจากยังไม่มีคำแนะนำการผลิตแก้วมังกรตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น จึงได้นำสาระสำคัญจากเอกสาร แก้วมังกร พืชเศรษฐกิจ ผลไม้สุขภาพ ISBN 974-8391-30-2 เรียบเรียงโดย ว่าที่ ร.ต.ดร.สุรพงษ์ โกสิยะจินดา มาสรุปเป็นคำแนะนำ ที่ควรถ่ายทอด
สู่เกษตรกร ดังนี้

2.1 พันธุ์ แก้วมังกร แก้วมังกรที่นิยมปลูกเป็นการค้าในประเทศไทย ในปัจจุบัน มี 2 ชนิด(species) คือ ชนิดเนื้อขาวเปลือกแดง และชนิดเนื้อแดงเปลือกแดง (ชนิดเนื้อแดงจะออกดอกดก แต่ติดผลน้อยถ้าไม่ช่วยผสมเกสรด้วยตัวผู้จากต้นเนื้อขาว) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นต้นพันธุ์แก้วมังกรที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์ดี ผ่านการทดสอบและคัดเลือกแล้วว่า เจริญเติบโตดี ให้ผลดกและมีคุณภาพดี จึงควรเลือกซื้อต้นพันธุ์จากเจ้าของพันธุ์ที่เชื่อถือได้ หรือซื้อจากสวนที่ปลูกแก้วมังกรและออกดอกติดผลให้เห็นแล้วว่ามีคุณภาพดี ( ยกตัวอย่าง เช่น สวนแก้วมังกรบ้านโป่ง โดย ว่าที่ ร.ต. สุรพงษ์ โกสิยะจินดา โทร 0-1825-0945 ซึ่งคัดเลือกสายพันธุ์แก้วมังกรเบอร์ 100 ซึ่งให้ผลดกและมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค)
ต้นพันธุ์ดี มีทั้งต้นพันธุ์ที่เกิดจากการนำกิ่งแก้วมังกรพันธุ์ดีไปตัดเป็นท่อนแล้วนำไป
ปัก ชำโดยตรง หรือเป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการต่อยอดด้วยพันธุ์ดี ต้นพันธุ์ที่เจริญแข็งแรงพอดีจะมีอายุระหว่าง 4-5 เดือน ซึ่งมีระบบรากแข็งแรงพอ และมีกิ่งใหม่ที่แก่แล้ว ความสูงของต้นพันธุ์จากผิววัสดุเพาะชำ(รวมทั้งท่อนพันธุ์เดิมและกิ่งที่แตก ใหม่)ไม่ควรน้อยกว่า 30 เซนติเมตร

