เรียบเรียง : ขวัญชนก
หลายคนที่คิดอยากทำอาชีพทางการเกษตร แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร? และเมื่อทำแล้วจะขายที่ไหน? …ตอนนี้มีทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่สนใจแล้ว เพราะขณะนี้ทาง สกว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำหลักสูตร “สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่” แบบเข้มข้น เพื่อให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ และผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่แล้ว มีโอกาสได้เรียนและฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิด “ความชำนาญ และรู้จริงในสิ่งที่ทำ” สำหรับเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะอยากผันตัวมาเป็นผู้ผลิตเอง หรือจะเป็นผู้รับซื้อเอง ก็จะได้มีความรู้ มีช่องทางในการจัดจำหน่าย มีรายได้ที่ไม่น้อยไปกว่าเงินเดือนในระดับปริญญาตรี แถมเมื่อจบหลักสูตรไปแล้วยังจะได้รับสิทธิ์ในที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก. อีกด้วย
หลักสูตรที่ว่านี้แบ่งตามกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 หลักสูตรคือ (1) หลักสูตรพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (2) หลักสูตรพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ และ (3) หลักสูตรพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน
หลักสูตรพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่เหมาะสำหรับบุคคลที่สนใจทั่วไป เช่น ผู้ว่างงาน แรงงานเลิกจ้าง ผู้ที่จบการศึกษาด้านเกษตรกรรม รวมถึงผู้ที่อยากผันตัวเองมาประกอบอาชีพนี้ มีอายุระหว่าง 20 – 45 ปี วุฒิการศึกษา ม. 6 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า ใช้เวลาฝึกอบรมทักษะการประกอบอาชีพเกษตรกร 3 เดือน เมื่อผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้แล้ว และมีความตั้งใจจริงที่จะทำอาชีพเกษตรกรรมจะได้รับสิทธิ์ทำการเกษตรในที่ดิน ของ ส.ป.ก. ตามหลักเกณฑ์และการประเมินผลที่กำหนด
อายุ 40 ปี การศึกษา : ปริญญาตรี ด้านเกษตรศาสตร์
อาชีพเดิม : พนักงานบริษัท ประกอบกิจการส่วนตัว และเกษตรกร
สมัครเข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2554 (รุ่นที่ 3) ได้รับที่ดินจาก ส.ป.ก. จำนวน 5 ไร่
“อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สุจริต สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ ...ขอให้เราตั้งใจจริง ทุ่มเท มีความรับผิดชอบ มีวินัยในการทำงาน รัก และศรัทธาต่ออาชีพของเรา”
ผมทราบข่าวการอบรมนี้จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก จริงใจกับเกษตรกรรายย่อย ผมประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้วตั้งแต่จำความได้ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ โดยหลังจากผ่านการอบรมแล้ว ผมได้นำความรู้หลายอย่างมาปรับใช้ในการบริหารจัดการและทำการเกษตร เวลาเราเข้าสู่พื้นที่จริงทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่หมด ยกตัวอย่างเช่น ผมเริ่มต้นให้เราอยู่ในพื้นที่ให้ได้เสียก่อน โดยการปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินและขายเป็นรายได้เสริม จากนั้นออกสำรวจความต้องการของตลาดทั้งตลาดชุมชนและตลาดต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการทำงาน ก่อนจะปลูกพืช ผมจะทำการตรวจสอบคุณภาพของดินโดยใช้ชุดตรวจดิน และข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินก่อน เป็นต้น
ทุกวันนี้พยายามจะสร้างตลาดที่เป็นของตัวเองให้ได้ ผลผลิตทุกอย่างต้องปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ผมทำการเกษตรแบบครบวงจร กระจายความเสี่ยงของผลผลิต พิจารณาตลาด เงินทุน แรงงาน อุปกรณ์เครื่องมือ และกลุ่มเครือข่าย ประกอบก่อนการลงมือทำ
ผมได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการเข้าอบรม รู้จักกลุ่มผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความจริงใจกับอาชีพเกษตรกรรม ไม่มีธุรกิจบังหน้าแอบแฝง รวมถึงมีหน่วยงานของราชการที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเกษตรกรรายย่อยอย่างเรา จะไม่ถูกรังแก และมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น
