วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

มะละกอ (18) เกษตรกรคืนถิ่น จาก"ฉันทนา"มาทำสวนมะละกอ

เผยความสำเร็จ เกษตรกรคืนถิ่น จาก"ฉันทนา"มาทำสวนมะละกอ

Pic_118287


ปัจจุบันหลายคนเริ่มสนใจที่จะก้าวสู่เส้นทางอาชีพ "เกษตร" กันมากขึ้น อาชีพนี้แม้จะต้องลงแรงหนัก และเม็ดเงินลงทุนที่บางครั้งค่อนข้างสูง แต่หากมีความตั้งใจ สนใจศึกษาเทคนิควิธีการจัดการอย่างจริงจัง อาชีพนี้นับว่าช่วยให้หลายคนมีฐานะที่ดีขึ้นและ นางสมปอง ไพเราะ เกษตรกรบ้านเลขที่ 76หมู่ 9 ตำบลท่าตูม อ.ศรี-มหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี นางสมปอง เล่าให้ ฟังว่า แต่ก่อนมีอาชีพเป็นหนุ่มสาวฉันทนาทำงาน
โรงงาน ทำไปก็ไม่พอใช้ "ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้" เพิ่มขึ้น เรื่อยๆ จึงตัดสินใจออกแล้วหันมายึดอาชีพเกษตรกร โดยหาเช่าพื้นที่ 4 ไร่ เพื่อ ปลูกมะละกอ "พันธุ์แขกดำ" ตามคำชักชวนของเพื่อนบ้าน เพราะเห็นว่าเขาเก็บนิดๆหน่อยๆก็มีน้ำหนัก เก็บขายเป็นเงินก้อนน่าจะพอทำให้ ชีวิตดีขึ้น

นางสมปอง และนายสมชาย ไพเราะ
นางสมปอง และนายสมชาย ไพเราะ

โดยช่วงแรกยอมรับว่า "มีท้อบ้างหลายหน" เพราะทั้งชีวิตไม่เคยทำไร่ทำสวนมาก่อน ยังโชคดีที่เพื่อนบ้านที่นอกจากแบ่งเมล็ดพันธุ์ให้ ยังให้คำแนะนำทั้งการปลูก วิธีดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีพ่อค้าจากจังหวัดจันทบุรีมารับซื้อถึงสวนในราคา กิโลฯละ 7-15 บาท เพียงแค่ปีกว่าๆนอกจากหมดหนี้สิน ยังพอมีเงินเหลือเก็บบ้างเล็กน้อย

สำหรับขั้นตอนวิธีและแนวทางการทำ อาชีพที่สามารถปลดหนี้ได้นั้น นางสมปอง บอกว่า...เริ่มจากนำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาที แล้วนำมาเพาะลงถุงคลุมผ้าไว้ 3 วัน เมล็ดเริ่มงอกเปิดรดน้ำวันละครั้ง กระทั่งต้นกล้ามีอายุ 1 เดือน จึงนำไปลงดินที่ไถแบบยกร่อง เพื่อให้น้ำไหลสะดวก โดยก้นหลุมรองพื้นสารปรับปรุงดิน (ฟูราดาน) ป้องกันแมลงศัตรูพืชกันดินรากอ่อน แต่ละหลุมลงต้นกล้า 6-7 ต้น


...จากนั้นประมาณ 20 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ (16-16-16) ในระยะ 15 วัน/ครั้ง แล้วตามด้วย 8-24-24 เพื่อเร่งดอก กระทั่งเริ่มออกผลช่วงนี้นับว่าสำคัญมาก จะต้องสังเกตหากต้นไหนลูกยาวเอาไว้เพราะตลาดต้องการ ต้นไหนลูกกลมให้ถอนต้นทิ้งเพราะขายไม่ได้ราคา ส่วนใหญ่จะส่งเข้าโรงงาน เว้นระยะห่าง 15 วัน ครั้งนี้การบำรุงต้นจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมกับเคมีสูตร 10-10-36 ในอัตรา 1:1 กระสอบ/ไร่...
เมื่อถามถึงโรค "ไวรัสวงแหวน" ที่ชาวสวนมะละกอมักประสบปัญหาบ่อยครั้ง นางสมปองบอกว่า...ตอนแรกจะถอนทิ้งทั้งหมดเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นอื่นติดโรค ถอนทิ้งเกือบ 40-50 ต้น รู้สึกเสียดาย เพราะบางต้นมีลูกใหญ่ๆติดอยู่ ต่อมาจึงเริ่มถามเพื่อนบ้านและหาความรู้จากหนังสือ กระทั่งรู้วิธีแก้ปัญหา คือการนำสารไคโตซานซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากเปลือกกุ้ง ปริมาณ 4 ฝา นำมาผสมซิลิก้า 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในระยะที่เริ่มออกดอก 1 ครั้ง

การเดินระบบน้ำที่ดีทำให้มะละกอพันธุ์แขกดำมีลูกดกขนาดต้องใช้ไม้ค้ำคอต้นกันล้ม.
การเดินระบบน้ำที่ดีทำให้มะละกอพันธุ์แขกดำมีลูกดกขนาดต้องใช้ไม้ค้ำคอต้นกันล้ม.

หลังจากนั้นพอมะละกอเริ่มมีขนาดเท่ากำปั้นให้ฉีดพ่น 3-7 วัน/ครั้ง จะช่วยให้ผิวดีขึ้น ลูกสะอาด ผลไม่เน่า แล้วเมื่อผลผลิตเริ่มเก็บได้ จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่ ราคาซื้อขายจะเป็นไปตามตลาดกลาง ซึ่งรอบแรก (ในพื้นที่ 1 ไร่กว่า) เก็บผลผลิตได้ประมาณ 400 กิโลฯ ขายราคา กก.ละ 15 บาท พื้นที่ปลูกทั้งหมดพ่อค้าต้องมารับซื้อถึง 3 รอบ หลังคิดเป็นเม็ดเงินแล้วอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจมาก ส่วนลูกที่มีตำหนิ ไม่สวยจะส่งเข้าโรงงานของบริษัทเอกชน ราคากิโลฯละ 5 บาท เพื่อนำไปแปรรูปทำซอส

สมปองยังบอกอีกว่า อาชีพนี้แม้ไม่โก้ไม่หรูแต่ก็เป็นนายของตัวเอง สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ความสนใจ การเอาใจใส่ และต้องให้เวลาอย่างจริงจัง จึงจะสามารถก้าวพ้นปัญหาและประสบความสำเร็จ

สำหรับเกษตรกรรายใดสนใจสามารถกริ๊งกร๊างสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08–2345–0278 ในวันและเวลาที่เหมาะสม.

ที่มา: ไทยรัฐ คอลัมน์การศึกษา ฉบับวันที่ 13 ตค. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น