2.2 การตัดแต่งกิ่งและการจัดทรงพุ่ม
ระยะปลูกของแก้วมังกรที่เหมาะสม คือ 3 X 3.5 เมตร โดยมีระยะระหว่างแถว 3.5เมตร ระยะระหว่างหลัก 3.0 เมตร จำนวน 150 หลัก/ไร่ เนื่องจากแก้วมังกรเป็นพืชอวบน้ำ และเป็นต้นไม้เลื้อย จึงต้องการหลักหรือเสาเพื่อไต่ขึ้นไปเหนือดิน
เสาหรือหลัก ต้องมีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของต้นแก้วมังกรที่อาจหนักมากกว่า 200 กิโลกรัมได้เป็นอย่างดี ไม่โค่นล้มได้ในภายหลัง อาจใช้ท่อปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว เนื้อท่อหนา 1.4-1.5เซนติเมตร หรือใช้เสาเข็ม เสา คสล. ขนาดต่างๆก็ได้ เสาที่ใช้ควรมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วควรมีความสูงเหนือจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร ปลายเสาต้องติดตั้งร้านหรือค้าง อาจใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้แดง เพื่อให้ทนทานต่อการใช้งานนานถึง 10 ปี และสามารถแบกรับน้ำหนักของแก้วมังกรได้ด้วย นำมาทำเป็นกรอบ ขนาด 0.5 X 0.5 เมตร ติดตั้งบนปลายเสา เพื่อให้ต้นแก้วมังกรเลื้อยเมื่อเจริญถึงสุดปลายเสา(หลัก)
การผูกลำต้น เมื่อต้นแก้วมังกรแตกยอดเจริญทอดยาวขึ้นเรื่อยๆ ให้ผูกลำต้นด้วยเชือกฟางกับเสาให้มั่นคง แต่อย่าแน่นเกินไป โดยผูกเป็นระยะๆไม่ให้ลำต้นโอนเอน พร้อมกับจัดตำแหน่งของลำต้นให้กระจายบนเสา จนเมื่อต้นแก้วมังกรเจริญขึ้นถึงร้านแล้วก็ยังจำเป็นต้องจัดการผูกลำต้น เพื่อจัดให้เป็นระเบียบ เชือกฟางที่ผูกยึดลำต้นนี้จะผุเปื่อยจากแสงแดดได้ ดังนั้นถ้าลำต้นยังออกรากเกาะเสาได้ไม่แน่นหนาพอ ก็จำเป็นต้องผูกเชือกใหม่ให้มั่นคง
การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งมีความสำคัญเพราะกิ่งแก่จะไม่ค่อยออกดอก ดอกจะเกิดได้ดีบนกิ่งใหม่ ซึ่งการตัดปลายยอดจะทำให้แตกยอดใหม่ประมาณ 1-3 ยอด ทุกครั้งที่ตัดปลายยอดให้ทาแผลด้วยปูนขาว หรือปูนกินกับหมาก จึงควรมีการตัดแต่งกิ่งที่ดีตั้งแต่ปีแรก ตามแนวทาง ดังนี้
- ปีที่ 1 เมื่อต้นเจริญเลยปลายเสาและร้านออกไปให้ตัดยอดออก ครั้งที่ 1 เพื่อให้แตกยอดใหม่ ในปีแรกควรตัดยอดประมาณ 3 ครั้ง จะได้กิ่งใหม่ 8 กิ่ง/ต้น หรือ 32 กิ่ง/หลัก
- ปีที่ 2 เมื่อต้นมังกรมีอายุครบ 1 ปี และมีความสมบูรณ์ ก็จะออกดอกและให้ผลได้บ้าง ควรตัดแต่ง 2 ครั้ง จะได้กิ่งใหม่เพิ่มเป็น 32 กิ่ง/ต้น หรือ 128 กิ่ง/หลัก
- ปีที่ 3 ตัดแต่งกิ่ง และตัดยอดอย่างบางเบา เหมือนปีที่ 2 ในหนึ่งหลักจะมีกิ่งประมาณ 190 กิ่ง
- ปีที่ 4 และปีต่อๆไป หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรทำการตัดแต่งกิ่งอย่างหนักโดยตัดเอากิ่งแก่ ที่อยู่ในทรงพุ่มออก และเลี้ยงให้ได้กิ่งสาวประมาณ 200 กิ่งทุกปี

2.3 การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอดี อย่าให้มีน้ำขังแฉะบริเวณรากและโคนต้น ในกรณีที่ใช้ท่อปูนทำเป็นเสา(หลัก) เสานี้จะใช้ใส่น้ำไว้เพื่อลดความร้อนและเพิ่มความชื้นทำให้รากเกาะเสามีมาก ขึ้น ต้นแก้วมังกรที่มีอายุ 2-3 เดือนแรกต้องการน้ำประมาณ 10-20 ลิตร/หลัก/สัปดาห์ และเมื่อต้นแก้วมังกรมีอายุมากขึ้น ลำต้นใหญ่ขึ้น ระบบรากเจริญกระจายไปมากขึ้น ก็ต้องการน้ำมากขึ้นไปด้วย