อายุ 36 ปี การศึกษา : ปริญญาตรี
อาชีพเดิม : ประกอบอาชีพอิสระเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง
สมัครเข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2555 (รุ่นที่ 5) ได้รับที่ดินจาก ส.ป.ก. จำนวน 5 ไร่
“ยากที่สุดคือการเริ่มต้น การเริ่มต้นนี้หมายถึงการเริ่มต้นที่จะต้องชนะใจตนเอง ไม่คิดถึงความลำบากเป็นที่ตั้ง แต่อยากให้มองเป็นเพียงแค่เหนื่อยในตอนเริ่มต้น แต่ผลผลิตที่ได้มันคุ้มค่าในระยะยาว ...ผมอยากจะบอกว่าเกษตรนี้ยั่งยืนจริงๆ ถึงไม่ขายเราก็ยังเก็บไว้กินเองได้ และยังเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานที่สนใจในอาชีพเกษตรกรได้อีกด้วย”
ได้มีโอกาสรู้จัก “โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่” จากคนรู้จัก จึงได้ศึกษาโครงการ เมื่อได้รับรู้ข้อมูลที่มากพอจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะคิดว่าถ้าเราทำสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะทำให้มีรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงเลี้ยงชีพ มีต้นทุนที่ไม่สิ้นสุดนั้นก็คือความรู้ ผลพลอยได้คือที่ดิน เปรียบเสมือนต้นทุนที่ไม่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน อีกทั้งถ้ามีความรู้มากพอก็ยังสามารถแบ่งปันให้กับคนอื่นได้อีกด้วย
ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดแพร่ ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับเกษตร วิธีการเพาะปลูกพืชเบื้องต้น เมื่อเราได้ผลผลิตจึงออกนำขายโดยได้ศึกษาตลาดไว้ก่อนล่วงหน้า ตั้งเป้าหมาย กำหนดขั้นตอนตามความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม นอกจากนี้ผมยังได้เรียนรู้เรื่องการแปรรูป การทำแหนมเห็ด โดนัทกล้วยหอม วิธีทำไอสครีมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีรายได้ในระหว่างปลูกผักบุ้ง เพราะกว่าจะเก็บผักขาย กว่าจะปรับตัว ปรับดิน ปรับสิ่งอำนวยความสะดวก หาตลาด ทั้งหมดต้องใช้เวลาเป็นเดือน
ต่อมาเมื่อจบการอบรม พวกผมก็ได้ย้ายเข้าสู่พื้นที่ทดลองในศูนย์ปฏิบัติการสร้างและพัฒนาเกษตรกร รุ่นใหม่ จังหวัดสุโขทัย ผมได้สร้างแบรนด์ของตนเอง ผลิตภัณฑ์แรกที่ทำคือ น้ำนมข้าวโพดแร่ ในแผนธุรกิจของผม ข้าวโพดใช้เวลาเพาะปลูกนานที่สุด แรกๆ ผมหยอดที่ละสามเมล็ดตามที่เข้าใจ เมื่อได้ยินคำว่าเกษตรประณีต บ่อยๆ ผมได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ปรึกษาพี่เลี้ยงพวกเรา จึงเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เป็นการปลูกแบบไล่วันปลูกจะได้มีเก็บขายทุกวัน วิธีนี้ทำให้ผมสามารถคำนวณจำนวนฝักที่จะเก็บได้ว่าจะเก็บวันละกี่ฝัก ได้น้ำหนักกี่กิโลกรัม และหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่าข้าวโพดหวานทำอะไรได้บ้าง ก็ได้ข้อมูลหลายอย่าง แต่ผมเลือก การทำน้ำนมข้าวโพด เพราะจากข้อมูล ทั้งข้อมูลการบริโภค ข้อมูลสังคมที่ต่อไปผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจะมีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ข้อมูลคู่แข่งทางการตลาด รูปแบบของการใช้ชีวิตของคนเมือง แต่ต้องมีความต่างของผลิตภัณฑ์ ผมจึงนำน้ำแร่ที่ได้รับมาตรฐานเข้ามาเป็นส่วนประกอบ สร้างแบรนด์ ทำสื่อโฆษณา จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค กำหนดสูตร หาตลาด กำหนดการขาย ทำสมุดบันทึกรายรับ รายจ่าย
ปัจจุบันนี้ผมได้เข้ามาทำเกษตรในพื้นที่ทำกิน นิคมเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ผมได้นำกรรมวิธีเดียวกันทั้งหมดมาทำการต่อยอดผลิตภัณฑ์ น้ำนมข้าวโพดแร่ และได้คุยกับคนในชุมชนเดียวกันในเรื่องของน้ำนมข้าวโพดแร่ การปลูกข้าวโพดหวาน ทำให้ได้รับความสนใจจากคนในชุมชน จึงได้วางแผนการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรที่จะเข้าร่วมการผลิตน้ำนมข้าวโพดแร่ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเกษตรกรนิคมเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลด่านศรีสุข” ในอนาคตเมื่อน้ำนมข้าวโพดแร่ เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคแล้ว ผมตั้งใจจะทำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสับปะรด เพราะที่นี่ชาวบ้านนิยมปลูกสับปะรดส่งขาย และคัดสับปะรดที่ไม่ได้ขนาดทิ้งเยอะมาก ผมว่าถ้านำของทิ้งมาแปรรูปแล้วได้มูลค่าเพิ่มน่าจะเป็นทางเลือกอีกทางของ เกษตรกรในชุมชน ตำบลด่านศรีสุข