2.4 การจัดการดินและปุ๋ย
- ปีที่ 1 หลังปลูกแล้ว 2 เดือน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หลักละ 1 บุ้งกี๋ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หลักละ 1-2 ขีด ทุก 2 เดือน รวมประมาณ 1 กิโลกรัม/ปี
- ปีที่ 2 เมื่อต้นแก้วมังกรให้ผลผลิตแล้ว ต้นแก้วมังกรที่มีการเจริญเติบโตอย่างปกติ กิ่งที่มีความสมบูรณ์ ดีมีความแก่พอเหมาะ จะออกดอกในช่วงวันยาว เริ่มตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป โดยทะยอยออกดอก-ติดผล เป็นเวลานานประมาณ 6 เดือน (เมษายน-กันยายน) โดยนับจากเริ่มเห็นตุ่มดอกจนดอกบานใช้เวลาประมาณ 15-18 วัน และจากดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยว ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ดังนั้น จึงพบดอกและผลแก้วมังกรหลายระยะบนต้น/หลักเดียวกัน และมีผลแก่ทะยอยเก็บเกี่ยวได้เกือบทุก 10 วัน ในขณะที่ยังไม่มีคำแนะนำการใส่ปุ๋ยจากงานวิจัยที่ชัดเจน จึงมีคำแนะนำการใส่ปุ๋ยเบื้องต้น ดังนี้
- ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกควรให้ปุ๋ยหลังเก็บเกี่ยวผลรุ่นสุดท้าย
( พฤศจิกายน) ประมาณหลักละ 1- 4 บุ้งกี๋ ตามขนาดของทรงพุ่ม
- ปุ๋ยเคมี ช่วงบำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยว (พฤศจิกายน – มีนาคม) ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 เดือนเว้นเดือน ในอัตราประมาณ 0.2 กก./หลัก/ครั้งในปีแรก และเพิ่มปริมาณขึ้นใน ปีต่อๆไปตามอายุและขนาดของทรงพุ่ม
ช่วงออกดอกและติดผล ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 และสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
สลับกันในอัตราประมาณ 0.2 กก./หลัก/เดือนในปีแรก และเพิ่มปริมาณขึ้นในปีต่อๆไปตามขนาดทรงพุ่มและการติดผล โดยอาจให้ปุ๋ย 15วัน/ครั้ง หรือ 30วัน/ครั้ง

2.5 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช – ดูในข้อที่ 1 -


2.6 การตัดแต่งผล เพื่อให้ได้ผลแก้วมังกรที่มีขนาดใหญ่และสม่ำเสมอ รวมทั้งมีผิวสวยปราศจากรอยตำหนิจึงควรตัดแต่งผลบางส่วนออก เ ช่น ในกิ่งที่ออกดอกและติดผลมาก ให้เลือกตัดผลที่ด้อยออก เหลือไว้เพียง 2 ผล / กิ่ง เพื่อให้ผลที่เหลือเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ให้ตัดผลอ่อนที่เกิดตรงปลายยอดออกตั้งแต่เริ่มติดผลใหม่ๆเพราะผลจะมีลักษณะ ไม่ดี รวมทั้งพิจารณาตัดผลอ่อนที่มีรอยตำหนิ
ซึ่งมักจะเป็นผลที่เกิด ขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลอ่อนเสียดสีกับกิ่งและหนาม เพราะถ้าปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นผลที่ไม่สวย ไม่มีคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา

2.7 การเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง วัยที่เหมาะสมสำหรับเก็บเกี่ยวผลแก้วมังกร คือ หลังจากดอกบานประมาณ 30 วัน หรือ หลังจากผลเปลี่ยนสีแล้ว 4-7 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน เพราะผลจะแก่เกินไป(งอม)
ลักษณะของผลแก้วมังกรที่แก่พอเหมาะจะมีผิวผลสีแดงบานเย็น กลีบบนผลบริเวณโคนกลีบมีสีแดงเล็กน้อยแต่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ส่วนผลที่แก่เกินไป เปลือกเริ่มปริเป็นทาง กลีบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น เนื้อภายในจะค่อนข้างใสและเหลว
วิธีการเก็บเกี่ยว ค่อนข้างยุ่งยากเพราะขั้วของผลแก้วมังกรฝังอยู่ในกิ่ง ทำให้ผลแนบชิดกับกิ่ง โดยทั่วไปเกษตรกรจะตัดกิ่งที่ติดผลลงมาก่อนแล้วจึงค่อยตัดผลออกจากกิ่งในภาย หลัง วิธีนี้ใช้เวลาและแรงงานในการเก็บเกี่ยว/ขนย้ายมาก จึงแนะนำให้ใช้กรรไกรตัดผลแก้วมังกรที่ออกแบบสำหรับเก็บเกี่ยวผลแก้วมังกร โดยเฉพาะ เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้กิ่งเสียหายมากเกินไป หรือเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ทำให้กิ่งนั้นมีโอกาสออกดอกให้ผลได้อีก
ผลแก้วมังกรที่เก็บเกี่ยวลงมาแล้ว ให้บรรจุลงในภาชนะที่สะอาด ไม่ทำให้ผลถูกกดทับมากเกินไปหรือกระแทกช้ำ และไม่ทำให้ผิวผลเกิดริ้วรอยตำหนิขูดขีด ขนย้ายอย่างระมัดระวังไปยังโรงคัดบรรจุ เพื่อคัดแยกผลตามขนาด/คุณภาพ และนำส่งพ่อค้าผู้รับซื้อแก้วมังกรโดยเร็วเพื่อให้ผลแก้วมังกรถึงมือผู้ บริโภคในขณะที่ยังคงมีความสด ทั้งนี้ผลแก้วมังกรจะเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 14 วัน ที่อุณหภูมิ 7-10 องศาเซลเซียส ถ้าเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้จะเกิดความเสียหายได้ สำหรับแก้วมังกรที่ตัดแต่งพร้อมบริโภคบรรจุในภาชนะหุ้มด้วยพลาสติก สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 8วัน

คำอธิบายฉลาก วัตถุอันตรายด้านการเกษตร

ฉลาก ของวัตถุอันตรายด้านการเกษตร เช่น สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องตามกฏหมายควรมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับ ภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุ ระบุเครื่องหมายและข้อความเป็นภาษาไทย ดังนี้
(1) ชื่อทางการค้า
(2) ชื่อสามัญ หรือ ชื่อทางเคมี หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสารสำคัญ
(3) อัตราส่วนผสมและลักษณะผลิตภัณฑ์
(4) วัตถุประสงค์การใช้
(5) เครื่องหมายและข้อความตาม ข้อ 8
(6) ประโยชน์ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับภาชนะบรรจุและการป้องกันอันตรายหรือความเสียหาย
(7) คำเตือน
(8) อาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำให้รีบส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์พร้อมด้วยฉลากหรือภาชนะบรรจุ และคำแนะนำสำหรับแพทย์
(9) ชื่อกลุ่มของสารเคมีเพื่อประโยชน์ในการรักษา (ถ้ามี)
(10) ชื่อผู้ผลิต สถานที่ประกอบการ สถานที่ตั้งโรงงาน และชื่อผุ้นำเข้าพร้อมสถานที่ประกอบการ
(11) ขนาดบรรจุ
(12) เดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้
(13) เลขทะเบียนวัตถุอันตราย
(14) แถบสี เพื่อระบุระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตราย ซึ่งแบ่งเป็น 4 ชั้น ดังนี้
ชั้น 1 เอ พิษร้ายแรงมาก ( แถบสีแดง มีเครื่องหมายหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมข้อความว่า"พิษร้ายแรงมาก" และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )
ชั้น 1 บี พิษร้ายแรง (แถบสีแดง มีเครื่องหมายหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมข้อความว่า"พิษร้ายแรง" และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )
ชั้น 2 พิษปานกลาง (แถบสีเหลือง มีเครื่องหมายกากบาทพร้อมด้วยข้อความว่า "อันตราย" และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )
ชั้น 3 พิษน้อย (แถบสีน้ำเงิน มีเครื่องหมายกากบาทพร้อมด้วยข้อความว่า " ระวัง " และภาพแสดงคำเตือนต่าง ๆ )