• เนื้อข้าวโพด 5 กิโลกรัม • น้ำเปล่า 5 ลิตร • น้ำแร่ ๐.5 ลิตร
• น้ำเชื่อม 1๐๐ มิลลิลิตร • เกลือป่น 1/4 ช้อนชา • ครีมเทียม 100 กรัม
วิธีทำน้ำนมข้าวโพด
• ลอกเปลือกข้าวโพดออกล้างให้สะอาด แล้วฝานเมล็ดข้าวโพดบาง ๆ
• นำเมล็ดข้าวโพดต้มให้สุก นำมาปั่นให้ละเอียดแล้วกรอง
• นำส่วนผสมที่เหลือผสมลงในหม้อและนึ่งต่อที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส
• ยกลงจากเตาบรรจุขวดแล้วแช่น้ำเย็นทันทีพร้อมจำหน่าย
หลักสูตรเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ เหมาะสำหรับบุตรหลานเกษตรกรที่ศึกษาในระดับ ปวช./ปวส. ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อจบการศึกษาและมีคุณสมบัติครบถ้วน จะได้รับสิทธิ์ในที่ดินของ สปก. รายละ 3-5 ไร่ จะได้รับสิทธิ์ทำการเกษตรในที่ดินของ ส.ป.ก. ตามหลักเกณฑ์และการประเมินผลที่กำหนด
อาจารย์ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่
วิทยาลัยเกษตรนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
“ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพใดก็ตาม ขอให้มีความจริงใจในอาชีพ มีความภูมิใจในอาชีพ แล้วก็จะสามารถอยู่ได้ในอาชีพ อย่างมืออาชีพ (เป็นสิ่งที่ครูรอคอย) โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม”
ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ในระยะแรกๆ จะพบกับปัญหา แต่ความตั้งใจของลูกศิษย์ที่จะอยู่ในอาชีพนี้ ทำให้ครูกับศิษย์ก็ไม่เคยมองปัญหาเป็นอุปสรรค แต่กลับมองก้าวข้ามไปสู่การแก้ปัญหาทุกครั้ง บางเรื่องแก้ไม่ได้ในทันที บางเรื่องก็อยู่ที่ปลายจมูกเอง บ้างเรื่องก็สร้างความสุข สร้างความสามัคคี แต่ก็ยังต้องสู้ต่อ ...ปัญหาก็ไม่ได้หมดไป ปัญหาใหม่ก็มีมาเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุการณ์และปัญหาที่ประสบมาก่อนหน้านี้ ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับครูและลูกศิษย์
หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างผู้เรียนให้เกิดทักษะทางด้านอาชีพ เกษตรกรรมที่แท้จริง เป็นรูปธรรม คนทั่วไปรู้สึกได้ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพด้วยความมั่นใจ และเกิดความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างเต็มภาคภูมิ
วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์
อาจารย์ประจำแผนกวิชาเกษตรศาสตร์ ในโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่
“การเกษตรในทุกวันนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการผลิตที่พึ่งตนเองโดยใช้ฐาน ทรัพยากรหลักที่มีอยู่ มาเป็นการผลิตโดยใช้ความรู้ในการบริหารการจัดการเป็นหลัก เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน”
หวังไว้ว่าการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนี้จะทำให้นักเรียน นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตร มีความรู้และเกิดทักษะ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตได้จริง สามารถประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบที่ดี ความประทับใจที่มีต่อลูกศิษย์หลังจากจบหลักสูตรนี้ไปแล้ว คือ ลูกศิษย์สามารถนำความรู้ที่สอนไปวางแผนประกอบธุรกิจของตนเองได้ในฐาน ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ในพื้นที่จำกัด และสามารถเป็นผู้นำทางด้านเกษตรได้
หลักสูตร “พัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน” เหมาะสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว และสนใจที่จะใฝ่หาความรู้และทักษะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มผลผลิตหรือใช้ประโยชน์ ในที่ดินของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะได้รับการฝึกอบรมผ่านเครือข่ายเกษตรกรรม อาทิ เครือข่ายปราชญ์เกษตร ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 4-6 เดือน ซึ่งหลักสูตรนี้จะเน้นฝึกเรื่องการคิด วิเคราะห์ เช่น วิธีการจดบันทึกข้อมูลครัวเรือน การทำบัญชีฟาร์ม การดำรงชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่จะได้รับการเชื่อมโยงความรู้เพื่อยกระดับการ จัดการตนเองและมีความสามารถในการปรับตัวที่ดี
อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดพิษณุโลก
ประกอบอาชีพเกษตรกรมาเป็นเวลา 20 ปี
สมัครเข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2552 รุ่นที่ 1
“อาชีพเกษตรกรนั้นเป็นอาชีพที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เพียงแค่เรามีใจรักในอาชีพให้มากๆ รู้จักมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทั้งต้นทุนการผลิต ต้องรู้จักว่าพื้นที่ของเราเหมาะสมกับพืชชนิดใด กล้าเสี่ยง ขยันอดทนให้มากๆ”
หลังจากการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้แล้ว ทำให้ได้รับความรู้เรื่องชุดตรวจดินหาค่าธาตุอาหารในดิน (NPK) และยังได้ร่วมกับเกษตรจังหวัด ไปเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่เรื่องดินและปุ๋ยสั่งตัดใน จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดิน
นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ที่จากหลักสูตรมาใช้ในการจัดการที่ดินทำกิน โดยการใช้ชุดตรวจสอบดินเพื่อหาค่าธาตุอาหารในดินว่าดินมีค่าธาตุอาหารเป็น อย่างไร แล้วจึงจะผสมปุ๋ยใช้เองตามสภาพดิน ความรู้เรื่องวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของดิน หลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะใช้การไถกลบตอซังแทนการเผาทำลาย และมีการหว่านถั่วต่างๆเพื่อคลุมหน้าดิน และยังสามารถไถกลบเป็นปุ๋ยได้ด้วย และความรู้เรื่องการทำบัญชีครัวเรือน ด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่ายของครอบครัวอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของเงิน และยังทำให้เรารู้ถึงการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นด้วย
ปัจจุบันพอทำได้เองแล้ว ก็มีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อน ๆ ในชุมชนเดียวกันโดยการหนุนเสริมของ ส.ป.ก. และ สกว. ด้วย
นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ
ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิรูปการจัดการและพัฒนาเกษตรกร
สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จังหวัดพิษณุโลก
“หากสามารถเข้าใจตนเองและมีทัศนะที่ดีต่อการเกษตรแล้ว ก็จะสามารถเป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพการเกษตรได้เป็นอย่างดี”
หวังว่าการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้จะทำให้เกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืน คือ สามารถพึ่งตนเองได้ พึ่งผู้อื่นหรือปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในเบื้องต้นหวังให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ก่อน กล่าวคือ มีรายได้เท่าเดิม แต่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ หรือมีต้นทุนการผลิตเท่าเดิม แต่มีผลผลิตและรายได้มากขึ้น
การทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ส่วนความประทับใจที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้คือ เกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมได้ตั้งใจนำความรู้ไปปรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ ได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดกลุ่มสนใจ กลุ่มเรียนรู้ และกลุ่มกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และแต่ละกลุ่มก็สามารถปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดผลเหล่านี้คือ การให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทำให้การเรียนการสอนตรงกับปัญหาและความต้องการของเกษตรกรโดยแท้จริง
ถามตนเองแล้วหรือยังว่า “รักการเกษตรจริงหรือ”
ถามตนเองแล้วหรือยังว่า “ชอบทำการเกษตรหรือไม่”
ถามตนเองแล้วหรือยังว่า “ทำการเกษตรแล้วจะยั่งยืนอย่างไร”
อย่าถามคนอื่นว่าทำอะไรดี “ต้องถามตัวเองว่าชอบและอยากทำอะไร” ( เพราะว่าทุกคนจะทำสิ่งที่เราชอบได้ดีที่สุด )
สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรใด ติดต่อได้ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
โทร. 081-777-1990 (คุณวินัย) http://www.alro.go.th