แก้วมังกร (11) แก้วมังกรอินทรีย์ ของดี สระแก้ว

แก้วมังกรอินทรีย์ ของดี สระแก้ว

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 25 ฉบับที่ 547

เทคโนโลยีการเกษตร 
รันตี วงศ์ตะนาวศรี

สวัสดีค่ะ ลมหนาวที่พัดเข้ามาปีนี้ นำเอาความแห้งแล้งระลอกใหญ่เข้ามาด้วย หลายที่หลายแห่งต้นข้าวแห้งตายเพราะขาดน้ำ สร้างความทุกข์ใจให้ชาวบ้านในขณะที่ข้าวราคาดี เพราะมีโครงการของรัฐอุ้มชู ขอเอาใจช่วยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้พี่น้องเกษตรกรทั้งหลาย ผ่านพ้นวิกฤติแห่งลมฟ้าอากาศไปได้
เกษตรกรคนเก่ง แห่งอรัญประเทศ
 ลบคำสบประมาท “พืชไม่มีใบ มีลูกได้จริงหรือ”
พาท่านมาที่ บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มาพบกับ คุณดง จันทร์สีทอง เกษตรกรผู้ผลิตแก้วมังกรอินทรีย์ คุณดง เล่าว่า เดิมทีปลูกพริก ผักต่างๆ และพวกพืชไร่ จนเมื่อพี่ชายคือ คุณพา เกตุการณ์ ได้ชักชวนให้หันมาปลูกแก้วมังกร รู้สึกสนใจ พอดีกับในช่วงนั้นได้รับการอบรมความรู้ด้านการปลูกแก้วมังกรจาก อาจารย์กฤษณา โสภี อาจารย์จากศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว รวมทั้งมีโอกาสได้ไปดูงานการผลิตแก้วมังกรจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง จึงทำให้มั่นใจว่า แก้วมังกร จะเป็นพืชที่สร้างรายได้ จึงเปลี่ยนจากการปลูกผักและพืชไร่หันมาปลูกแก้วมังกรเป็นหลัก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549

คุณดง เล่าต่อว่า เมื่อตัดสินใจจะเปลี่ยนมาปลูกแก้วมังกรก็ได้ซื้อต้นพันธุ์มาจากอำเภอกระทุ่ม แบน จังหวัดสมุทรสาคร สมัยนั้นซื้อมาในราคาต้นละ 10 บาท ซื้อเสาใยหินมาทำค้างในราคาต้นละ 170 บาท และเปลี่ยนแปลงผักพื้นที่ 1 ไร่ ให้กลายเป็นสวนแก้วมังกรทั้งหมด สวนแก้วมังกรในพื้นที่ 1 ไร่ ของคุณดง สามารถปลูกแก้วมังกรได้ 180 ต้น หรือ 180 หลัก
“เมื่อตอนที่เราเริ่มต้นปลูกแก้วมังกร เมื่อ ปี 2549 ชาวบ้านบางคนในชุมชนแถวนี้ยังไม่เคยเห็นต้นแก้วมังกรมาก่อน พอเขามาเห็นเราปลูก หลายคนก็พูดว่าต้นไม้อะไรไม่มีใบ ปลูกแล้วจะมีลูกได้อย่างไร ตรงนี้เราก็ไม่ว่าอะไรเขาเพราะเขาไม่รู้แต่เรารู้ และได้ไปดูงานมาแล้วจึงมั่นใจ” คุณดง เล่าความหลังให้ฟัง

โรงเกลือ ตลาดรับผลผลิตส่วนใหญ่
คุณดง บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นการปลูกแก้วมังกรได้คาดการณ์ไว้ว่าตลาดโรงเกลือซึ่งอยู่ใกล้ๆ จะเป็นตลาดใหญ่ที่รับซื้อผลผลิตจากสวน
“เป็นอย่างที่เราคิดไว้ ตลาดโรงเกลือเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตส่วนใหญ่ของเรา โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาจองผลผลิตก่อนที่เราจะเก็บเกี่ยวถึงสวนเลย ไม่ต้องไปวางขายเองที่ไหน พ่อค้าเอาไปขายต่อที่ตลาดโรงเกลือในราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท”
เมื่อมีผลผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว คุณดง ยังได้รับคำแนะนำจากอาจารย์กฤษณาในเรื่องการผลิตแก้วมังกรในระบบเกษตรอินทรีย์
“อาจารย์กฤษณา เข้ามาแนะนำเรื่องการผลิตแก้วมังกรแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก อย่างเช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่การปฏิบัติของเราเองในช่วงแรกๆ ก็ถือว่ายากอยู่สักหน่อยเพราะเราจะต้องหาปุ๋ยคอกที่ไม่มีสารเคมีเจือปนมาใช้ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ซึ่งต่างจากเดิมที่เราเคยปลูกผักปลูกพืชไร่มาก่อน แต่ก็พยายามปรับตัวมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ”

เพิ่มช่องทางการตลาด
คุณดง เล่าให้ฟังว่า เมื่อหันมาทำสวนแก้วมังกรอินทรีย์ ก็มีพ่อค้ารายหนึ่งมาซื้อผลผลิตไปเพื่อตรวจสอบคุณภาพ แล้วพบว่า ผลผลิตแก้วมังกรของเราผ่านมาตรฐานเป็นผลผลิตอินทรีย์ที่สามารถส่งออกไปขาย ยังต่างประเทศได้ จึงมีหลายบริษัทที่สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อซื้อผลผลิต
“บริษัทจะเข้ามาซื้อผลผลิตจากเราถึงสวน โดยจะคัดแยกเป็น 4 ไซซ์ 4 ขนาด คือ A B C D ไซซ์ใหญ่ที่สุดคือไซซ์ A ขนาดน้ำหนักลูกละประมาณ 700-800 กรัม ราคาขายจากสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท บริษัทจะซื้อผลผลิตทุกไซซ์ มาซื้อครั้งละ 400-500 กิโลกรัม เพื่อเอาไปส่งออกขายเมืองนอก”
การขายผลผลิตให้กับบริษัทส่งออกแม้ว่าจะได้ราคาดีแต่ก็มีปัญหา โดยคุณดง บอกว่า เวลาบริษัทเข้ามาซื้อผลผลิตในพื้นที่ เขาต้องการผลผลิตเยอะๆ แต่เราทำให้ได้ครั้งละแค่ 400-500 กิโลกรัม ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่บริษัทต้องการ ตอนนี้จึงเตรียมขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรออกไปอีก และอยากชวนให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาปลูกแก้วมังกรแบบอินทรีย์ด้วย เพื่อให้จำนวนผลผลิตพอกับความต้องการของบริษัทที่เข้ามารับซื้อ

การปฏิบัติดูแล
สวนแก้วมังกรอินทรีย์
คุณดง เล่าถึงการปฏิบัติดูแลสวนแก้วมังกรอินทรีย์ว่า ปกติจะเก็บผลผลิตหมดในช่วงเดือนตุลาคม หลังจากนั้นจะตัดแต่งต้น ตัดกิ่งไม่สมบูรณ์ กิ่งที่มีโรคและแมลงออก แล้วใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว พอถึงช่วงเดือนมีนาคม แก้วมังกรจะเริ่มออกดอก ช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ส่วนการให้น้ำ ปกติแก้วมังกรจะไม่ต้องให้น้ำนอกจากช่วงฤดูแล้งและช่วงที่ฝนทิ้งช่วงไปนานๆ ต้องให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
จากวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาสวนแก้วมังกรอินทรีย์ของคุณดง แล้วต้องบอกว่าไม่ยุ่งยาก คุณดง บอกว่า ใช้เพียงแรงงานในครอบครัว 2 คน ก็พอแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับการปลูกผัก ปลูกพืชไร่อย่างที่เคยทำมา แก้วมังกรถือว่าเป็นพืชที่ดูแลน้อยแต่ขายได้กำไรมาก

ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย
บริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว
ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน (ศฝช.) เป็นหน่วยงานประเภทสถานศึกษาสังกัดกองปฏิบัติการ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีศูนย์กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ศฝช.ชุมพร ศฝช.ปัตตานี ศฝช.มุกดาหาร ศฝช.สระแก้ว ศฝช.สุรินทร์ เป็นต้น ส่วนศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว ปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายชายแดน 3 จังหวัดด้านตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด โดยรับผิดชอบการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านชายแดน จำนวน 137 หมู่บ้าน

ศูนย์จะจัดการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพโดยเน้นเกษตรธรรมชาติและอาชีพที่สอด คล้องกับวิถีชีวิตให้กับประชาชนตามหมู่บ้านชายแดน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี และตราด จัดการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาอาชีพตามโครงการพระราชดำริในเขตจังหวัดสระแก้ว และได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ไว้ตามจุดต่างๆ เช่น แหล่งเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนบ้านโสนน้อย ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยอัดเม็ดบ้านป่าไร่ใหม่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสานซับตารี ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสานบ้านทับทิมสยาม 01 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นต้น

งานส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร เช่น คุณดง จันทร์สีทอง ก็เป็นงานหนึ่งของศูนย์ และนอกจากนั้น ศฝช. สระแก้ว ยังเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 2 สาขาวิชา คือ วิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขางานไฟฟ้ากำลัง และวิชาเกษตรกรรม สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขางานเกษตรทั่วไป อีกด้วย ปัจจุบัน ศฝช. สระแก้ว มี คุณประยูร ดังก้อง เป็นผู้อำนวยการ

ขอขอบคุณ ดร. สมคิด ใจตรง ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว

เขียนแล้วใน เทคโนโลยีชาวบ้าน